ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  พ.ศ. 2551
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  พ.ศ. 2551

พระราชบัญญัติ
การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
พ.ศ. ๒๕๕๑
                       
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑
เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
 
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๔๙๘
(๒) พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๒
(๓) พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๑
(๔) พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๐
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“กิจการกระจายเสียง” หมายความว่า กิจการกระจายเสียงตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
“กิจการโทรทัศน์” หมายความว่า กิจการโทรทัศน์ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
“กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่” หมายความว่า กิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ซึ่งต้องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
“กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่” หมายความว่า กิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ซึ่งไม่ต้องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
“โครงข่าย” หมายความว่า ระบบการเชื่อมโยงของกลุ่มเครื่องส่งหรือถ่ายทอดสัญญาณเสียง หรือภาพที่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ใช้ในการส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการจากสถานีไปยังเครื่องรับ ไม่ว่าจะโดยสื่อตัวนำที่เป็นสาย คลื่นความถี่ แสง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือสื่อตัวนำอื่นใด
“เจ้าของโครงข่าย” หมายความว่า บุคคลที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองหรือผู้มีสิทธิในการดำเนินกิจการโครงข่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์หรือไม่ก็ตาม
“สถานี” หมายความว่า สถานที่ที่ใช้สำหรับทำการส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการของการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นการส่งผ่านโครงข่ายของตนเองหรือของผู้อื่นก็ตาม
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
“แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์” หมายความว่า แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
“คลื่นความถี่” หมายความว่า คลื่นวิทยุหรือคลื่นแฮรตเซียนซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ต่ำกว่าสามล้านเมกะเฮิรตซ์ลงมาที่ถูกแพร่กระจายในที่ว่างโดยปราศจากสื่อนำที่ประดิษฐ์ขึ้น
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ประกาศคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
ประกาศนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
หมวด ๑
การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
                       
 
มาตรา ๗ ผู้ใดประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการตามความในหมวดนี้
ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดลักษณะกิจการที่ไม่ถือเป็นการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๘ ผู้ขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยและไม่อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้วยังไม่ครบสามปี
 
มาตรา ๙ ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาตจะโอนแก่กันมิได้
ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จะต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้กำหนด
 
ส่วนที่ ๑
กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่
                       
 
มาตรา ๑๐ ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยใช้คลื่นความถี่มีสามประเภทดังนี้
(๑) ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะ ได้แก่ ใบอนุญาตที่ออกให้สำหรับการประกอบกิจการที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการบริการสาธารณะ แบ่งเป็นสามประเภท
(ก) ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่หนึ่ง ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ สุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
(ข) ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่สอง ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ
(ค) ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่สาม ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน การกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะแก่คนพิการ คนด้อยโอกาส หรือกลุ่มความสนใจที่มีกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือบริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะอื่น
(๒) ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการที่มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับการประกอบกิจการบริการสาธารณะ แต่ต้องเป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนหรือท้องถิ่นที่รับบริการ
(๓) ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจ ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ของผู้ประกอบกิจการเพื่อแสวงหากำไรในทางธุรกิจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด อย่างน้อยแบ่งเป็นสามประเภท
(ก) ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับชาติ ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ที่มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทุกภาคของประเทศ
(ข) ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับภูมิภาค ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีพื้นที่การให้บริการในกลุ่มจังหวัด
(ค) ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับท้องถิ่น ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ที่มีพื้นที่การให้บริการในจังหวัด
 
มาตรา ๑๑ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะ ต้องเป็น
(๑) กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐที่มิใช่รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือมีความจำเป็นต้องดำเนินกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(๒) สมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ ซึ่งมีความเหมาะสมกับการประกอบกิจการบริการสาธารณะตามลักษณะและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(๓) สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการเรียนการสอนหรือการเผยแพร่ความรู้สู่สังคมตามลักษณะและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
 
มาตรา ๑๒ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน ต้องเป็นสมาคม มูลนิธิ นิติบุคคลอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานของรัฐและมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ หรือกลุ่มคนในท้องถิ่นที่ไม่เป็นนิติบุคคล ซึ่งรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ทั้งนี้ ต้องมีความเหมาะสมกับการประกอบกิจการบริการชุมชนตามลักษณะที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ในการกำหนดลักษณะตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการคำนึงถึงประโยชน์ในการส่งเสริมการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชนในชุมชนหรือในท้องถิ่น รวมทั้งป้องกันการครอบงำการประกอบกิจการดังกล่าว
 
มาตรา ๑๓ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นต้องเป็นนิติบุคคลที่ผู้ถือหุ้นอันเป็นทุนหรือที่ผู้ลงทุนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตภูมิภาคหรือท้องถิ่นนั้น แล้วแต่กรณี และต้องมีฐานะทางการเงินมั่นคง มีระบบการตรวจสอบบัญชี และมีลักษณะอื่นใด ซึ่งประกันความมั่นคงในการประกอบกิจการ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(๒) ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการประเภทอื่นนอกจาก (๑) ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์
 
