ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัยพ.ศ. ๒๕๓๕
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัยพ.ศ. ๒๕๓๕

พระราชบัญญัติ
กองทุนสนับสนุนการวิจัย
พ.ศ. ๒๕๓๕
                  
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนสนับสนุนการวิจัย
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ๒๕๓๕”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“การวิจัย” หมายความว่า การค้นคว้าโดยการทดลอง สำรวจหรือการศึกษาตามหลักวิชาการเพื่อให้ได้ข้อมูล ความรู้ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการต่าง ๆ อันจะสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม วิชาการ หรือเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ต่อไป
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนสนับสนุนการวิจัย
“คณะกรรมการนโยบาย” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย
“คณะกรรมการประเมินผล” หมายความว่า คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
 
มาตรา ๔ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนสนับสนุนการวิจัย” ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินตามมาตรา ๕ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการสนับสนุนการวิจัยอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การวิจัยเชิงนโยบายและการวิจัยประยุกต์ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการของประเทศ
ให้กองทุนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ ที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นได้ แต่จะต้องไม่ดำเนินการวิจัยเอง
ให้กองทุนมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครเรียกว่า “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย” โดยให้เป็นหน่วยงานในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี มีระบบการบริหารงานที่แตกต่างจากระบบราชการเพื่อให้เกิดความคล่องตัวภายใต้นโยบายของคณะกรรมการนโยบาย
 
มาตรา ๕ เงินและทรัพย์สินของกองทุนประกอบด้วย
(๑) เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้
(๒) เงินอุดหนุนจากต่างประเทศรวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ
(๓) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อสมทบกองทุน
(๔) ดอกผลหรือรายได้ของกองทุน รวมทั้งผลประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาและผลประโยชน์อื่น ๆ ที่เกิดจากการวิจัย
ให้โอนเงินงบประมาณกองทุนสนับสนุนการวิจัยตามมาตรา ๒๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๓๕ จำนวนหนึ่งพันสองร้อยล้านบาทมาเป็นเงินของกองทุนสนับสนุนการวิจัย
 
มาตรา ๖ การใช้จ่ายเงินกองทุนให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดโดยให้ใช้เพื่อกิจการดังต่อไปนี้
(๑) การสนับสนุนการดำเนินงานวิจัย การติดตามประเมินผล การเผยแพร่ผลงานวิจัย และการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
(๒) การบริหารกองทุน
(๓) การดำเนินงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
 
มาตรา ๗ เงินกองทุนให้นำไปฝากไว้ที่ธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
เงินกองทุนส่วนหนึ่งอาจนำไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาล ขององค์การของรัฐหรือของรัฐวิสาหกิจได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
 
มาตรา ๘ รายได้ของกองทุนให้นำเข้าสมทบกองทุนโดยไม่ต้องส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น
 
มาตรา ๙ ให้มีคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์สูงด้านการวิจัยซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี* ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นที่มีความรู้และประสบการณ์สูงด้านการวิจัยซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่น้อยกว่าสี่คนและไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้อำนวยการต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่หรือกรรมการของพรรคการเมือง
 
มาตรา ๑๐ ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
ในกรณีที่กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
 
มาตรา ๑๑ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๐ ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
 
มาตรา ๑๒ การประชุมคณะกรรมการนโยบายต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบาย ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
 
มาตรา ๑๓ ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
 
มาตรา ๑๔ คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบายและแผนการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย
(๒) กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการการสนับสนุนการวิจัยของนักวิจัยและหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน
(๓) กำหนดนโยบาย วางระเบียบ ข้อบังคับการบริหาร และควบคุมดูแลการดำเนินงานของสำนักงานในการบริหารกองทุน รวมทั้งแต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการ
(๔) กำหนดมาตรการการเผยแพร่และถ่ายทอดผลงานวิจัยไปยังผู้ใช้และกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์ของงานวิจัยที่เกิดขึ้น
(๕) ระดมเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ เข้าสู่กองทุน
(๖) วางระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการรับและจ่ายเงินกองทุน
(๗) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุน
(๘) อนุมัติงบประมาณประจำปีสำหรับการดำเนินงานของกองทุนและสำนักงาน
(๙) ควบคุมดูแลการรับและการใช้จ่ายเงินกองทุน
(๑๐) ดำเนินงานอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการวิจัย
(๑๑) เสนอรายงานประจำปีต่อนายกรัฐมนตรี
 
