ประวัติกรมการแพทย์กรมการแพทย์ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ. ศ. 2485 จวบจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 60 ปี ได้ผ่านพบกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม บุคคลและเหตุการณ์ในอดีตเป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำที่ทรงคุณค่า ซึ่งชาวกรมการแพทย์ควรได้รับทราบและได้รับการบันทึกไว้ เพื่อเป็นความภาคภูมิใจในการสร้าง
งาน สร้างคนและพัฒนาความมั่นคงให้แก่การแพทย์ ตลอดมาตราบจนทุกวันนี้
แต่เดิมงานการแพทย์และสาธารณสุขยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมการสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล และกรมประชาภิบาล กระทรวงมหาดไทย ตั้งเป็น กรมสาธารณสุข
สังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ. ศ. 2461 ( ปัจจุบันถือเป็นวันคล้ายวันสถาปนา กระทรวงสาธารณสุข) โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ( พระยศในขณะนั้นของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร) ดำรงตำแหน่งอธิบดี
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชการที่ 8 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พิจารณาว่างานด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีความซ้ำซ้อนและกระจายอยู่ในกระทรวงและกรมหลายแห่ง จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการการพิจารณาจัดการปรับปรุงเพื่อรวบรวมกิจการแพทย์และสาธารณสุข ยกเว้นการแพทย์ของทหาร ตำรวจและการรถไฟ และมีมติให้ตั้ง กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ. ศ. 2485 และประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ( ฉบับที่ 3) พ. ศ. 2485 ประกอบด้วย
- สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
- สำนักงานปลัดกระทรวง
- กรมการแพทย์
- กรมประชาสงเคราะห์
- กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- กรมสาธารณสุข
กรมการการแพทย์จึงถือกำเนินมาตั้งแต่วาระนั้น โดยมีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการบำบัดโรค การจัดตั้ง และการควบคุมโรงพยาบาล ดำเนินกิจการของโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลบำบัดโรคทั่วไปและโรงพยาบาลเฉพาะโรค ตลอดจนการจัดตั้งโรง
เรียนผดุงครรภ์และโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาล โดยมีพันโทนิตย์ เวชชวิศิษฏ์ เป็นอธิบดีท่านแรก และมีพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบราชการกรมการแพทย์ พ . ศ. 2485 แบ่งเป็น
- สำนักงานเลขานุการกรม
- กองโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค
- กองโรงพยาบาลโรคจิต
- โรงพยาบาลกลาง
- โรงพยาบาลวชิระ
- บ้านเดิม : มหาดไทย – วังสุโขทัย – วังเทวะเวสม์
ที่ทำการของกรมการแพทยืตั้งอยู่บริเวณเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขมาโดยตลอด ในช่วงแรกอาศัยอยู่ในบริเวณกระทรวงมหาดไทย ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม พ. ศ. 2485 ได้ย้ายที่ทำการไปยังวังสุโขทัย ถนนสุโขทัย โดยเช่าอาคารจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมาในปี พ. ศ. 2493 สำนักพระราชวังต้องการใช้วังสุโขทัยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี กระทรวงสาธารณสุขจึงขออนุมัติซื้อวังเทวะเวสม์ ตำบลบางขุนพรหม อำเภอพระนคร กรุงเทพมหานคร และกรมการแพทย์ก็ได้ย้ายที่ทำการไปยังวังเทวะเวสม์ พร้อมกับกระทรวงสาธารณสุข
- วิวัฒนาการกรมการแพทย์ช่วงต้น
ระหว่างปี พ. ศ. 2485 – 2505 มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับกรมการแพทย์มากมาย ในช่วงแรกมีการโอนกิจการโรงพยาบาลมาอยู่ในสังกัดกรมการแพทย์อีก 34 แห่ง ต่อมาประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามต่อเนื่องระหว่างสงครามอินโดจีน สงครามเอเชียบูรพา และสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสงครามสงบมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาล และต่อมามีการโอน รับโอน ปรับปรุง และก่อสร้างโรงพยาบาลเพิ่มเติม รวมโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ทั้งสิ้นถึง 102 แห่ง เป็นโรงงพยาบาลส่วนกลาง 11 แห่ง สถาบัน 2 แห่ง และโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค 89 แห่ง