มาตรา ๑๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑ (๒) และ (๓) และมาตรา ๑๒ นอกจากมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘ แล้ว ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) บุคคลผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีสัญชาติไทย
(๒) ไม่มีกรรมการหรือบุคคลผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันผู้ขอรับใบอนุญาตที่เคยเป็นกรรมการหรือบุคคลผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันของผู้รับใบอนุญาตอื่น ซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตอันเป็นผลมาจากการบริหารกิจการของผู้นั้นและระยะเวลาการถูกเพิกถอนใบอนุญาตยังไม่ครบกำหนดสามปี
 
มาตรา ๑๕ ผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๓ นอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘ และตามมาตรา ๑๔ แล้วต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลผู้มีสัญชาติไทยลงทุนหรือถือหุ้นอันเป็นทุนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของทุนทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น
(๒) เป็นนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลผู้มีสัญชาติไทยมีอำนาจตามกฎหมายหรือตามข้อบังคับหรือตามข้อตกลงในการออกเสียงลงคะแนนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น
ในกรณีผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๓ เป็นบริษัท กรรมการไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดและกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย
ในกรณีผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๓ เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการต้องเป็นบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย
คณะกรรมการอาจกำหนดข้อห้ามมิให้กระทำการที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องปฏิบัติได้
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่า บุคคลผู้มีสัญชาติไทย หมายความว่า บุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และหุ้นที่บุคคลที่มีสัญชาติไทยถืออยู่ หรือลงทุนอยู่จำนวนหนึ่งหุ้นนับเป็นเสียงหนึ่งในการลงคะแนน
 
มาตรา ๑๖ การยื่นคำขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยต้องให้ผู้ขอรับใบอนุญาตระบุสถานีระบบ และวิธีการที่จะใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งต้องเสนอแผนบริการกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ให้คณะกรรมการพิจารณาด้วย
ประกาศตามวรรคหนึ่งต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ และแผนความถี่วิทยุตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
 
มาตรา ๑๗ การอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยใช้คลื่นความถี่ ให้คณะกรรมการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโดยคำนึงถึงภารกิจหรือวัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการ และเป็นไปตามสัดส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ดังต่อไปนี้
(๑) การออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะ ให้คำนึงถึงหน้าที่ตามกฎหมาย หรือความจำเป็นเพื่อการบริการสาธารณะ โดยใช้คลื่นความถี่ที่จัดสรรไว้สำหรับภาครัฐ
(๒) การออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน ให้คำนึงถึงความต้องการที่หลากหลายความพร้อม และประโยชน์สาธารณะของชุมชน โดยใช้คลื่นความถี่ที่จัดสรรไว้สำหรับภาคประชาชน
(๓) การออกใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้คำนึงถึงการส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และสนับสนุนให้มีการประกอบกิจการประเภทที่ให้บริการข่าวสารและสาระในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยใช้คลื่นความถี่ที่จัดสรรไว้สำหรับภาคเอกชน
 
มาตรา ๑๘ การกำหนดอายุใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยคำนึงถึงระยะเวลาที่คุ้มกับการลงทุน วัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการ แนวทางการพัฒนากิจการของผู้ขอรับใบอนุญาตความต้องการของผู้บริโภค ความเสมอภาคในการแข่งขันของผู้ประกอบกิจการ รวมทั้งผลการประเมินคุณภาพรายการ
ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงให้มีอายุไม่เกินเจ็ดปี
ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ให้มีอายุไม่เกินสิบห้าปี
ในกรณีที่ใบอนุญาตตามวรรคสองสิ้นอายุ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบอนุญาตใหม่อย่างน้อยเก้าสิบวันแต่ไม่เกินหนึ่งปีก่อนวันที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุแต่ในกรณีที่ใบอนุญาตตามวรรคสามสิ้นอายุ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบอนุญาตใหม่อย่างน้อยเก้าสิบวันแต่ไม่เกินสองปีก่อนวันที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ
เมื่อได้รับคำขอตามวรรคสี่แล้วให้คณะกรรมการพิจารณามีคำสั่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ในระหว่างนั้นให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่าคณะกรรมการจะสั่งไม่อนุญาต ในการสั่งไม่อนุญาตให้คณะกรรมการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการตามส่วนด้วย
การยื่นคำขอรับใบอนุญาตและการพิจารณามีคำสั่งตามวรรคสี่และวรรคห้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
 
มาตรา ๑๙ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม
ผู้รับใบอนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แต่ละประเภทของใบอนุญาตเป็นรายปีตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามวรรคสองจะต้องไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการหรือผู้ใช้บริการโดยไม่สมเหตุผล ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ความคุ้มค่า ความขาดแคลน และวิธีการจัดสรรทรัพยากร
คณะกรรมการอาจลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้แก่ผู้ขอใบอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ หากผู้นั้นแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่คณะกรรมการว่าการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ของตนมีรายการข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเกินกว่าสัดส่วนของรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
 
มาตรา ๒๐ ในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กรมประชาสัมพันธ์ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่หนึ่งและประเภทที่สาม จะหารายได้จากการโฆษณาไม่ได้ เว้นแต่เป็นการหารายได้โดยการโฆษณาหรือเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับงานหรือกิจการของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ สมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ หรือการเสนอภาพลักษณ์ขององค์กร บริษัท และกิจการโดยมิได้มีการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่สอง ให้หารายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการโดยไม่เน้นการแสวงหากำไร
 
มาตรา ๒๑ ในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนจะหารายได้จากการโฆษณาไม่ได้
 
