ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม  พ.ศ. 2551
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม  พ.ศ. 2551

size="2">พระราชบัญญัติ
จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
พ.ศ. ๒๕๕๑
                       
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑
เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓
(๒) พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๗
(๓) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๕๗ ลงวันที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๕
(๔) พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๙
(๕) พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘
(๖) พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๖
(๗) พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๓
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“ข้าราชการทหาร” หมายความว่า ข้าราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร
“ข้าราชการพลเรือนกลาโหม” หมายความว่า ข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการในกระทรวงกลาโหมในตำแหน่งที่มิใช่อัตราทหารและไม่มีชั้นยศเพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะทาง
“ทหารกองประจำการ” หมายความว่า ทหารกองประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
“นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม” หมายความว่า นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร
“เจ้าหน้าที่ทางทหาร” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภากลาโหมเพื่อปฏิบัติภารกิจตามพระราชบัญญัตินี้
“การใช้กำลังทหาร” หมายความว่า การใช้ทหารตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง ข้าราชการพลเรือนกลาโหม และเจ้าหน้าที่ทางทหาร เพื่อปฏิบัติภารกิจตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
หมวด ๑
บททั่วไป
                       
 
มาตรา ๖ ทหาร ประกอบด้วย ข้าราชการกระทรวงกลาโหมที่เป็นข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมที่ขึ้นทะเบียนกองประจำการและบุคคลที่ถูกเรียกเข้ารับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ข้าราชการกระทรวงกลาโหม แบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่ ข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนกลาโหม
การกำหนดตำแหน่ง การบรรจุ การแต่งตั้ง การปรับตำแหน่ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การบังคับบัญชา วินัยและการรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์ การร้องทุกข์ และการอื่นใดตามที่จำเป็นเกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนกลาโหมให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
อัตราเงินเดือน อัตราเงินประจำตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือน และการให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ของข้าราชการพลเรือนกลาโหม ให้นำบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นมาใช้บังคับโดยอนุโลมไปพลางก่อน จนกว่าจะได้มีการกำหนดให้มีอัตราเงินเดือนและอัตราเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหมเป็นการเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง
การจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้แก่ข้าราชการพลเรือนกลาโหมให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ให้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมเป็นข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๗ การบริหารราชการของกระทรวงกลาโหม ต้องดำเนินการตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เว้นแต่ในกรณีใดที่มีความจำเป็นในการบริหารราชการของกระทรวงกลาโหมอาจกำหนดวิธีปฏิบัติราชการให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการปฏิบัติราชการของกระทรวงกลาโหมเป็นการเฉพาะสำหรับกรณีนั้นได้ โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
 
มาตรา ๘ กระทรวงกลาโหม มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) พิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในราชอาณาจักร ปราบปรามการกบฏและการจลาจล โดยจัดให้มีและใช้กำลังทหารตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามที่มีกฎหมายกำหนด
(๒) พิทักษ์รักษา ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์
(๓) ปกป้อง พิทักษ์รักษาผลประโยชน์แห่งชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงตลอดจนสนับสนุนภารกิจอื่นของรัฐในการพัฒนาประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ และการช่วยเหลือประชาชน
(๔) ศึกษา วิจัย พัฒนา และดำเนินการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และด้านกิจการอวกาศเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนภารกิจของกระทรวงกลาโหมและความมั่นคงของประเทศ
(๕) ปฏิบัติการอื่นที่เป็นการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงครามเพื่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือปฏิบัติการอื่นใด ทั้งนี้ ตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามมติคณะรัฐมนตรี
ในการดำเนินการตาม (๔) กระทรวงกลาโหมอาจมอบหมายให้ส่วนราชการในกระทรวงกลาโหมหรือหน่วยงานอื่นในกำกับของกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ดำเนินการก็ได้หรืออาจร่วมงาน ร่วมทุนหรือดำเนินการกับภาคเอกชนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายก็ได้
 
มาตรา ๙ ราชการของกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบแบบแผน ประกาศ และคำสั่ง
กระทรวงกลาโหมอาจแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดเพื่อกระทำการหรือพิจารณา หรือสอบสวนกรณีใด ๆ เกี่ยวกับราชการของกระทรวงกลาโหมก็ได้
 