30 ปี หลังการก่อตั้งกรมการแพทย์ คณะปฏิวัติได้มีประกาศฉบับที่ 216 และ 218 เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ. ศ. 2515 ให้รวมงานของกรมแพทย์ งานบางส่วนของกรมอนามัย และงานบางส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และตั้งเป็นกรมการแพทย์และอนามัย ต่อมาในปี พ. ศ. 2516 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในการแบ่งกรมการแพทย์และอนามัย ออกเป็น 2 กรม คือ กรมการแพทย์ และ กรมอนามัย เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ. ศ. 2517 แบ่งส่วนราชการกรมการแพทย์ออกเป็น
- สำนักงานเลขานุการกรม
- กองคลัง
- กองการเจ้าหน้าที่
- กองวิชาการ
- กองสุขภาพจิต
- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
- สถาบันโรคผิวหนัง
- สถาบันพยาธิ
- โรงพยาบาลหญิง ( พ. ศ. 2520 ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า โรงพยาบาลราชวิถี)
- โรงพยาบาลเด็ก
- โรงพยาบาลเลิดสิน
- โรงพยาบาลสงฆ์
- โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
- โรงพยาบาลศรีธัญญา
- โรงพยาบาลประสาท ( พ. ศ. 2537 เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันประสาทวิทยา)
- โรงพยาบาลปัญญาอ่อน ( พ. ศ. 2522 ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าโรงพยาบาลราชนุกูล)
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ( ได้รับพระราชทานนามในปี พ. ศ. 2510)
นับตั้งแต่ปี พ. ศ. 2516 เป็นต้นมา กรมการแพทย์ ได้รับการกำเนิดบทบาทให้เป็นกรมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข ในด้านการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสุขภาพ โดยพัฒนาเทคนิควิชาการเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม นิเทศ ฝึกอบรม ยกระดับขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในระบบงานบริการ สาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริการ
กดถูกใจเพจเพื่อรับข่าวสาร แนวข้อสอบในปี พ. ศ. 2520 ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างโรงพยาบาลชานพระนคร ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
ปี พ. ศ. 2531 มีหน่วยงานเพิ่ม คือ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์สิริธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
ปี พ. ศ. 2532 มีการก่อตั้งหน่วยงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า ศูนย์พัฒนาควบคุมโรคไม่ติดต่อ ( โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ วัดไร่ขิง) และต่อมา มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชื่อเป็น โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ ( วัดไร่ขิง) และมีการก่อตั้งศูนย์ทันตกรรม ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันทันตกรรม
ปี พ. ศ. 2535 มีการโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมการแพทย์ เพื่อจัดตั้งสถาบันสุขภาพจิต เป็นกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบัน คือ กรมสุขภาพจิต
ที่ทำการกระทรวงสาธารณสุข ณ วังเทวะเวสม์ ซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางเพียงพอ แต่ต่อมาได้มีหน่วยงานและการขยายงานเพิ่มขึ้น เริ่มเกิดปัญหาความแออัดทั้งในด้านสถานที่ทำงานและการจราจร นับวันปัญหาก็ยิ่งพอกพูนมากขึ้น ผู้บริหารจึงแนวคิดที่จะย้ายกระทรวงฯ เพื่อแก้ปัญหาความแออัด ประกอบกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกระกระทรวงฯ มีความประสงค์จะขยายพื้นที่ปฏิบัติงานในปี พ. ศ. 2526 ทั้ง 2 หน่วยงานเห็นชอบและตกลงกันว่ากระทรวงสาธารณสุขจะย้ายไปปลูกสร้างใหม่ที่จังหวัดนนทบุรี โดยขอใช้ที่ดินส่วนหนึ่งประมาณ 400 ไร่ ของโรงพยาบาลศรีธัญญา ที่ดินดังกล่าว ศาสตราจารย์นายแพทย์หลวงวิเชียรแพทยาคม อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี ( โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา) ได้มองเห็นการณ์ไกลจัดซื้อไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโรงพยาบาลและสร้างนิคมโรคจิต ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการในการเสนอโครงการย้ายกระทรวง การก่อสร้างกระทรวงสาธารณสุขแห่งใหม่ได้เริ่มดำเนินการในปี พ. ศ. 2534
