ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : แนะนำการเตรียมตัวสอบพนักงานกรุงเทพมหานคร  สอบเข้า กทม.
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

แนะนำการเตรียมตัวสอบพนักงานกรุงเทพมหานคร  สอบเข้า กทม.

แนวทางเตรียมสอบ กทม
กทม.เป็นส่วนราชการท้องถิ่นที่มีการบริหารงานบุคคลเป็นของตนเอง   ในแต่ละปี กทม.จะมีการเปิดสอบบุคคลภายนอกเพื่อเข้ารับราชการ ประมาณ 1 - 3 ครั้ง  ขึ้นอยู่กับงบประมาณและอัตราว่าง
          ในการสอบแข่งขันข้าราชการกรุงเทพแต่ละครั้งดูจะได้รับความสนใจมากพอสมควร   แต่ก็ไม่ถึงกับเฮกันมามืดฟ้ามัวดินเหมือนกับการสอบ ก.พ.  ทั้งนี้ก็เนื่องจากคนในกรุงเทพเองไม่ค่อยนิยมรับราชการ   ส่วนคนในต่างจังหวัดชอบที่จะรับราชการ   แต่ก็ติดปัญหาที่ถ้ารับราชการในกรุงเทพค่าครองชีพสูง  งานเยอะ  คนจึงมักจะหลีกเลี่ยงถ้าไม่จำเป็น  ยกเว้นเจอนักสอบมืออาชีพที่ขอสอบไว้ก่อนติดที่ไหนก็เอา   อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ  กลุ่มคนเก่งๆ มักจะใช้สนามสอบ กทม.ลองสนามพอสอบติดก็รับราชการไปพลางๆ เพื่อรอสอบส่วนราชการอื่น เป็นต้น  ปัจจุบันคณะกรรมการกรุงเทพมหานคร  จึงเน้นการให้สวัสดิการเพื่อเป็นขวัญกำลังใจข้าราชการ กทม.  เช่น เงินค่าครองชีพ 2,000 บาท/เดือน  เงินค่าเสี่ยงภัย  5,000 บาท/เดือน   สำหรับข้าราชการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย   เงินค่าล่วงเวลา  เงินค่าพาหนะ  เงินเบี้ยเลี้ยง  และเงินพิเศษอื่นๆ อีกมากมาย   รวมไปถึงเงินโบนัสปลายปีอีกประมาณ 1.5 - 2 เท่าของเงินเดือน   ทำให้ขวัญกำลังใจข้าราชการ กทม.มีมากขึ้น  การสอบแข่งขันก็จึงเริ่มรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน  ผนวกกับข้อสอบ กทม. ที่ถือว่าเป็นข้อสอบที่มหาหินหน่วยงานหนึ่งที่ใครก็มักจะขยาด  โดยเฉพาะการสอบภาค ก. ที่เซียนนักสอบถึงกับยกให้ว่าเป็น ภาค ก. ที่มหาโหดที่สุด  <ยกเว้นการสอบครั้งที่ 1/2552>  แถมด้วยการสอบ กทม. ที่ได้ชื่อว่า  "การสอบข้ามปี"  เพราะกระบวนการสอบเริ่มจาก  รับสมัครก็ใช้เวลาเกือบเดือนกว่าจะประกาศผังสอบก็อีกเดือน  จนถึงวันสอบก็ผ่านไปอีกเดือน ยิ่งรอวันประกาศผลนานไปอีก 2 เดือน  กว่าจะได้สัมภาษณ์  สอบสุขภาพจิต  สอบพละ (สำหรับป้องกันบรรเทาสาธารณภัย)   เปิดเสร็จข้ามปีพอดี  แต่ถึงอย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ชาวนักสอบมั่นอกมั่นใจกับการสอบของ กทม. ก็คือความยุติธรรม  สนามสอบบางสนาม   สอบไปพะวงไปเพราะข่าวเรื่องเส้นสายมีจนมั่วไปหมด  แต่สำหรับ กทม. แล้วคนสอบสบายใจ  ใครเก่งก็ได้ไป
          ทีนี้มาดูเรื่องการสอบกัน  อันดับแรกดูที่ ภาค ก. จอมโหดด่านสกัดดาวรุ่ง  ภาค ก. ประกอบด้วยข้อสอบ 100 ข้อ โดยแยกสอบคือ
1.  วิชาความคิดวิเคราะห์เหตุผล คำนวณ 50 ข้อ  เริ่มสอบเวลา  09.00 น. - 10.30 น.