หมวด ๒
การแบ่งส่วนราชการ
                       
 
มาตรา ๑๐ กระทรวงกลาโหมมีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักงานรัฐมนตรี
(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง
(๓) กรมราชองครักษ์
(๔) กองทัพไทย
 
มาตรา ๑๑ สำนักงานรัฐมนตรีมีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมือง เพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และการประสานนโยบายระหว่างกระทรวง มีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ เว้นแต่สำนักงานจเรทหารทั่วไปในสำนักงานรัฐมนตรีให้อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
 
มาตรา ๑๒ ให้จเรทหารทั่วไปมีหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติราชการของกระทรวงกลาโหมหรือตรวจสอบการปฏิบัติราชการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบหมาย และรายงานผลการตรวจสอบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ให้มีสำนักงานจเรทหารทั่วไปในสำนักงานรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของจเรทหารทั่วไป โดยมีหัวหน้าสำนักงานจเรทหารทั่วไปเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบภายใต้การกำกับดูแลของจเรทหารทั่วไป
 
มาตรา ๑๓ สำนักงานปลัดกระทรวงมีหน้าที่เกี่ยวกับงานนโยบายและยุทธศาสตร์งานราชการประจำทั่วไปของกระทรวง และราชการส่วนหนึ่งส่วนใดของกระทรวงซึ่งมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการอื่นใด มีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
 
มาตรา ๑๔ กรมราชองครักษ์มีหน้าที่รักษาความปลอดภัย สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งมีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยราชองครักษ์ กฎหมายว่าด้วยนายตำรวจราชสำนัก กฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัย สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง มีสมุหราชองครักษ์เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
 
มาตรา ๑๕ กองทัพไทยมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพไทย การป้องกันราชอาณาจักรและดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังทหารตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
 
มาตรา ๑๖ กองทัพไทยอาจตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดเพื่อพิจารณาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับแผนเพื่อรักษาเอกราชและผลประโยชน์แห่งชาติ รวมทั้งการปฏิบัติการทางทหารของทุกส่วนราชการตามมาตรา ๑๗ ร่วมกันได้
 
มาตรา ๑๗ กองทัพไทยมีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) กองบัญชาการกองทัพไทย
(๒) กองทัพบก
(๓) กองทัพเรือ
(๔) กองทัพอากาศ
(๕) ส่วนราชการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
 
มาตรา ๑๘ กองบัญชาการกองทัพไทยมีหน้าที่ควบคุม อำนวยการ สั่งการและกำกับดูแลการดำเนินงานของส่วนราชการในกองทัพไทยในการเตรียมกำลัง การป้องกันราชอาณาจักร และการดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังทหารตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
 
มาตรา ๑๙ กองทัพบกมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพบก การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพบกตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
 
มาตรา ๒๐ กองทัพเรือมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพเรือ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพเรือตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
 
มาตรา ๒๑ กองทัพอากาศมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
 
มาตรา ๒๒ ให้สำนักงานปลัดกระทรวง กรมราชองครักษ์ กองทัพไทย กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เป็นนิติบุคคล
 
มาตรา ๒๓ การแบ่งส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมตามที่กำหนดในมาตรา ๑๐ (๑) (๒) และ (๓) และการแบ่งส่วนราชการของกองทัพไทยตามมาตรา ๑๗ (๑) (๒) (๓) และ (๔) ออกเป็นส่วนราชการระดับรองลงไปและการกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการนั้น ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
การแบ่งส่วนราชการอื่น นอกจากที่กล่าวไว้ในวรรคหนึ่งและการกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการนั้น ๆ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
 
หมวด ๓
การจัดระเบียบราชการทั่วไป
                       
 
มาตรา ๒๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวงกลาโหม และจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้
ในกรณีที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม การสั่งหรือการปฏิบัติราชการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบหมาย
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ปลัดกระทรวงกลาโหมมีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ และการปฏิบัติราชการประจำ แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้
อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการปฏิบัติหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใด ๆ หรือมติของสภากลาโหม หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม สมุหราชองครักษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำการแทนในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้ และผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการประจำที่ผู้บังคับบัญชาทหารไม่ว่าจะเป็นชั้นใดซึ่งรองลงมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด ๆ หรือมติของสภากลาโหม หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ผู้บังคับบัญชาทหารผู้นั้นจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้บังคับบัญชาทหารตำแหน่งอื่นทำการแทนในนามของผู้บังคับบัญชาทหารผู้มอบอำนาจก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
ให้ผู้รักษาราชการ ผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ทำการแทน มีอำนาจและหน้าที่ตามตำแหน่งที่รักษาราชการ รักษาราชการแทน หรือทำการแทนนั้น ๆ
 
