ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นองค์กรของรัฐที่มี บทบาทหน้าที่ หลักในการบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย โดยผ่านการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพในอัตราที่เหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ ซึ่งถือเป็นการร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาวด้วย
ภารกิจที่สำคัญของ ธปท. ได้แก่ การดูแลเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ผ่านอัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาท ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงบริหารจัดการธนบัตรหมุนเวียนภายในประเทศ และดูแลระบบการชำระเงินด้วย นอกจากนี้ ธปท. ยังมีหน้าที่ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และให้ความคุ้มครองประชาชนให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมในการใช้บริการของสถาบันการเงินอีกด้วย
สำหรับทิศทางการดำเนิน
งานของ ธปท. ในภาพรวมนั้น ธปท. จะดำเนินงานภายใต้ แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (BOT Strategy Roadmap) โดยแผนยุทธศาสตร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (ปี 2555-2559) ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์คือ เป็นองค์กรที่มองไกล มีหลักการ และร่วมมือ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย และกำหนดค่านิยมร่วมคือ “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน”
โดยมีพันธกิจคือ “มุ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่มีเสถียรภาพ และมีพัฒนาการอย่างยั่งยืนและทั่วถึง” ซึ่งทาง ธปท. ได้แบ่งพันธกิจหลักขององค์กรออกเป็น 5 ด้านด้วยกัน ซึ่งได้แก่
1. เสถียรภาพราคา หมายถึงการใช้เครื่องมือทางนโยบายที่มีอยู่ในการดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและอยู่ภายในกรอบเป้าหมายที่ธปท.กำหนดเอาไว้ ซึ่งจะเอื้อต่อการตัดสินใจและวางแผนการดำเนินกิจกรรมของภาคธุรกิจเอกชนและครัวเรือน พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโต
2. เสถียรภาพระบบการเงิน หมายถึงการกำหนดกฎเกณฑ์และการดำเนินการอื่นใดเพื่อให้ระบบการเงินของประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น เพิ่มศักยภาพในการสอดส่องดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ
3. เสถียรภาพระบบชำระเงิน หมายถึงการกำหนดนโยบายด้านการชำระเงินเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและความมั่นคงของระบบการชำระเงิน โดยนอกจากจะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาระบบการชำระเงิน ระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน และบริหารจัดการระบบดังกล่าวให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังทำหน้าที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินแก่สถาบันการเงิน เพื่อลดความเสี่ยงในด้านของการชำระเงิน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการทางการเงินอีกด้วย
4. ความเป็นเลิศทางด้านธนบัตร หมายถึงการบริหารจัดการให้ธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบการเงินอยู่ในสภาพที่ดี และมีปริมาณที่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายของประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งนอกจากการออกแบบและผลิตธนบัตรให้มีความสวยงามน่าใช้ มีขนาดที่เหมาะสม และเน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทยแล้ว ทางธปท.ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาและนำเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงใหม่ ๆ มาใช้กับธนบัตรอีกด้วย
5. คุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน หมายถึง การกำกับดูแลให้สถาบันการเงินให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ให้ความรู้ ข้อมูล คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบริการทางการเงิน รวมไปถึงการรับเรื่องร้อง
เรียนและให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนในกรณีที่เกิดปัญหาจากการได้รับบริการทางการเงินที่ไม่เป็นธรรม หรือประสบภัยทางการเงินจากการขบวนการหลอกลวงต้มตุ๋น
ถูกใจเพื่อรับข้อมูลข่าวสาร