2. วิชาภาษาไทย  50 ข้อ  เริ่มสอบเวลา 10.30 น. - 12.00 น.ตกไม่ตกก็ดูกันที่ 2 วิชานี้แหละ 
          วิชาแรกประกอบด้วย
1.  การบริหารงานราชการกรุงเทพมหานคร   สรุปก็คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528  ข้อสอบไม่ยาก ออก 5 ข้อ ถามพื้นๆ อ่านสรุปจะดีที่สุด
2. คอมพิวเตอร์พื้นฐาน 5 ข้อ  ไม่ว่าสอบกี่ครั้ง  คอมพิวเตอร์จะออกประเภทถ้าจะออกเรื่องไวรัสก็ออกไวรัสมันทั้ง 5 ข้อเลย  อย่างคราวสอบ 1/2552 ออกเรื่องอินเตอร์เน็ต   เขาก็ออกอินเตอร์เน็ตทั้ง 5 ข้อ  จะเปลี่ยนเรื่องออกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต้องเก็งข้อสอบให้ถูก
3. สดมภ์ A กับสดมภ์ B  เป็นการเปรียบเทียบสดมภ์ทั้งสองว่าอันไหนน่าเชื่อถือกว่ากัน  หรือมีค่ามากกว่า  หรือข้อมูลไม่เพียงพอที่จะเปรียบเทียบ  ในสดมภ์จะมีทั้งการให้ข้อมูลมาเพื่อเปรียบเทียบหารให้คำนวณทางคณิตศาสตร์เพื่อเปรียบเทียบข้อสอบแบบสดมภ์  สมัยก่อนจะออก 10 ข้อ  ช่วงหลังๆ มามีแค่ 5 ข้อ
4. คณิตศาสตร์พื้นฐาน  5 ข้อ เช่นการหาความเร็วเฉลี่ย   การหาความยาวจากสามเหลี่ยมพิธากอรัส  การหาค่าในสมการ   ร้อยละ เป็นต้น
5. การนำข้อมูลมาเขียนในรูปของเซตวงกลม  เช่น โจทย์ให้มาว่า  (ก๊าซธรรมชาติ) (แอลพีจี) (เอ็นจีวี) (ก๊าซหุงต้ม)  แล้วให้เรานำไปเขียนในรูปเซตวงกลม  มีทั้งหมด 5 ข้อ
6. กราฟ  ตาราง  แผนภูมิ 5 ข้อ โดยโจทย์จะให้ตารางแสดงข้อมูลต่างๆ  ของกรุงเทฑมหานคร  เสร็จแล้วให้ตอบคำถามคล้ายๆ ข้อสอบ ก.พ. โจทย์แบบนี้ไม่ค่อยยาก  เพียงแต่ต้องรู้จักปัดตัวเลขให้เป็นตัวเลขลงตัว   จะได้นำมาคำนวณโดยประมาณเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการคิดหาคำตอบ
7. เงื่อนไขทางภาษา  เหมือนกับข้อสอบของ ก.พ. เราต้องรู้จักเขียนตารางเพื่อนำเงื่อนไขเหล่านั้นไปลงตาราง  ข้อสอบแบบนี้ถ้าลงตารางถูกก็ถูกหมดทุกข้อ  แต่ถ้าลงผิดก็เรียบร้อยทั้งหมด  ข้อสอบมี 10 ข้อ แต่บางครั้งก็จะมีเงื่อนไขสั้นๆ  ซึ่งเราต้องนำไปเขียนเป็นกราฟเป็นเซต   หรือเขียนเป็นรูปภาพเพื่อหาคำตอบ  โจทย์จะให้เงื่อนไขทางภาษามาเป็นชุดๆ  ชุดละ 3-5 ข้อ  แต่รวมแล้วก็ 10 ข้อ
8. การวิเคราะห์ข้อมูลเพียงพอ  โดยให้ข้อมูล A กับข้อมูล B มา  จะคล้ายสดมภ์  มีวิธีคิดลักษณะเดียวกัน  มี 5 ข้อ
9. การสรุปความเชิงตรรกวิทยา  5 ข้อ
10. อุปมา - อุปไมย 5 ข้อ เช่น   โจทย์   ขยะ : ปุ๋ย   คำตอบคือ  ? : ?
