size="2">พระราชบัญญัติ
เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง
พ.ศ. ๒๕๓๘
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘
เป็นปีที่ ๕๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นต้นไป มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้“ข้าราชการ” หมายความว่า ข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทต่าง ๆ เว้นแต่ข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม“คณะกรรมการบริหารงานบุคคล" หมายความว่า คณะกรรมการข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทต่าง ๆ เว้นแต่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมและคณะกรรมการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ หมวด ๑
คณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ
มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการพิจาณาเงินเดือนแห่งชาติคณะหนึ่งเรียกโดยย่อว่า “กงช.” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสถิติแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนคณะกรรมการข้าราชการทหาร ผู้แทนคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้แทนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย และผู้แทนคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา คณะละหนึ่งคน และบุคคลซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ทางด้านการบริหารในภาครัฐหรือเอกชนและมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้านระบบเศรษฐกิจ เงินเดือนและค่าจ้าง จำนวนห้าคน เป็นกรรมการให้เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเป็นกรรมการและเลขานุการ และอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มาตรา ๖ กรรมการซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา ๕ ให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละสองปี ถ้าตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนกำหนดและยังมีกรรมการดังกล่าวเหลืออยู่อีกไม่น้อยกว่าสามคน ให้กรรมการที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้เมื่อตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนกำหนด ให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนภายในสามสิบวัน เว้นแต่วาระของกรรมการเหลือไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้ ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการแทนนั้น ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทนกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอีกก็ได้ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะแต่งตั้งกรรมการใหม่ มาตรา ๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา ๕ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ(๑) ตาย(๒) ลาออก(๓) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ(๕) เป็นบุคคลล้มละลาย มาตรา ๘ กงช. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้(๑) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเงินเดือน ค่าจ้าง เงินประจำตำแหน่ง สวัสดิการ และประโยชน์เกื้อกูลอื่นของข้าราชการ ทหารกองประจำการ นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม และลูกจ้างของส่วนราชการ(๒) ปฏิบัติการตามมาตรา ๑๓(๓) ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ กงช. อาจขอให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือบุคคลใด ๆ จัดส่งเอกสารหลักฐานหรือมาชี้แจงแสดงความคิดเห็นได้ มาตรา ๙ การประชุม กงช. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุมในการประชุม กงช. ถ้าประธานไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๐ กงช. มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามที่ กงช. มอบหมายให้นำมาตรา ๙ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม หมวด ๒
อัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง
มาตรา ๑๑ อัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง และอัตราตำแหน่งและเงินเดือนข้าราชการการเมือง ให้เป็นไปตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๒ อัตราเงินประจำตำแหน่งและการรับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ในสถาบันการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองและข้าราชการการเมือง ให้เป็นไปตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ในสถาบันการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และข้าราชการตำรวจประเภทใด ตำแหน่งใด จะได้รับเงินประจำตำแหน่งท้ายพระราชบัญญัตินี้ในอัตราใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งไม่ถือเป็นเงินเดือน มาตรา ๑๓ ในแต่ละปีให้คณะกรรมการบริหารงานบุคคลและกระทรวงการคลังเสนอข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับเงินเดือน ค่าจ้าง เงินประจำตำแหน่ง และสภาพการณ์เกี่ยวกับสวัสดิการความเป็นอยู่ประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ ของข้าราชการ ทหารกองประจำการ นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม และลูกจ้างของส่วนราชการที่อยู่ในการกำกับดูแลไปยัง กงช.ให้ กงช. นำข้อมูลและความคิดเห็นที่ได้รับตามวรรคหนึ่งมาประกอบการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับอัตราเงินเดือน ค่าจ้าง เงินประจำตำแหน่ง สวัสดิการ และประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ ของข้าราชการ ทหารกองประจำการ นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม และลูกจ้างของส่วนราชการ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมเป็นธรรม ได้มาตรฐาน และไม่เหลื่อมล้ำกัน โดยคำนึงถึงค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป ค่าตอบแทนในภาคเอกชน ฐานะการคลังของประเทศ ความแตกต่างระหว่างรายได้ของข้าราชการระดับต่าง ๆ ในประเภทเดียวกันและต่างประเภทกัน และปัจจัยอื่นที่จำเป็นถ้า กงช. เห็นสมควรให้มีการปรับให้เสนอผลการพิจารณาต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป มาตรา ๑๔ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่าสมควรปรับอัตราเงินเดือนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ถ้าการปรับอัตราเงินเดือนดังกล่าวเป็นการปรับเพิ่มเป็นร้อยละเท่ากันทุกอัตรา สำหรับข้าราชการทุกประเภทและไม่เกินร้อยละสิบของอัตราที่ใช้บังคับอยู่ เมื่อได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่ายจากรัฐสภาเพื่อการนั้นแล้ว การปรับให้กระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้ถือว่าบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในกรณีที่การปรับเป็นร้อยละเท่ากันทุกอัตราดังกล่าว หากทำให้อัตราหนึ่งอัตราใดมีเศษไม่ถึงสิบบาท ให้ปรับตัวเลขเงินเดือนของอัตราดังกล่าวให้เพิ่มขึ้นเป็นสิบบาท และมิให้ถือว่าเป็นการปรับอัตราร้อยละที่แตกต่างกัน มาตรา ๑๕ การปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการ ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้เข้าอันดับและขั้น ระดับและชั้น ระดับและขั้นหรือชั้นและขั้น แล้วแต่กรณี ตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตามมาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๔ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และให้มีผลเป็นการแก้ไขขั้นหรือชั้นเงินเดือนข้าราชการ ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎ ก.พ. ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรี มติ ก.พ. และข้อกำหนด ซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทนั้น ๆ หรือตามกฎหมายอื่นตามไปด้วย บทเฉพาะกาล