มาตรา ๒๒ ให้คณะกรรมการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจต้องนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุนตามอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินร้อยละสองของรายได้ก่อนหักรายจ่ายที่ได้จากการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อมและรายได้อื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามที่ได้รับอนุญาต
ในกรณีการประกอบกิจการทางธุรกิจแบบบอกรับเป็นสมาชิก เงินรายปีตามวรรคหนึ่งให้คำนวณจากค่าสมาชิก รายได้จากการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อมและค่าบริการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสมาชิกที่เรียกเก็บก่อนหักรายจ่าย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
 
มาตรา ๒๓ ในการประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้ดำเนินการหารายได้โดยการโฆษณาการบริการธุรกิจ การจัดเก็บค่าสมาชิก หรือโดยวิธีอื่นใดได้
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งที่มีการโฆษณาและการบริการธุรกิจ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะและระยะเวลาสูงสุดในการโฆษณาและการบริการธุรกิจ แต่ทั้งนี้จะกำหนดการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละสิบสองนาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละสิบนาที
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งที่มีการบอกรับสมาชิกหรือเรียกเก็บค่าบริการอื่นให้นำความในมาตรา ๒๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ผู้รับใบอนุญาตอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราค่าสมาชิก หรือค่าบริการ และเงื่อนไขในการให้บริการของผู้รับใบอนุญาตได้ภายในหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามวรรคสามแต่ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของสมาชิกภายในกำหนดระยะเวลาตามข้อตกลงที่มีอยู่เดิม
ในการประกาศหลักเกณฑ์ตามวรรคสองและวรรคสาม ให้คณะกรรมการคำนึงถึงต้นทุนในการให้บริการและการให้ความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้รับใบอนุญาตประเภทต่างๆ และการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้รับใบอนุญาตกับผู้บริโภคประกอบด้วย
 
มาตรา ๒๔ ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำรายงานสถานะทางการเงินโดยแสดงรายรับและรายจ่ายที่ถูกต้องตามความเป็นจริงเสนอต่อคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
 
ส่วนที่ ๒
กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่
                       
 
มาตรา ๒๕ ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕
การวินิจฉัยคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กำหนดในส่วนที่ ๑ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๒๖ ให้นำความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลมกับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามมาตรา ๒๕
 
มาตรา ๒๗ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ไม่ว่าจะมีการบอกรับสมาชิกหรือเรียกเก็บค่าบริการหรือไม่ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) สัดส่วนรายการและผังรายการ
(๒) การหารายได้
(๓) การบันทึกรายการที่ออกอากาศไปแล้วและระยะเวลาในการเก็บรักษาบันทึกนั้น
 
มาตรา ๒๘ ในการประกอบกิจการของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ที่มีการบอกรับสมาชิกหรือเรียกเก็บค่าบริการอื่น ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าบริการ ระยะเวลาสูงสุดในการโฆษณาและการบริการธุรกิจ และเงื่อนไขในการให้บริการได้
ในการหารายได้จากการโฆษณาและการบริการธุรกิจตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการจะกำหนดระยะเวลาสูงสุดเกี่ยวกับการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละหกนาที โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาและการบริการธุรกิจ ตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละห้านาที
การกำหนดระยะเวลาสูงสุดตามวรรคสอง ให้คณะกรรมการคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคสภาพการแข่งขันของตลาด ต้นทุนในการประกอบกิจการ และการให้ความเป็นธรรมระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่กับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ประกอบด้วย
ให้นำความในมาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง วรรคสี่ และมาตรา ๒๔ มาใช้บังคับกับผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๕ โดยอนุโลม
 
ส่วนที่ ๓
การบริหารสถานี
                       
 
มาตรา ๒๙ ในการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ให้ผู้รับใบอนุญาตแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย เป็นผู้อำนวยการสถานีประจำแต่ละสถานีเพื่อควบคุมดูแลให้มีการออกอากาศให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต และจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการจัดรายการ การดำเนินรายการ และการออกอากาศของสถานีให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและประกาศต่างๆ ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
 
มาตรา ๓๐ ผู้รับใบอนุญาตต้องรับผิดในการกระทำของผู้อำนวยการสถานีที่ได้กระทำไปในการควบคุมดูแลและบริหารกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เสมือนเป็นการกระทำของตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำดังกล่าว ตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วยและได้ใช้ความระมัดระวังในการป้องกันตามสมควรแล้ว
 
ส่วนที่ ๔
การป้องกันการผูกขาด
                       
 
มาตรา ๓๑ เพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งครอบงำกิจการในลักษณะที่เป็นการจำกัดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายหรือกระทำการอันเป็นการผูกขาดการประกอบกิจการสื่อมวลชนหลายประเภทในเวลาเดียวกันห้ามผู้รับใบอนุญาตถือครองธุรกิจในกิจการประเภทเดียวกัน หรือครองสิทธิข้ามสื่อในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่เกินสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตแก้ไขการฝ่าฝืนนั้นภายในเก้าสิบวัน เพื่อให้การถือครองธุรกิจเป็นไปตามประกาศดังกล่าว
 