         สรุปข้อสอบความคิดวิเคราะห์เหตุผล  มี 50 ข้อ  1 ชั่วโมง 30 นาที
ข้อสอบวิชาภาษาไทย  50 ข้อ  1 ชั่วโมงครึ่ง
1.  การเรียงลำดับข้อความ 5 ข้อ   เป็นการให้ข้อความมาในตัวเลือก 1-5 แล้วถามว่าข้อความใดอยู่ลำดับที่เท่าไร  เช่นถามว่า   ข้อความใดอยู่ในลำดับที่ 3  เป็นต้น   วิธีคิด  ก็ต้องหาประโยคแรกให้เจอก่อน  (ส่วนมากแล้วจะขึ้นต้นด้วยคำนาม) หลังจากนั้นก็เริ่มเรียงตามลำดับของประโยคที่มีทั้งภาคประธานและภาคแสดง
2.  คำและกลุ่มคำ 5 ข้อ โดยโจทย์จะให้ข้อความมาแล้วเว้นช่องว่างไว้ 2 ช่อง ให้เรานำคำหรือกลุ่มคำไปเติมเพื่อให้ประโยคถูกต้องสมบูรณ์  เราต้องศึกษาความหมายของคำให้เยอะๆ เช่นคำว่า "ผุด" กับ "พลุด" ต่างกันอย่างไร  หรือคำว่า  "ชาติ" , "ชาด"  ใช้ต่างกันอย่างไรเป็นต้น
3.  การหาว่าตัวเลือกใดใช้ประโยครัดกุม  ถูกต้องตามหลักภาษา  10 ข้อ ในแต่ละตัวเลือกจะให้ประโยคมาแล้วเราก็ต้องพิจารณาว่าตัวเลือกไหนถูกต้องรัดกุม   ซึ่งเราต้องเข้าใจเรื่องประโยคภาษาต่างประเทศ การใช้คำกำกวม  การใช้ระดับของภาษาอย่างถูกต้อง   สุดท้ายก็ต้องเข้าใจหลักไวยากรณ์ของภาษาไทย  และบางครั้งโจทย์ก็จะถามในทางตรงกันข้ามว่า  ข้อใดไม่ถูกต้องรัดกุมตามหลักภาษา
4.  การตีความสรุปความโดยให้อ่านบทความยาว  แล้วสรุปความและตอบคำถาม   บทความยาวหนึ่งบทความใช้ตอบคำถาม 2-3 ข้อ  ฉะนั้นจึงต้องอ่านแล้วจับใจความให้ดีด้วยความเร็ว  ไม่งั้นทำไม่ทันแน่นอน  ข้อสอบตีความ  สรุปความมีทั้งหมด  10 ข้อ
5.  การหาคำตรงข้าม  5 ข้อ เขาจะให้ข้อความสั้นๆ แล้วขีดเส้นใต้คำแล้วให้หาคำตรงข้าม  นอกจากเราจะต้องรู้ความหมายของคำแล้ว  เรายังต้องเข้าใจข้อความนั้นๆ ด้วย  เพราะที่อยู่ของคำต่างกัน  จะทำให้ความหมายของคำต่างกันด้วย
6.  การหาคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน  5 ข้อ  จะคล้ายๆ กับเรื่องที่ 5 ก็คือรู้ความหมายของคำและตำแหน่งของคำในข้อความนั้นๆ
7.  การตีความสรุปความจากประโยคหรือข้อความสั้นๆ  10 ข้อ  ก็คือ  โจทย์ให้ข้อความสั้นๆ มา เราต้องสรุปความหมายให้ได้ว่าตรงกับตัวเลือกใด
วิชาเฉพาะตำแหน่ง   กรุงเทพมหานคร
 1.  ตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี 2   (ข้อสอบ  100 ข้อ  3 ชั่วโมง  เริ่มสอบ 13.00 - 16.00 น.)
     1.1 หลักการบัญชีและงบประมาณ
            เป็นวิชาที่ออกเยอะที่สุด อย่างน้อย 60 ข้อ ข้อสอบมีทั้งความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับบัญชี  การจัดทำบัญชีเงินสด  บัญชีเงินฝากธนาคาร  บัญชีแยกประเภท  การจัดทำรายงานการเงิน  ทะเบียนคุมเงิน  ทะเบียนคุมฎีกา  การตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีและเงินฝากธนาคาร  การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี  การตั้งฎีกาเบิกเงินและตรวจสอบใบสำคัญเบิกเงินบางหมวดรายจ่าย
     1.2 ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติงาน
            - ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องวิธีการงบประมาณ
            - ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการพัสดุ
            - ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการรับเงิน  การเบิกจ่ายเงิน  การเก็บรักษาเงิน  การนำส่งเงิน  และการตรวจเงิน
            - ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการกำหนดประเภท รายรับ - รายจ่าย  และการปฏิบัติเกี่ยวกับงบประมาณ
            - ระเบียบงานสารบรรณ (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี  ว่าด้วยงานสารบรรณ  พ.ศ. 2526   และ ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการปฏิบัติงานสารบรรณ  พ.ศ.2546)
2.  ตำแหน่งเจ้าพนักงานพัสดุ 2   (ข้อสอบ 100 ข้อ  3 ชั่วโมง  เริ่มสอบเวลา 13.00 - 16.00 น.)