มาตรา ๒๕ การบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปตามกฎหมายและตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงและส่วนราชการในกองทัพไทย ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งขึ้นแล้วเสนอคณะกรรมการตามวรรคสามพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบกผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เจ้ากรมเสมียนตราเป็นผู้ช่วยเลขานุการมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการตามวรรคสองและระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวง และส่วนราชการในกองทัพไทย
ระเบียบการประชุมของคณะกรรมการตามวรรคสองและวรรคสาม ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
 
มาตรา ๒๖ ให้กระทรวงกลาโหมจัดให้มีกำลังสำรองเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของกระทรวงกลาโหม การดำเนินการเกี่ยวกับกำลังสำรองให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
 
มาตรา ๒๗ การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลดำรงตำแหน่ง ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
 
มาตรา ๒๘ การปฏิบัติด้านการข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรอง ในภารกิจของกระทรวงกลาโหมเพื่อให้สามารถรับสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ยามปกติในลักษณะที่เป็นการป้องปรามและป้องกัน ก่อนที่สถานการณ์จะรุนแรงถึงขั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
 
มาตรา ๒๙ โครงสร้างองค์กรการฝึกและการศึกษาของทหารและข้าราชการพลเรือนกลาโหมให้เป็นไปตามนโยบายที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยให้กองบัญชาการกองทัพไทยรับผิดชอบการฝึกและศึกษาในระดับยุทธศาสตร์ การปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทยและการปฏิบัติการของกองบัญชาการกองทัพไทย และให้กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ รับผิดชอบในระดับปฏิบัติการและระดับยุทธวิธี
 
มาตรา ๓๐ ให้กระทรวงกลาโหมกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับระบบการส่งกำลังบำรุงร่วมและมาตรฐานยุทโธปกรณ์ตามความต้องการของกองทัพไทยโดยให้มีคณะกรรมการที่กระทรวงกลาโหมแต่งตั้งขึ้นรับผิดชอบการดำเนินการส่งกำลังบำรุงร่วมหรือมาตรฐานยุทโธปกรณ์ แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๓๑ ให้กองบัญชาการกองทัพไทยรับผิดชอบการวางแผน พัฒนาและดำเนินการเกี่ยวกับระบบควบคุมบังคับบัญชากองทัพไทย ให้สามารถติดต่อเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับรัฐบาล ระดับกระทรวง และหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม ตลอดจนการแบ่งมอบความรับผิดชอบในการดำเนินการให้กับกองทัพและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
 
มาตรา ๓๒ ให้กระทรวงกลาโหมวางแผน พัฒนา และดำเนินการเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการบริหารราชการทั่วไปของกระทรวงกลาโหมให้สามารถติดต่อเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
 
หมวด ๔
การจัดระเบียบการปฏิบัติราชการทหาร
                       
 
มาตรา ๓๓ การจัดให้มี การวาง และการใช้กำลังทหารเพื่อปฏิบัติราชการทหารให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด เว้นแต่จะกำหนดเป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้
การใช้กำลังทหาร หรือการวางกำลังเพื่อเตรียมการยุทธ ให้เป็นไปตามข้อบังคับแผนและคำสั่งปฏิบัติการทางทหารที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
 
มาตรา ๓๔ ในกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อการรบหรือการสงคราม การปราบปราม การกบฏหรือเมื่อได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของสภากลาโหม มีอำนาจกำหนดหน่วยงาน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางทหารและกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางทหารได้ตามความเหมาะสมแก่การปฏิบัติภารกิจ
เมื่อการรบหรือการสงคราม หรือการปราบปรามการกบฏสิ้นสุดลง หรือมีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของสภากลาโหมพิจารณาสั่งยกเลิกหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางทหารที่ได้กำหนด หรือแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของสภากลาโหมมีอำนาจกำหนดพื้นที่ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติการทางทหารเป็นยุทธบริเวณ และกำหนดพื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นเขตภายใน
 
มาตรา ๓๕ การใช้กำลังทหารเพื่อการปราบปรามการจลาจล ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
 