มาตรา ๓๒ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ให้การประกอบกิจการของผู้รับใบอนุญาตอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าและมาตรการเฉพาะที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามลักษณะการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์
การกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ให้หมายความรวมถึงการถือครองธุรกิจในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกันหรือการใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ติดตั้งเป็นพิเศษเพื่อรับสัญญาณเสียงหรือภาพในลักษณะที่กีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
 
หมวด ๒
รายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
                       
 
มาตรา ๓๓  ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่แต่ละประเภทต้องจัดผังรายการให้มีสัดส่วนรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะต้องกำหนดให้มีรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบ
(๒) ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนต้องกำหนดให้มีรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนหรือท้องถิ่นที่รับบริการในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบ
(๓) ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจต้องกำหนดให้มีรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า
ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น ต้องมีรายการที่ผลิตเองในสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
รายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามวรรคหนึ่งหมายความรวมถึงรายการข่าวสาร รายการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รายการส่งเสริมการศึกษา จริยธรรม ศิลปะ วัฒนธรรม การให้ความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม
 
มาตรา ๓๔ ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำผังรายการให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนดสำหรับใบอนุญาตแต่ละประเภท
ในกรณีจำเป็นเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน คณะกรรมการอาจประกาศกำหนดช่วงเวลาของการออกอากาศรายการบางประเภทได้
ให้ผู้รับใบอนุญาตเสนอผังรายการให้คณะกรรมการอย่างน้อยสิบห้าวันก่อนวันเริ่มให้บริการกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์
ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าผังรายการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ให้คณะกรรมการสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตแก้ไขผังรายการให้ถูกต้องได้เมื่อคณะกรรมการเห็นชอบกับผังรายการที่ได้แก้ไขแล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตเริ่มให้บริการกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ตามผังรายการที่คณะกรรมการเห็นชอบแล้วได้
ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะเปลี่ยนแปลงผังรายการที่คณะกรรมการเห็นชอบแล้วให้เสนอคณะกรรมการพิจารณาก่อนทำการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่าเจ็ดวันและให้นำความในวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ผู้รับใบอนุญาตอาจดำเนินรายการที่แตกต่างจากผังรายการได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
 
มาตรา ๓๕ ในกรณีที่มีภัยพิบัติหรือมีเหตุฉุกเฉิน หรือมีกรณีอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งมีความจำเป็นต้องออกอากาศแจ้งข่าวหรือเตือนภัยให้ประชาชนทราบ เมื่อรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องร้องขอ ให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการตามที่ร้องขอนั้น
 
มาตรา ๓๖ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการพื้นฐานบางประการ เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีบริการที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ของบุคคลดังกล่าว
คณะกรรมการอาจกำหนดมาตรการส่งเสริมใดๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตพิจารณาปฏิบัติตามความเหมาะสม โดยคณะกรรมการอาจพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนหรือสนับสนุนหรือส่งเสริมด้วยวิธีการอื่นก็ได้
เพื่อให้มาตรการที่กำหนดตามวรรคหนึ่งเหมาะสมต่อคนพิการและคนด้อยโอกาสให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นหรือเปิดโอกาสให้คนพิการและคนด้อยโอกาสมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการดังกล่าวด้วย
บริการที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ของคนพิการและคนด้อยโอกาสตามวรรคหนึ่งอาจหมายความรวมถึง บริการกระจายเสียงที่ออกอากาศรายการอ่านหนังสือเต็มเวลา หรือบริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีล่ามภาษามือ บริการคำบรรยายเป็นอักษรวิ่ง หรือบริการคำบรรยายเป็นเสียง สำหรับรายการที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
 
มาตรา ๓๗ ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้
 
มาตรา ๓๘ ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการบันทึกรายการที่ได้ออกอากาศไปแล้ว โดยอาจบันทึกไว้ในเทปหรือวัสดุโทรทัศน์อย่างอื่น หรือด้วยวิธีการใดๆ ที่สามารถถ่ายทอดกลับมาเป็นรายการนั้นได้ และเก็บรักษาไว้เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบได้
รายการที่ต้องจัดให้มีการบันทึกตามวรรคหนึ่ง และระยะเวลาในการเก็บรักษาการบันทึกนั้น ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันและต้องไม่เป็นภาระแก่ผู้รับใบอนุญาตเกินความจำเป็น
 
หมวด ๓
การส่งเสริมและควบคุมจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
และการคุ้มครองผู้เสียหายจากการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
                       
 
มาตรา ๓๙ ให้คณะกรรมการดำเนินการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นองค์กรในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม
การจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กรตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะของประชาชน และการคุ้มครองผู้บริโภคจากการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบอาชีพและวิชาชีพขององค์กร
ในการควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพขององค์กรตามวรรคหนึ่ง ให้แต่ละองค์กรตามวรรคหนึ่งจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมขึ้นโดยมีองค์ประกอบและให้คำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบอาชีพและวิชาชีพ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก
องค์กรตามวรรคหนึ่งที่มีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม คณะกรรมการอาจให้การส่งเสริมจากกองทุนตามมาตรา ๕๒ ก็ได้
 