     2.1  ข้อบัญญัติว่าด้วยการพัสดุกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2538 และ ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการพัสดุของการพาณิชย์กรุงเทพมหานคร  พ.ศ. 2538  ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดหา  จัดซื้อ  จัดจ้าง  การตรวจรับ  การจัดทำทะเบียนพัสดุ  การเบิกจ่าย  การนำส่ง  การเก็บรักษา  การควบคุมทะเบียนพัสดุ (ตามระบบเกณฑ์คงค้าง)  การซ่อมแซมและบำรุงรักษาพัสดุ  การเก็บรักษาใบสำคัญ  หลักฐาน และ เอกสารเกี่ยวกับพัสดุ  การจำหน่าย  และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง  (ออกรวมแล้วประมาณ 80 ข้อ)
     2.2  ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ  พ.ศ. 2526  และระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการปฏิบัติงานสารบรรณ  พ.ศ. 2546  (ออกประมาณ 20 ข้อ)
3.  ตำแหน่งเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2   (ข้อสอบ  100 ข้อ  3 ชั่วโมง   เริ่มสอบเวลา 13.00 - 16.00 น.)
     3.1  พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  พ.ศ. 2550   การสำรวจตรวจตราเพื่อป้องกันและระงับอัคคีภัย   การป้องกันและบรรเทาอันตรายจากอุทกภัย  วาตภัย  และภัยอื่นๆ
     3.2  พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร  พ.ศ. 2522  ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 28  และกฎกระทรวง ฉบับที่ 4  ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับ 103   และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัย  และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
     3.3  การฟื้นฟูและบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย
     3.4  ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526  และระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยวิธีปฏิบัติงานสารบรรณ  พ.ศ.2546
การสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง
     1.  ทดสอบสุขภาพจิต หรือ การทดสอบความเหมาะสมกับตำแหน่งก่อนการสัมภาษณ์โดยการสอบข้อเขียน  30 คะแนน
           เป็นการทดสอบสภาพของจิตว่าเหมาะสมที่จะรับราชการซึ่งถือว่าเป็นผู้รับใช้ประชาชน  ฉะนั้น การทดสอบสุขภาพจิตจึงเป็นการทดสอบเพื่อให้รู้ว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่จะเข้าสู่ระบบราชการไม่ใช่เป็นการทดสอบว่าบ้าหรือไม่บ้า  มีการสอบหลายรูปแบบ คือ
     1.1  การมองจุดให้เป็นรูปภาพ   10 ภาพ
             เมื่อเราเข้าไปในห้องประชุมชั้น 6 โรงพยาบาลวชิรพยาบาล  เขาก็จะเริ่มอธิบายการสอบสุขภาพจิต  หลังจากนั้นเขาก็จะเริ่มฉายภาพขึ้นบนจอขนาดใหญ่  ในจอภาพเราจะเห็นเป็นจุดๆ เต็มไปหมด  เขาก็จะถามว่าเรามองเห็นเป็นภาพอะไร  และภาพก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มีทั้งหมด 10 ภาพ
     1.2  ให้วาดภาพตามคำสั่ง
