ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก พ.ศ. 2521
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก พ.ศ. 2521

size="2">พระราชบัญญัติ
คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก
พ.ศ. ๒๕๒๑
                  
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑
เป็นปีที่ ๓๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๑”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“การจัดระบบการจราจรทางบก” หมายความว่า การจัดระบบการสัญจรของยานพาหนะและของคนเดินเท้าในทางบก ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่จะมีในอนาคต ให้สัมพันธ์และได้สัดส่วนกัน เพื่อให้การคมนาคมเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย
“นโยบาย” หมายความว่า หลักการสำคัญที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดระบบการจราจรทางบก
“แผนหลัก” หมายความว่า แผนการจัดระบบการจราจรทางบกเพื่อเป็นแนวทางสำหรับส่วนราชการของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในนโยบาย
“มาตรฐาน” หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับขนาด ปริมาณ น้ำหนัก และคุณภาพของเครื่องหมาย สัญญาณ และสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยของยานพาหนะและอุปกรณ์ ทั้งนี้ เท่าที่เกี่ยวเนื่องหรือมีผลกระทบกระเทือนต่อการจราจรทางบกโดยตรง
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก
 
มาตรา ๔ ให้มีคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินหกคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร*เป็นกรรมการและเลขานุการ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการวางแผนจราจร วิศวกรรมจราจร วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจการคลังหรือการผังเมือง
 
มาตรา ๕ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอนโยบายและแผนหลักต่อคณะรัฐมนตรี
(๒) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงาน โครงการ วงเงินลงทุน รวมทั้งพิจารณากำหนดโครงการที่จะใช้เงินกู้ ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ และการเข้าลงทุนของภาคเอกชน ของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจราจร เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแผนหลัก
(๓) กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดระบบการจราจรทางบกเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
(๔) กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการจราจรทางบก ตลอดจนกำกับดูแล เร่งรัดการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการ นโยบาย และแผนหลักที่กำหนด
(๕) พิจารณาเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวกับการจัดระบบการจราจรทางบกตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
(๖) ปฏิบัติการในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดระบบการจราจรทางบกตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
(๗) เสนอแนะให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับจราจรทางบก หรือกฎหมายอื่นที่มีผลกระทบกระเทือนต่อการจัดระบบการจราจรทางบกให้เหมาะสมกับสถานการณ์
(๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการอาจมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร*เป็นผู้ปฏิบัติ หรือเตรียมข้อเสนอมายังคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปก็ได้
 
มาตรา ๕ ทวิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าคณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
 
มาตรา ๕ ตรี นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๕ ทวิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
 
มาตรา ๖ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมครั้งใด ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
 
มาตรา ๗ การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
 
มาตรา ๘ คณะกรรมการจะตั้งที่ปรึกษาหรือคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้
 
มาตรา ๙ คณะกรรมการมีอำนาจเรียกส่วนราชการของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลอื่นใด ให้ส่งเอกสาร รายละเอียดหรือแผนงานของโครงการที่เกี่ยวกับการจราจรทางบก หรือที่มีผลกระทบกระเทือนต่อการจราจรทางบกมาพิจารณา ในการนี้อาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้คำชี้แจงประกอบด้วยก็ได้
 
มาตรา ๑๐ ให้จัดตั้งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร*ขึ้นในกระทรวงคมนาคม* และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษา สำรวจ วิเคราะห์สภาพการจราจรทางบก เพื่อวางแผนหลักเสนอแนวนโยบาย และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวกับการจัดระบบการจราจรตลอดจนมาตรการในการแก้ไขปัญหาการจราจรให้คณะกรรมการพิจารณา
(๒) วิเคราะห์และกลั่นกรองความเหมาะสมด้านเทคนิค เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการผังเมืองของแผนงานและโครงการเสนอต่อคณะกรรมการ
(๓) รวบรวมระบบข้อมูลด้านการจราจร เพื่อเผยแพร่หรือจำหน่ายแก่หน่วยราชการและภาคเอกชน
(๔) พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการให้มีการปรับปรุง แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรทางบกหรือกฎหมายอื่นที่มีผลกระทบกระเทือนต่อการจัดระบบการจราจรทางบกให้เหมาะสมกับสถานการณ์
(๕) พิจารณาจัดทำโครงการศึกษา ฝึกอบรม และเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับการจัดระบบการจราจรทางบก
(๖) ปฏิบัติการและประสานงานอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร* หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
 
มาตรา ๑๐ ทวิ ให้มีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร* มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไป และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร* ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และจะให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยปฏิบัติราชการก็ได้
 
มาตรา ๑๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม*รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรจัดให้มีคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกขึ้นให้มีหน้าที่ในการเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ในการจัดระบบจราจร รวมทั้งทำหน้าที่ประสานงานกับส่วนราชการของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือกระทบกระเทือนต่อการจราจรของประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้โครงการปรับปรุงระบบการจราจรมีความต่อเนื่องกันตลอดไปไม่หยุดชะงักเพราะการเปลี่ยนรัฐบาล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
 
พระราชบัญญัติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติคณะกรรมการการจัดระบบการจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๑ มีสาระสำคัญบางประการยังไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก และให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ กับเพิ่มอำนาจหน้าที่คณะกรรมการและสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกให้มากขึ้น และให้สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกเป็นส่วนราชการขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การปฏิบัติราชการเกิดความคล่องตัวมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕
 
มาตรา ๔๐ ในพระราชบัญญัติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๑
(๑) ในมาตรา ๑๑ ให้แก้ไขคำว่า “นายกรัฐมนตรี” เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม”
(๒) ให้แก้ไขคำว่า “สำนักนายกรัฐมนตรี” เป็น “กระทรวงคมนาคม” คำว่า “สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก” เป็น “สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” และคำว่า “เลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก” เป็น “ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร”
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   0934903924
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้