มาตรา ๔๐ ผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากรายการที่ออกอากาศเป็นเท็จหรือละเมิดสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอาจร้องเรียนต่อคณะกรรมการ
ให้คณะกรรมการส่งเรื่องพร้อมความเห็นของคณะกรรมการให้องค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา ๓๙ เพื่อให้ดำเนินการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายโดยเร็ว และให้คณะกรรมการติดตามผลการดำเนินการขององค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา ๓๙ เมื่อองค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา ๓๙ ได้แจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการทราบแล้ว ให้แจ้งผู้ร้องเรียนทราบผลการดำเนินการโดยเร็ว
ผลการดำเนินการในหมวดนี้ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามมาตรา ๕๑ (๑)
 
หมวด ๔
การสร้างโครงข่ายพื้นฐาน การใช้ และเชื่อมต่อโครงข่าย
ในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
                       
 
มาตรา ๔๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๙ ในการดำเนินกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ถ้าผู้รับใบอนุญาตมีเหตุต้องปักหรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดและจำเป็นต้องใช้สิทธิตามมาตรานี้ ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำแผนผังแสดงรายละเอียดของลักษณะทิศทาง และแนวเขตในการปักหรือตั้งเสา เดินสาย วางท่อและการติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใด เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ
เมื่อคณะกรรมการได้ให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิดำเนินการต่อไปได้โดยให้นำความในหมวด ๔ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ โดยให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ และสิทธิหน้าที่ใดที่กำหนดให้เป็นของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นสิทธิหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
ในกรณีที่บทบัญญัติในหมวด ๔ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ บัญญัติให้การกระทำใดๆ เป็นความผิดและมีบทกำหนดโทษสำหรับความผิดนั้นให้นำมาใช้บังคับกับผู้รับใบอนุญาตด้วยโดยให้ถืออัตราโทษอย่างเดียวกัน
 
มาตรา ๔๒ เจ้าของโครงข่ายต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายของตนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
เจ้าของโครงข่ายอาจปฏิเสธไม่ให้ความยินยอมให้ใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายได้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
(๑) โครงข่ายที่มีอยู่ไม่เพียงพอแก่การให้ผู้รับใบอนุญาตใช้หรือเชื่อมต่อ
(๒) การใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
(๓) การใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายอาจก่อให้เกิดการรบกวนหรือเป็นเหตุขัดขวางการให้บริการกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ของเจ้าของโครงข่ายหรือผู้ใช้บริการโครงข่ายรายอื่น
(๔) กรณีอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ให้เจ้าของโครงข่ายซึ่งปฏิเสธไม่ให้ใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายตามวรรคสองมีหน้าที่พิสูจน์ถึงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้น
การเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรมต่อเจ้าของโครงข่ายกับผู้รับใบอนุญาตที่ขอใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่าย และต้องมีความเท่าเทียมกันในระหว่างผู้รับใบอนุญาตทุกราย
การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้รับใบอนุญาตและเจ้าของโครงข่ายที่เกี่ยวข้องด้วย
 
มาตรา ๔๓ ในกรณีที่มีการปฏิเสธไม่ให้ใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายหรือมีข้อที่ตกลงกันไม่ได้ในการเจรจาทำสัญญาการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่าย คู่กรณีมีสิทธิร้องขอให้คณะกรรมการพิจารณาได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนดคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
การวินิจฉัยให้ใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย
ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การปฏิเสธไม่ให้ใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายน่าจะไม่เป็นไปตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง คณะกรรมการอาจสั่งให้ใช้ หรือเชื่อมต่อโครงข่ายไปพลางก่อน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนดได้
 
มาตรา ๔๔ ข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายต้องมีลักษณะดังนี้
(๑) ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันผู้รับใบอนุญาตรายอื่น
(๒) ข้อกำหนดทางเทคนิค ณ จุดที่มีการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายต้องชัดเจนมีความเป็นไปได้ทางเทคนิค และไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ขอใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายเกินสมควร
(๓) มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับใบอนุญาตที่ขอใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายและเจ้าของโครงข่ายที่ชัดเจน
(๔) มีการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายตามมาตรา ๔๒ วรรคสี่
(๕) ลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ให้เจ้าของโครงข่ายจัดส่งสำเนาข้อตกลงให้คณะกรรมการภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการลงนามในข้อตกลง ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นไปตามลักษณะในวรรคหนึ่งคณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เจ้าของโครงข่ายปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ แต่ถ้าผู้ขอใช้หรือขอเชื่อมต่อโครงข่ายไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการให้ข้อตกลงนั้นเป็นอันสิ้นผล
 
มาตรา ๔๕ เจ้าของโครงข่ายต้องเปิดเผยข้อตกลงการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่าย รวมทั้งอัตราค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายตามวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
 
มาตรา ๔๖ ในกรณีที่ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปเป็นเหตุให้ค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายไม่เป็นไปตามมาตรา ๔๒ วรรคสี่ และคู่กรณีไม่อาจตกลงกันได้ ให้คู่กรณีร้องขอต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
 
มาตรา ๔๗ เจ้าของโครงข่ายต้องแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องและจำเป็นในการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายให้ผู้รับใบอนุญาตที่ใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายทราบ
เจ้าของโครงข่ายต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้การใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายตามวรรคหนึ่งไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงข่ายอันมีผลกระทบต่อการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายเจ้าของโครงข่ายต้องแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตที่ใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายทราบ แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนั้นจะมีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ ให้เจ้าของโครงข่ายประกาศให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงแก้ไขดังกล่าวเป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือน
 