ปี พ. ศ. 2537 การก่อสร้างที่ทำการกระทรวงสาธารณสุข ในบริเวณพื้นที่ของโรงพยาบาล ศรีธัญญา จังหวัดนนทบุรี ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย หน่วยงานของกรมการแพทย์ได้ย้ายจากที่ทำการ วังเทวะเวสม์ มาปฏิบัติงานใน สำนักงานแห่งใหม่ เมื่อประมาณกลางเดือนกันยายน พ. ศ. 2537
ปี พ. ศ. 2536 กรมการแพทย์เสนอขอแบ่งส่วนราชการและได้รับการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พ. ศ. 2537 ( ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนที่ 21 ก หน้า 7 วันที่ 3 มิถุนายน 2537) เป็นหน่วยงานระดับกอง 21 หน่วยงาน ดังนี้
- สำนักงานเลขานุการกรม
- กองคลัง
- กองการเจ้าหน้าที่
- กองประสานการปฏิบัติการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
- กองแผนงาน
- โรงพยาบาลเด็ก ( ปี พ. ศ. 2539 ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์
- โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
- โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ ( วัดไร่ขิง)
- โรงพยาบาลราชวิถี
- โรงพยาบาลเลิดสิน
- โรงพยาบาลสงฆ์
- ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
- สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์
- สถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัย
- สถาบันทันตกรรม
- สถาบันประสาทวิทยา
- สถาบันพยาธิวิทยา
- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
- สถาบันโรคผิวหนัง
- สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
ในฐานะกรมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งรับผิดชอบงานวิชาการแพทย์ฝ่ายการ และมีการบริการทางการแพทย์ในระดับตติยภูมิ กรมการแพทย์มีบทบาทหน้าที่ดำเนินการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วไปและต่างประเทศ ด้านการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาวิชาการทางการแพทย์ฝ่ายกาย ส่งเสริม สนับสนุนและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการแพทย์ฝ่ายกาย ให้แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงาน อื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ให้บริการตรวจ วินิจฉัย บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ โดยเฉพาะในระดับตติยภูมิ และให้บริการเฉพาะทางต่างๆ เพื่อพัฒนางานด้านวิชาการทางการแพทย์ฝ่ายการ
กรมการแพทย์ได้สนับสนุนให้มีการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการแพทย์ แก่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และกำหนดแผนงานเพื่อเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่มีแนวโน้มรุนแรง คือ อุบัติเหตุ มะเร็งโรคหัวใจและหลอดเลือด และกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ปัญหาการติดยาและสารเสพติดและบุหรี่ โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของชาติ นโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนปัญหาของชาติในเรื่องโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งกรมการแพทย์มีหน้าที่เกี่ยวข้อง
ตลอด 6 ทศวรรษ ที่กรมการแพทย์ได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2485 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลาอันยาวนานที่กรมการแพทย์ได้มีโอกาศรับใช้ประเทศชาติโดยปฏิบัติงานในความรับผิดชอบ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล โดยยึดหลักวิชาการและความมั่นคงพัฒนาไปสู่เป้าหมายและสร้างสรรค์งานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
- ช่วงแรกของการปฏิรูประบบราชการ
ในปี พ. ศ. 2545 รัฐบาล พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ได้พิจารณาเห็นว่า โครงสร้างของหน่วยงานราชการหลายแห่งมีบทบาทภารกิจที่ซ้ำซ้อน กระจัดกระจาย ขาดเอกภาพ ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่กลไกภาครัฐโดยรวมยังคงล้าสมัย และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานด้านต่างๆ รับบาลจึงมีนโยบายที่จะปฏิรูประบบราชการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของราชการไทยให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน โดยปรับโครงสร้างและระบบการบริหารราชการให้มีความยืดหยุ่น มีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนมีผู้รับผิดชอบในแต่ละภารกิจอย่างชัดเจน
กรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งต้องเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงบทบาท และโครงสร้างของกรมเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งทางด้านวิชาการ ทั้งด้านการวิเคราะห์ การศึกษา ที่มีประสิทธิภาพ บุคลากรมีศักยภาพ ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีตลอดจนเป็นแกนกลางในการประสานงานของหน่วยงานอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
ปีงบประมาณ พ. ศ. 2546 เป็นช่วงแรกของการปรับโครงสร้างและระบบการบริหารราชการ มีการปรับเปลี่ยน โครงสร้าง กระทรวง ทบวง กรม สร้างกลไกให้มีผู้รับผิดชอบ ถ่ายโอน และเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ. ศ. 2545 กรมการแพทย์ได้มีการปรับโครงสร้างใหม่โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 21 หน่วยงาน ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พ. ศ. 2545 ดังนี้
- สำนักงานเลขานุการกรม
- กองการเจ้าหน้าที่
- กองคลัง
- กองแผนงาน
- โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
- โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ ( วัดไร่ขิง)
- โรงพยาบาลราชวิถี
- โรงพยาบาลเลิดสิน
- โรงพยาบาลสงฆ์
- ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
- สถาบันทันตกรรม
- สถาบันพยาธิวิทยา
- สถาบันประสาทวิทยา
- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
- สถาบันธัญญารักษ์
- สถาบันโรคทรวงอก
- สถาบันโรคผิวหนัง
- สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
- สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
- สำนักการพยาบาล
- สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์
ปัจจุบันกรมการแพทย์มีหน่วยงานในสังกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พ. ศ. 2545 จำนวน 21 หน่วยงาน (1-21) และมีหน่วยงานต่ำกว่าระดับกอง ซึ่งตั้งขึ้นตามโครงสร้างที่ ก. พ. กำหนด จำนวน 17 หน่วยงาน รวมถึงหน่วยงานที่กรมการแพทย์ตั้งขึ้นเป็นการภายใน จำนวน 3 หน่วยงาน ดังนี้
- สำนักงานเลขานุการกรม
- กองการเจ้าหน้าที่
- กองคลัง
- กองแผนงาน
- โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
- โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ ( วัดไร่ขิง)
- โรงพยาบาลราชวิถี
- โรงพยาบาลเลิดสิน
- โรงพยาบาลสงฆ์
- ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
- สถาบันทันตกรรม
- สถาบันพยาธิวิทยา
- สถาบันประสาทวิทยา
- โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่
- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
- ศูนย์มะเร็ง ชลบุรี
- ศูนย์มะเร็ง ลพบุรี
- ศูนย์มะเร็ง ลำปาง
- ศูนย์มะเร็ง อุบลราชธานี
- ศูนย์มะเร็ง อุดรธานี
- ศูนย์มะเร็ง สุราษฎร์ธานี
- ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี
- สถาบันธัญญารักษ์
- ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด เชียงใหม่
- ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด สงขลา
- ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด ขอนแก่น
- ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด ปัตตานี
- ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด แม่ฮ่องสอน
- สถาบันโรคทรวงอก
- สถาบันโรคผิวหนัง
- ศูนย์โรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง
- สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
- ศูนย์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร เพื่อผู้สูงอายุจังหวัดชลบุรี
- สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
- สำนักการพยาบาล
- สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์
- กลุ่มงานพัฒนาระบบบริหาร
- กลุ่มตรวจสอบภายใน
- สถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์ – มหาวิทยาลัยรังสิต
- ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมการแพทย์
กดถูกใจเพจเพื่อรับข่าวสาร แนวข้อสอบ