มาตรา ๑๕ ให้มีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์สูงด้านการวิจัยซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร ผู้แทนกองบัญชาการทหารสูงสุด ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นที่มีความรู้และประสบการณ์สูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่น้อยกว่าสี่คนและไม่เกินเก้าคน เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้นำมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๑๖ คณะกรรมการประเมินผลมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุน
(๒) รายงานผลการปฏิบัติงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการนโยบาย
 
มาตรา ๑๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการประเมินผล อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือมอบหมายให้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร
ให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
 
มาตรา ๑๘ ให้สำนักงานมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกองทุนตามระเบียบ ข้อบังคับ และมติของคณะกรรมการนโยบาย
(๒) ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินความต้องการการวิจัยในด้านต่าง ๆ ของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต และความเหมาะสมในการ   ดำเนินการวิจัยในด้านต่าง ๆ เพื่อสนองความต้องการนั้น เพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพิจารณา
(๓) ประสานงานและสนับสนุนการวิจัย เผยแพร่ผลงานวิจัย และนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนประเมินผลของการดำเนินการดังกล่าว
(๔) จัดทำรายงานและการบัญชีของกองทุน
(๕) ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการประเมินผล
(๖) กระทำการอื่นใดเกี่ยวกับการสนับสนุนการวิจัยตามที่คณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการประเมินผลมอบหมาย ทั้งนี้ สำนักงานจะไม่ดำเนินการวิจัยเอง
 
มาตรา ๑๙ สำนักงานมีผู้อำนวยการเป็นผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลงานโดยทั่วไปของสำนักงาน เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานของสำนักงาน และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอแผนรวมทั้งเป้าหมายของการสนับสนุนการวิจัยตามที่ได้รับมอบหมายต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณา
(๒) รายงานผลการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนรวมทั้งผลการดำเนินงานเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์ต่อคณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการประเมินผล
(๓)เสนอรายงานการเงินและการบัญชี และแผนการเงินและงบประมาณของปีต่อไปต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณา
(๔) เสนอการแต่งตั้งผู้ประเมินโครงการและผู้ประเมินผลงานวิจัยและรายงานผลการติดตามประเมินผลต่อคณะกรรมการประเมินผลเพื่อพิจารณา
(๕) บริหารงานของสำนักงานตามนโยบายและมติของคณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการประเมินผล
(๖) ดำเนินงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการประเมินผล
 
มาตรา ๒๐ ในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้กระทำแทนกองทุนและสำนักงาน ในการนี้ ผู้อำนวยการจะมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติการแทนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายก็ได้
 
มาตรา ๒๑ การบัญชีของกองทุน ให้จัดทำบัญชีตามหลักสากล โดยให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของกองทุน และรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการนโยบายทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
 
มาตรา ๒๒ ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีตรวจสอบ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี
ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงานทุกรอบปี แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย
 
มาตรา ๒๓ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การวิจัยที่มีประสิทธิภาพในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และการนำผลของการวิจัยดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ เป็นการจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวิชาการของประเทศ แต่ในปัจจุบันการวิจัย และการใช้ประโยชน์จากผลของการวิจัยดังกล่าว ยังไม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนในด้านงบประมาณจากรัฐบาลอย่างเพียงพอ สมควรจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการวิจัยขึ้นเป็นอิสระจากระบบราชการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลของการวิจัยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องและเอื้อต่อการวิจัยเพื่อประโยชน์สูงสุด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕
 
มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้แก้ไขคำว่า “ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม” เป็น “ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   0934903924
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้