มาตรา ๔๘ เพื่อประโยชน์ในการรับบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ของผู้บริโภคและการคุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งครอบครองที่ดิน สถานที่ สิ่งก่อสร้าง เสาหรือโครงสร้างอื่นในทำนองเดียวกัน ซึ่งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมในการรับ ส่ง หรือแพร่สัญญาณเสียงหรือภาพ หากยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตหรือเจ้าของโครงข่ายรายใดใช้ประโยชน์ในการติดตั้งวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อรับ ส่ง หรือแพร่สัญญาณเสียงหรือภาพก็ต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตหรือเจ้าของโครงข่ายรายอื่นติดตั้งวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อการดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เมื่อได้รับค่าตอบแทนอันเหมาะสมแล้ว และให้นำความในมาตรา ๔๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งครอบครองตามวรรคหนึ่งอาจปฏิเสธไม่ให้ความยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตหรือเจ้าของโครงข่ายรายหนึ่งรายใดใช้ที่ดินสถานที่ สิ่งก่อสร้าง เสาหรือโครงสร้างอื่นในทำนองเดียวกันได้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การติดตั้งวัสดุหรืออุปกรณ์เพิ่มเติมจะก่อให้เกิดอันตราย หรือรบกวน หรือมีผลเป็นการลดประสิทธิภาพของระบบที่ติดตั้งอยู่เดิม
(๒) ก่อให้เกิดภาระหรือขัดขวางการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินเกินความจำเป็น
 
มาตรา ๔๙ ในการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์กับการประกอบกิจการโทรคมนาคม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการร่วมตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมกำหนด
 
มาตรา ๕๐ ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ หรือผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม หรือเจ้าของโครงข่ายให้บริการการส่งหรือการแพร่ข่าวสารสาธารณะหรือรายการที่มีลักษณะเป็นการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เป็นผู้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
 
หมวด ๕
การส่งเสริมและการพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
                       
 
มาตรา ๕๑ ในการส่งเสริมและพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้คณะกรรมการดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีการประเมินความมีประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ของการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ความหลากหลายของการแสดงความเห็น การให้บริการคนพิการและคนด้อยโอกาส การรับเรื่องร้องเรียน โอกาสในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่
(๒) จัดให้มีการประเมินคุณภาพรายการ โดยพิจารณาถึงประโยชน์ต่อสังคมและศีลธรรมอันดีของประชาชน
(๓) จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้รับใบอนุญาต ผู้ประกอบวิชาชีพและผู้บริโภคในการดำเนินการตาม (๑) และ (๒)
การประเมินตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีการแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏทั้งในเรื่องประสิทธิผล ประสิทธิภาพ การพัฒนาองค์กร การได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และรายละเอียดอื่นที่จำเป็น
 
มาตรา ๕๒ ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่ารายการใดเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือสมควรส่งเสริมให้มีการผลิตรายการ หรือผู้ประกอบการรายใดปฏิบัติตามมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสตามมาตรา ๓๖ คณะกรรมการอาจพิจารณาให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
 
หมวด ๖
การกำกับดูแล
                       
 
มาตรา ๕๓ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) เรียกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณา
(๒) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณาหรือเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
(๓) เข้าไปในอาคารหรือสถานที่ประกอบการของผู้รับใบอนุญาตหรือบุคคลใดในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิด ค้นวัตถุที่ใช้ในการกระทำความผิด วัตถุที่มีไว้เป็นความผิดหรือวัตถุที่จะนำไปใช้กระทำความผิด รวมทั้งการกระทำใดที่อาจเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในการอนุญาต
การเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ประกอบการตาม (๓) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีหมายค้นซึ่งออกโดยศาล
เมื่อได้เข้าไปและลงมือทำการตรวจสอบตาม (๓) แล้วยังดำเนินการไม่เสร็จจะกระทำต่อไปในเวลาหลังพระอาทิตย์ตกหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นก็ได้
ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร
การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรานี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
 
มาตรา ๕๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
 
มาตรา ๕๕ ผู้ใดกระทำให้เกิดการรบกวนต่อการรับส่งหรือแพร่สัญญาณเสียงหรือภาพของผู้รับใบอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ใช้ในการกระทำนั้น หรือให้ย้ายสิ่งดังกล่าวออกไปให้พ้นเขตรบกวนหรือสั่งให้บุคคลนั้นหรือบุคคลอื่นกระทำการอย่างใดเท่าที่จำเป็นเพื่อแก้ไขการรบกวนนั้นได้ แต่ถ้าสิ่งที่ก่อให้เกิดการรบกวนนั้นเป็นกิจการที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายนั้นพิจารณาดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขต่อไป
 
มาตรา ๕๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
 
หมวด ๗
บทกำหนดโทษ
                       
 
ส่วนที่ ๑
โทษทางปกครอง
                       
 
มาตรา ๕๗ โทษปรับทางปกครอง มีดังต่อไปนี้
(๑) โทษปรับทางปกครองชั้น ๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
(๒) โทษปรับทางปกครองชั้น ๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาท แต่ไม่เกินห้าแสนบาท
(๓) โทษปรับทางปกครองชั้น ๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าแสนบาท แต่ไม่เกินห้าล้านบาท
 