มาตรา ๑๖ เพื่อประโยชน์ในการบรรจุบุคคลซึ่งเคยเป็นข้าราชการและออกจากราชการไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ กลับเข้ารับราชการ ให้ปรับอัตราเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับอยู่ก่อนออกจากราชการให้เข้าอันดับและขั้น ระดับและชั้น ระดับและขั้น หรือชั้นและขั้น แล้วแต่กรณี ตามบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือตามบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา ๑๔ แล้วแต่กรณี ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่กลับเข้ารับราชการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนดในระหว่างที่บุคคลตามวรรคหนึ่งออกจากราชการ ถ้ามีกฎหมายกำหนดให้ปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการประเภทเดียวกันกับผู้นั้นมาก่อนการปรับอัตราเงินเดือนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ปรับเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับอยู่ก่อนออกจากราชการตามกฎหมายนั้น ๆ เสียก่อน แล้วจึงปรับเงินเดือนตามวรรคหนึ่งในกรณีที่ไม่สามารถปรับเงินเดือนของผู้ที่กลับเข้ารับราชการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คณะกรรมการบริหารงานบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้พิจารณาว่าผู้นั้นสมควรได้รับบรรจุในอันดับและขั้น ระดับและชั้น ระดับและขั้น หรือชั้นและขั้นใดเป็นการเฉพาะราย ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
[เอกสารแนบท้าย]
๑. บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือน๒. บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม (ยกเลิก)๓. บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ๔. บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตุลาการ (ยกเลิก)๕. บัญชีอัตราเงินเดือนดะโต๊ะยุติธรรม (ยกเลิก)๖. บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการอัยการ (ยกเลิก)๗. บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง๘. บัญชีอัตราตำแหน่งและเงินเดือนข้าราชการการเมือง๙. บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือน๑๐. บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย๑๑. บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครู๑๒. บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งผู้บริหารในมหาวิทยาลัยของรัฐ๑๓. บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งผู้บริหารสถาบันการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ๑๔. บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการทหาร (ยกเลิก)๑๕. บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตำรวจ๑๖. บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน๑๗. บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการ (ยกเลิก)๑๘. บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการอัยการ (ยกเลิก)๑๙. บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง๒๐. บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการการเมือง (ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันอัตราเงินเดือน อัตราเงินประจำตำแหน่ง และเงินอื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการประเภทต่าง ๆ ได้กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการแต่ละประเภท ทำให้ขาดเอกภาพในการพิจารณา และเกิดความเหลื่อมล้ำในการปรับปรุงอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินอื่นในลักษณะเดียวกันอยู่เสมอ สมควรนำมากำหนดรวมไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน และกำหนดให้มีองค์กรคณะหนึ่งเสนอนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปรับปรุงเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเหมาะสม เป็นธรรม ได้มาตรฐาน และไม่เหลื่อมล้ำกัน ประกอบกับปัจจุบันค่าครองชีพในประเทศได้เพิ่มสูงขึ้นมาก สมควรปรับปรุงอัตราเงินเดือน อัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินอื่นในลักษณะเดียวกันที่ข้าราชการได้รับอยู่ให้เหมาะสมด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๗ ให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเงินเดือนข้าราชการตุลาการ บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการตุลาการ บัญชีอัตราเงินเดือนดะโต๊ะยุติธรรม และบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๒๕๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้พิพากษาและตุลาการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ จะนำระบบบัญชีเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับมิได้ ประกอบกับปัจจุบันก็ได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมกำหนดเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตุลาการขึ้นใช้บังคับแล้ว อีกทั้งได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา ๒๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยธุรการของศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ ซึ่งได้มีการกำหนดเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรมซึ่งเป็นข้าราชการในสำนักงานศาลยุติธรรมไว้แล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่ได้ตราขึ้นตามมาตรา ๒๗๕ ดังกล่าว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเพื่อให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๗ ให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการอัยการ และบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการอัยการท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการอัยการขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเพื่อให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ *พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๓ ในพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ ให้แก้ไขคำว่า “ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม” เป็น “ปลัดกระทรวงแรงงาน” หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้วซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ พระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๗ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเพื่อให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑มาตรา ๕ มิให้นำบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือน และบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ มาใช้บังคับแก่ข้าราชการพลเรือนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนตามตำแหน่งในแต่ละประเภทตามที่กำหนดไว้ในบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว และกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับบทบัญญัติของกฎหมายที่ได้ตราขึ้นใช้บังคับโดยเฉพาะแล้ว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ เพื่อให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๕ ให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม และบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการทหารท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้กำหนดให้ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมมีบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเป็นการเฉพาะ โดยให้เป็นไปตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติและกำหนดให้ข้าราชการทหารได้รับเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับบทบัญญัติของกฎหมายที่ได้ตราขึ้นใช้บังคับโดยเฉพาะแล้วสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๓๘ เพื่อให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้