             เช่น  มีกระดาษ 2 แผ่น  เขาจะสั่งให้เอาแผ่นที่ 1 ขึ้นมา  แล้วสั่งว่าจงวาดรูปคน   ผ่านไปสักครู่เขาจะสั่งให้เอากระดาษแผ่นที่ 2 ขึ้นมา แล้วสั่งว่าจงวาดรูปคนที่เป็นเพศตรงข้ามที่วาดครั้งแรก   สรุปก็คือ  จุดประสงค์เขาจะดูว่าภาพแรกเราวาดเพศใด  ที่ถูกคือ ภาพที่ 1 ควรวาดคนเพศเดียวกับเรา  แล้วเขาต้องการดูว่าภาพสมดุลกับกระดาษหรือไม่  คนยิ้มแย้มแจ่มใสหรือเปล่า ใส่เสื้อผ้าให้รูปภาพหรือเปล่า  มีองค์ประกอบร่างกายครบไหม   เพื่อประกอบการพิจารณาทางจิต    หรือเขาอาจสั่งวาดรูปต้นไม้  ใครวาดต้นตาล ต้นมะพร้าวก็เสร็จเลยเพราะข้าราชการต้องเป็นที่พึ่งพิงของคนอื่นได้  จะอยู่โดดเดี่ยวเหมือนต้นตาล ต้นมะพร้าวไม่ได้  ต้องวาดภาพต้นไม้ใหญ่มีกิ่งก้านสาขา  มีต้นไม้แวดล้อม มีนกมาเกาะ วาดภาพให้สมดุลกับกระดาษ
     1.3  ทำข้อสอบ 187 ข้อให้เวลา 1 ชั่วโมง  ข้อสอบมี 3 ตัวเลือก คือ 1. ใช่   2. ไม่แน่ใจ   3. ไม่ใช่    ข้อสอบจะถามความเป็นตัวของเราไม่มีวิชาการ   ถามคำภามคล้ายๆกัน เพื่อให้เรางง  เหมือนคนถูกสอบสวนนั่นล่ะ  เช่น ข้อสอบถามว่าคุณเป็นคนใจเย็นใช่หรือไม่  แล้วเราตอบว่าใช่  สักครู่เขาจะถามว่า เวลามีคนขับรถปาดหน้าคุณจะตอบโต้ทันที  แล้วตอบใช่อีกรับรองมีโอกาสตกสูง    สรุปแล้วข้อสอบสุขภาพจิต  เราต้องตอบให้เราเป็นคนดี  เป็นคนใจเย็น  ยิ้มแย้มแจ่มใส  รักการบริการ  อดทน  ขยัน  มองโลกในแง่ดี  รักครอบครัว  พูดจาดี  สรุปอะไรดีๆ นั่นล่ะถึงจะผ่าน  แต่ดีจนกรรมการอ้วกก็เกินไป  แต่ที่จะตกก็ตรงให้การขัดแย้งบ่อยๆ นั่นล่ะ แล้วก็ต้องทำให้ทันถ้าไม่ทันอย่าเดาเพราะข้อท้ายๆ เขาจะถามว่า  เท่าที่คุณให้การมาทั้งหมดคุณให้การเท็จใช่หรือไม่  เผอิญเดา "ใช่"  หมดเลยก็จบกันพอดี
     2.  การสอบสัมภาษณ์  70 คะแนน
           ไม่มีอะไรมากคำถามส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัว  จะมีคำถามเกี่ยวกับตำแหน่งที่สอบบ้าง เช่น การเงิน  การบัญชี  เขาก็จะถามว่า ได้ขึ้นไปดูกองคลังหรือยัง  ถ้าดูแล้วเห็นบอร์ดข้างหน้าไหม  เขาเขียนว่าอะไร แล้วใครเป็นหัวหน้ากองคลัง  รู้ไหมว่าถ้าได้ทำงานจะทำงานยังไง  จะย้ายกลับบ้านหรือเปล่า (ใครตอบว่าย้ายก็เตรียมตัวซวย) ถ้าเจอการทุจริตในหน่วยงานจะทำอย่างไร  หรือถ้าเป็นคำถามส่วนตัวเขาก็มักจะถามานเดิม (อย่าดูถูกงานเดิมเด็ดขาด)  แต่ก็พอสรุปการให้คะแนนได้ดังนี้
     1.  การแต่งกาย
     2.  บุคลิกท่าทาง
     3.  กริยามารยาท
     4.  ท่วงทีวาจา
     5.  การตอบคำถาม
     อย่าตื่นเต้น  ให้ยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าไว้  มั่นใจในตนเอง  ใช้น้ำเสียงหนักแน่น แต่ก็สุภาพเรียบร้อย
     3.  การสอบพละ
           สำหรับตำแหน่งป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2  ต้องสอบพละเป็นของแถม  มีการสอบหลายรายการแต่ไม่ต้องกลัว  เพราะรายการโหดๆ มีแค่ 2 รายการ คือ  วิ่ง 1,000 เมตร ภายใน 5 นาที กับ ว่ายน้ำ 50 เมตร  ภายใน 1 นาที 20 วินาที   นอกนั้นไม่ต้องกังวลผ่านอยู่แล้ว  แต่ไอ้ 2 รายการที่ว่านี่ซิ ถ้าไม่ซ้อมมามีหวังตายกับตาย  สรุปก็คือ ซ้อมมาเยอะๆ อย่าได้ไปซ้อมยกแก้วให้มากเท่านั้นก็ผ่านสบาย  ขอให้โชคดีกับการสอบครับ

หมายเหตุ  ยืมเขามาจำไม่ได้ว่าจากเว็บไหน ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีดี
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   0934903924
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้