มาตรา ๓๖ การใช้กำลังทหารหรือการอื่นใดเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำความผิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือเกี่ยวกับการก่อการร้าย ซึ่งจำเป็นต้องใช้กำลังทหารเพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงโดยเร็ว มิให้เหตุการณ์มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หรือเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
 
มาตรา ๓๗ เพื่อป้องกันและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของสภากลาโหมมีอำนาจอนุมัติให้กระทรวงกลาโหมจัดและวางกำลังในพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อปฏิบัติภารกิจของกระทรวงกลาโหมได้ตั้งแต่ยามปกติ
 
มาตรา ๓๘ การใช้กำลังทหารในการปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพให้เป็นไปโดยความเห็นชอบของสภากลาโหม และเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ใช้กำลังทหารในการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของสภากลาโหม มีอำนาจกำหนดหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางทหาร รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางทหารนั้น เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี
 
มาตรา ๓๙ ให้กองทัพไทยจัดตั้งศูนย์บัญชาการทางทหารในแต่ละระดับขึ้นตั้งแต่ยามปกติเพื่อใช้ในการติดตามสถานการณ์ และเป็นศูนย์ควบคุม อำนวยการ และสั่งการการปฏิบัติ
ให้ศูนย์บัญชาการทางทหารในกองบัญชาการกองทัพไทย มีหน้าที่ควบคุม อำนวยการและสั่งการศูนย์บัญชาการทางทหารในแต่ละระดับตามวรรคหนึ่งหรือกองกำลังเฉพาะกิจร่วมที่จัดตั้งขึ้นตามแผนป้องกันประเทศ แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๔๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ให้เจ้าหน้าที่ทางทหารเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
 
มาตรา ๔๑ ทหาร ข้าราชการพลเรือนกลาโหม และผู้ที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่กับทหารในภารกิจเพื่อความมั่นคงของประเทศ อาจได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
 
หมวด ๕
คณะผู้บริหาร
                       
 
มาตรา ๔๒ ให้มี “สภากลาโหม” ประกอบด้วยสมาชิก ดังต่อไปนี้
(๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานสภากลาโหม
(๒) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานสภากลาโหม
(๓) จเรทหารทั่วไป
(๔) ปลัดกระทรวงกลาโหม
(๕) รองปลัดกระทรวงกลาโหม
(๖) สมุหราชองครักษ์
(๗) รองสมุหราชองครักษ์ (อัตราจอมพล จอมพลเรือ หรือจอมพลอากาศ)
(๘) เสนาธิการกรมราชองครักษ์
(๙) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
(๑๐) รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
(๑๑) เสนาธิการทหาร
(๑๒) ผู้บัญชาการทหารบก
(๑๓) รองผู้บัญชาการทหารบก
(๑๔) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
(๑๕) เสนาธิการทหารบก
(๑๖) ผู้บัญชาการทหารเรือ
(๑๗) รองผู้บัญชาการทหารเรือ
(๑๘) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ
(๑๙) เสนาธิการทหารเรือ
(๒๐) ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ
(๒๑) ผู้บัญชาการทหารอากาศ
(๒๒) รองผู้บัญชาการทหารอากาศ
(๒๓) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ
(๒๔) เสนาธิการทหารอากาศ
(๒๕) ผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ
(๒๖) สมาชิกสภากลาโหมผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปในด้านการทหาร ด้านความมั่นคง ด้านการบริหารราชการ ด้านกฎหมายหรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม จำนวนไม่เกินสามคนซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งตามมติของสภากลาโหม
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในกระทรวงกลาโหมเป็นเลขาธิการและรองเลขาธิการ
ในกรณีที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมมากกว่าหนึ่งคน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานเรียงตามลำดับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเชิญบุคคลอื่นเข้าชี้แจงและแสดงความคิดเห็นต่อสภากลาโหมเฉพาะเรื่องใดก็ได้
 
มาตรา ๔๓ ในการดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเรื่องดังต่อไปนี้ต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหม
(๑) นโยบายการทหาร
(๒) นโยบายการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร
(๓) นโยบายการปกครองและการบังคับบัญชาภายในกระทรวงกลาโหม
(๔) การพิจารณางบประมาณการทหาร และการแบ่งสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม
(๕) การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหาร
(๖) เรื่องที่กฎหมายหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนดให้เสนอสภากลาโหม
 