มาตรา ๕๘ ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ใด
(๑) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๔
(๒) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๔ วรรคสอง หรือมาตรา ๔๗ วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม
(๓) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๔๔ วรรคสอง
ต้องระวางโทษปรับทางปกครองชั้น ๑
 
มาตรา ๕๙ ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ใด
(๑) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๔ วรรคห้า มาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๘
(๒) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ มาตรการ หรือประกาศที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๔๕
(๓) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๓๔ วรรคสี่ หรือมาตรา ๓๗ วรรคหนึ่ง
ต้องระวางโทษปรับทางปกครองชั้น ๒
 
มาตรา ๖๐ ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ใด
(๑) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๗ วรรคสอง มาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๕๐
(๒) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือประกาศที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ มาตรา ๓๔ วรรคสอง หรือมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง
(๓) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๔๓
ต้องระวางโทษปรับทางปกครองชั้น ๓
 
มาตรา ๖๑ ถ้าการกระทำความผิดซึ่งมีโทษปรับทางปกครองเป็นความผิดต่อเนื่องและคณะกรรมการได้พิจารณาสั่งลงโทษปรับทางปกครองสำหรับความผิดนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับรายวันอีกในอัตราดังต่อไปนี้ นับแต่วันที่มีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองดังกล่าว ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
(๑) กรณีโทษปรับทางปกครองชั้น ๑ ให้ปรับวันละไม่เกินห้าพันบาท
(๒) กรณีโทษปรับทางปกครองชั้น ๒ ให้ปรับวันละไม่เกินสองหมื่นบาท
(๓) กรณีโทษปรับทางปกครองชั้น ๓ ให้ปรับวันละไม่เกินห้าหมื่นบาท
ให้คณะกรรมการดำเนินการบังคับให้มีการชำระค่าปรับรายวันทุกสิบห้าวัน
 
มาตรา ๖๒ ให้สำนักงานเป็นผู้รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่มีโทษทางปกครองเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาสั่งลงโทษทางปกครอง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ในการพิจารณาสั่งลงโทษทางปกครอง คณะกรรมการต้องคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำนั้น แต่คณะกรรมการอาจตักเตือนผู้กระทำความผิดโดยไม่ลงโทษปรับทางปกครองก็ได้ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการกระทำนั้นมีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) เป็นความผิดซึ่งมีโทษปรับทางปกครองชั้น ๑
(๒) มิใช่ความผิดต่อเนื่อง
(๓) เป็นการกระทำความผิดเป็นครั้งแรกซึ่งกระทำโดยไม่จงใจ และ
(๔) ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย
 
มาตรา ๖๓ เมื่อคณะกรรมการมีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองสำหรับผู้รับใบอนุญาตผู้ใดแล้ว ในกรณีที่เห็นสมควร คณะกรรมการอาจมีคำสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตผู้นั้น กระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดอย่างเดียวกันซ้ำอีกได้
 
มาตรา ๖๔ คณะกรรมการอาจพิจารณาสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
(๑) ผู้รับใบอนุญาตเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๓๑ หรือมาตรา ๖๓
(๒) ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนมาตรา ๓๗ และเป็นกรณีที่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
(๓) ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือหลักเกณฑ์หรือคำสั่งที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้อีก หรือกรณีที่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
(๔) ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดที่มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้
(๕) ผู้รับใบอนุญาตต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับงานแพร่เสียงแพร่ภาพอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์
(๖) ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจที่เป็นบริษัทฝ่าฝืนมาตรา ๑๕
การสั่งพักใช้ใบอนุญาตให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องไม่เกินครั้งละสามสิบวัน
 
มาตรา ๖๕ ในกรณีที่ผู้ถูกลงโทษปรับทางปกครองไม่ยอมชำระค่าปรับทางปกครองหรือชำระไม่ครบถ้วนถูกต้อง ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
ส่วนที่ ๒
โทษอาญา
                       
 
มาตรา ๖๖ ผู้ใดใช้คลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์หรือประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ หรือให้บริการนอกเหนือจากกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละไม่เกินห้าหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน
 
มาตรา ๖๗ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ หรือประกาศของคณะกรรมการที่ออกตามมาตรา ๓๑ หรือมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน
 
มาตรา ๖๘ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดกระทำเพื่อให้เกิดการรบกวนต่อการรับส่งหรือแพร่สัญญาณเสียงหรือภาพของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน
 
มาตรา ๖๙ ผู้ใดกระทำให้เกิดการรบกวนต่อการรับส่งหรือแพร่สัญญาณเสียงหรือภาพของผู้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน
 
มาตรา ๗๐ ผู้ใดผลิต นำเข้า จำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายหรือรับติดตั้งเครื่องรับเครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อให้บุคคลอื่นนำไปใช้รับหรือแปลงสัญญาณในการรับรายการของกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับกับการมีหรือใช้เครื่องรับ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตามวรรคหนึ่ง เพื่อการศึกษาวิจัยตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ
 
มาตรา ๗๑ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าคณะกรรมการเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่แท้จริงในการใช้สิทธิฟ้องร้องหรือดำเนินการใดๆ ตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิดนั้น
 