มาตรา ๔๔ สมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา ๔๒ (๒๖) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระ
ในกรณีสมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา ๔๒ (๒๖) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาจแต่งตั้งผู้อื่นแทนได้ และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของสมาชิกซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
 
มาตรา ๔๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ สมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา ๔๒ (๒๖) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(๖) สมาชิกสภากลาโหมมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภากลาโหมทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการกระทำหรือมีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภากลาโหม
 
มาตรา ๔๖ การประชุมสภากลาโหมให้เป็นไปตามคำสั่งของประธานสภากลาโหมหรือเมื่อสมาชิกสภากลาโหมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกสภากลาโหมทั้งหมดร้องขอให้มีการประชุม
องค์ประชุมสภากลาโหมแต่ละครั้งจะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภากลาโหมทั้งหมด
ประธานสภากลาโหมเป็นประธานในที่ประชุม แต่ถ้าประธานสภากลาโหมไม่อยู่ในที่ประชุมให้รองประธานสภากลาโหมเป็นประธานในที่ประชุมแทน โดยพิจารณาตามลำดับที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๔๒ แต่ถ้าทั้งประธานสภากลาโหมและรองประธานสภากลาโหมไม่อยู่ในที่ประชุมให้สมาชิกสภากลาโหมซึ่งอาวุโสสูงสุดตามระเบียบแบบแผนของกระทรวงกลาโหมทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทนต่อไปตามลำดับ
มติของสภากลาโหมนั้น ให้ส่วนราชการต่าง ๆ ในกระทรวงกลาโหมถือปฏิบัติ
 
มาตรา ๔๗ ให้มี “คณะผู้บัญชาการทหาร” ประกอบด้วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และเสนาธิการทหารโดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานคณะผู้บัญชาการทหาร มีหน้าที่เสนอแนะและให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเรื่องการเตรียมกำลัง การสั่งการใช้กำลัง การเคลื่อนกำลังทหารและการเตรียมพร้อม ตลอดจนรับผิดชอบในการควบคุมอำนวยการยุทธในภาพรวม รวมทั้งควบคุมบังคับบัญชากองกำลังเฉพาะกิจร่วมที่จัดตั้งขึ้นในกรณีที่มีสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ
การควบคุมอำนวยการยุทธและการควบคุมบังคับบัญชากองกำลังเฉพาะกิจร่วมที่จัดตั้งขึ้นตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามข้อบังคับ แผนและคำสั่งปฏิบัติการทางทหารที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
 
บทเฉพาะกาล
                       
 
มาตรา ๔๘ ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน เงินงบประมาณ หนี้ สิทธิ ภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานราชการ และอัตรากำลังพลของส่วนราชการในกระทรวงกลาโหมตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ ไปเป็นของส่วนราชการที่มีชื่ออย่างเดียวกันในกระทรวงกลาโหมตามพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นส่วนของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีและกองบัญชาการทหารสูงสุด
 
มาตรา ๔๙ ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน เงินงบประมาณ หนี้ สิทธิ ภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานราชการ และอัตรากำลังพลของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ ไปเป็นของสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม ตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕๐ ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน เงินงบประมาณ หนี้ สิทธิ ภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานราชการ และอัตรากำลังพลของกองบัญชาการทหารสูงสุดตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ ไปเป็นของกองทัพไทยหรือกองบัญชาการกองทัพไทยตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดยกเว้นส่วนของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ให้โอนไปเป็นของส่วนราชการที่มีชื่ออย่างเดียวกันในกองทัพไทยตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕๑ ให้ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการ ที่โอนไปตามมาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ ดำรงตำแหน่งและได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทน รวมทั้งเงินประจำตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิม
 
มาตรา ๕๒ ให้สภากลาโหมตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งสภากลาโหมขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕๓ บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎ ข้อบังคับ ระเบียบแบบแผน ประกาศ คำสั่ง หรือมติของสภากลาโหมใด ที่ออกตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ ให้ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎ ข้อบังคับ ระเบียบแบบแผน ประกาศ คำสั่ง หรือมติของสภากลาโหม ที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแทน
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ประกอบกับสถานการณ์และระบบการบริหารราชการของประเทศได้เปลี่ยนแปลงไป สมควรปรับปรุงการจัดองค์กรและการบริหารราชการของกระทรวงกลาโหมให้สอดคล้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   0934903924
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้