มาตรา ๗๒ ในกรณีผู้ที่กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย
 
บทเฉพาะกาล
                       
 
มาตรา ๗๓ ในวาระเริ่มแรกเพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ของรัฐ มิให้นำบทบัญญัติในหมวด ๑ การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หมวด ๒ รายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หมวด ๖ การกำกับดูแล และหมวด ๗ บทกำหนดโทษ เว้นแต่มาตรา ๒๐ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๘ มาใช้บังคับแก่กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐและให้ดำเนินกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต่อไปได้ตามขอบเขตการให้บริการที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ จนกว่าจะมีแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
เมื่อแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ใช้บังคับแล้ว ให้คณะกรรมการแจ้งลักษณะ ประเภท และขอบเขตการดำเนินกิจการของกรมประชาสัมพันธ์ตามที่กำหนดในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ให้รัฐมนตรีที่มีอำนาจกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ทราบเพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
 
มาตรา ๗๔ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ประกอบกิจการนั้นได้ต่อไปจนถึงวันที่กำหนดในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ใช้บังคับโดยหากส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐประสงค์จะประกอบกิจการต่อไปให้จัดทำแผนประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อขอรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นโดยคำนึงถึงความจำเป็นของการประกอบกิจการและการใช้คลื่นความถี่
 
มาตรา ๗๕ ผู้ใดได้รับอนุญาต สัมปทานหรือสัญญา จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นมีสิทธิประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ตามที่ได้รับอนุญาต สัมปทานหรือสัญญานั้นต่อไปจนกว่าการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้นจะสิ้นสุด
ให้คณะกรรมการออกใบอนุญาตประกอบกิจการตามพระราชบัญญัตินี้ให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตสัมปทานหรือสัญญา จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐตามลักษณะประเภทและขอบเขตของการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาต สัมปทานหรือสัญญาโดยใบอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าวให้มีอายุตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ของการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญานั้น และให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามมาตรา ๑๙
มิให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับผู้ได้รับใบอนุญาตตามวรรคสอง
 
มาตรา ๗๖ ให้กระทรวงการคลังนำรายได้เป็นมูลค่าเท่ากับร้อยละสองของรายได้ที่หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐต้องนำส่งกระทรวงการคลังจากการให้อนุญาต สัมปทานหรือสัญญาเพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ใช้บังคับ ส่งเข้ากองทุน ทั้งนี้ จนกว่าการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญานั้นจะสิ้นสุดลง
 
มาตรา ๗๗ เมื่อพ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนระยะเวลาสูงสุดในการโฆษณาและการบริการธุรกิจตามมาตรา ๘ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาสูงสุดในการโฆษณาและการบริการธุรกิจตามที่กำหนดในมาตรา ๒๓ วรรคสอง
 
มาตรา ๗๘ ในระหว่างที่การจัดตั้งองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา ๔๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังไม่แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นการชั่วคราวโดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(๒) ดำเนินการเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนและกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนและกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราวและกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ให้มีอายุไม่เกินหนึ่งปี
(๓) ประกาศกำหนดสัดส่วนรายการและให้ความเห็นชอบผังรายการของผู้ได้รับใบอนุญาตตาม (๒)
(๔) ควบคุมดูแลให้การส่งหรือการแพร่เสียงของผู้ได้รับใบอนุญาตตาม (๒) เป็นไปตามขนาดกำลังส่งที่กำหนดและครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต
 
มาตรา ๗๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๗๘ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์คณะหนึ่ง ประกอบด้วย
(๑) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอนุกรรมการ
(๒) ปลัดกระทรวงกลาโหมหรือผู้แทน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์หรือผู้แทน อธิบดีกรมการปกครองหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติหรือผู้แทน และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้แทน เป็นอนุกรรมการ
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนจำนวนสามคน กฎหมายมหาชนจำนวนสองคน เทคโนโลยีการสื่อสาร หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการกำกับกิจการจำนวนหนึ่งคน เป็นอนุกรรมการ
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากประธานสภาสถาบัน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยหรือผู้แทนนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หรือผู้แทน ประธานสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนหรือผู้แทน ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนหรือผู้แทน ประธานสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน และประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคหรือผู้แทน เป็นอนุกรรมการ
ให้เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
ให้คณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่ในการเสนอความเห็นและปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๕๓ ด้วย
ให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับการประชุม การปฏิบัติหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่ง มาใช้บังคับแก่คณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
 
มาตรา ๘๐ ให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติตามมาตรา ๗๘ และคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ตามมาตรา ๗๙ สิ้นสุดลงนับแต่วันที่คณะกรรมการขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระตามมาตรา ๔๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเข้ารับหน้าที่ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงกิจการที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ได้สั่งการอนุญาตหรือดำเนินการใดในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ตามบทเฉพาะกาลนี้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดระบบสื่อภาครัฐสื่อภาคเอกชน และสื่อชุมชนให้เป็นสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง และมีการใช้เครื่องมือสื่อสารของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ต่อการศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน ประกอบกับพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ บัญญัติให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม ต่อมาเมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยมีการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญเกี่ยวกับองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระเพียงองค์กรเดียวทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าว และการผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จะเป็นการจัดระบบสื่อภาครัฐสื่อภาคเอกชนและสื่อชุมชนให้เป็นสื่อสาธารณะแท้จริง ดังนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จำเป็นต้องมีกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อเป็นการรองรับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระนั้นให้มีความสมบูรณ์ต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   0934903924
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้