พระราชบัญญัติ
การเดินอากาศ
พ.ศ. ๒๔๙๗
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๗
เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. ๒๔๙๗” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก(๑) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พุทธศักราช ๒๔๘๐(๒) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๐(๓) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๒ และ(๔) บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้“อนุสัญญา” หมายความว่า อนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งทำขึ้นที่เมืองชิคาโกเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ รวมตลอดถึงภาคผนวกและบทแก้ไขเพิ่มเติมภาคผนวกหรืออนุสัญญานั้น“อากาศยาน” หมายความรวมถึง เครื่องทั้งสิ้นซึ่งทรงตัวในบรรยากาศ โดยปฏิกิริยาแห่งอากาศเว้นแต่วัตถุซึ่งระบุยกเว้นไว้ในกฎกระทรวง“อากาศยานขนส่ง” หมายความว่า อากาศยานซึ่งใช้หรือมุ่งหมายสำหรับใช้ขนส่งของหรือคนโดยสารเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้า“อากาศยานส่วนบุคคล” หมายความว่า อากาศยานซึ่งใช้หรือมุ่งหมายสำหรับใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการอันมิใช่เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้า“อากาศยานต่างประเทศ” หมายความว่า อากาศยานซึ่งจดทะเบียนและมีสัญชาติตามกฎหมายต่างประเทศ“ร่มอากาศ” หมายความว่า ร่มที่ใช้สำหรับหน่วงการหล่นของคน สิ่งของ หรือสัตว์จากที่สูงโดยความต้านทานของอากาศ“ผลิตภัณฑ์” หมายความว่า อากาศยาน ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ชิ้นส่วนรับรองคุณภาพ ชิ้นส่วนมาตรฐาน หรือบริภัณฑ์ แล้วแต่กรณี“ลำตัวอากาศยาน” หมายความรวมถึง โครงสร้างของอากาศยาน แต่ไม่รวมถึงส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน“ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน” หมายความว่า เครื่องยนต์ ใบพัด และส่วนประกอบอื่นของอากาศยานที่คณะกรรมการเทคนิคประกาศกำหนด“เครื่องยนต์” หมายความว่า เครื่องที่ใช้หรือมุ่งหมายสำหรับใช้ในการขับเคลื่อนอากาศยาน รวมตลอดถึงชิ้นส่วน อุปกรณ์ และส่วนประกอบของเครื่องยนต์ แต่ไม่รวมถึงใบพัด“ใบพัด” หมายความว่า กลอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการขับเคลื่อนอากาศยานโดยมีชุดใบครีบติดกับเพลาขับของเครื่องยนต์ซึ่งเมื่อทำการหมุนจะก่อให้เกิดแรงผลักดันอันเป็นผลจากการกระทำของชุดใบครีบต่ออากาศในแนวตั้งฉากกับระนาบของการหมุนโดยประมาณ รวมตลอดถึงชิ้นส่วน อุปกรณ์หรือส่วนประกอบที่ใช้ในการควบคุม แต่ไม่รวมถึงใบครีบในเครื่องยนต์ และใบพัดประธานหรือใบพัดรองของเฮลิคอปเตอร์หรือของอากาศยานอื่นที่มีลักษณะคล้ายกับเฮลิคอปเตอร์“ชิ้นส่วนของอากาศยาน” หมายความว่า ลำตัวอากาศยาน ชิ้นส่วนของลำตัวอากาศยาน หรือชิ้นส่วนของส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน“ชิ้นส่วนรับรองคุณภาพ” หมายความว่า ชิ้นส่วนของอากาศยานที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ติดตั้งกับอากาศยาน หรือเพื่อใช้ทดแทนชิ้นส่วนของอากาศยานตามที่กำหนดไว้ในใบรับรองแบบ“ชิ้นส่วนมาตรฐาน” หมายความว่า ชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นโดยได้รับการรับรองมาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือตามมาตรฐานที่องค์กรของต่างประเทศกำหนดโดยมาตรฐานดังกล่าวคณะกรรมการเทคนิคประกาศให้ใช้เป็นมาตรฐานชิ้นส่วนของอากาศยานได้ตามมาตรา ๓๔ วรรคสอง“บริภัณฑ์” หมายความว่า เครื่องวัด กลไก ชิ้นส่วน อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่ใช้หรือมุ่งหมายที่จะใช้ในการทำงานหรือในการควบคุมอากาศยานในระหว่างการบิน ไม่ว่าจะติดตั้งหรือประกอบอยู่ภายในหรือภายนอกอากาศยาน รวมตลอดถึงอุปกรณ์สื่อสาร ทั้งนี้ เฉพาะที่คณะกรรมการเทคนิคได้กำหนดมาตรฐานทางเทคนิคตามมาตรา ๓๔ (๑)“แบบที่ได้รับการรับรอง” หมายความว่า แบบอากาศยาน แบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่มีการรับรองโดยใบรับรองแบบหรือใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติม หรือโดยหนังสือรับรองรวมทั้งหนังสือให้ความเห็นชอบการแก้ไขดัดแปลงแบบอากาศยานหรือแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ตลอดจนแบบชิ้นส่วนรับรองคุณภาพตามใบอนุญาตผลิตชิ้นส่วนรับรองคุณภาพและแบบบริภัณฑ์ตามใบอนุญาตผลิตบริภัณฑ์“ใบรับรองแบบ” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อรับรองแบบที่ออกสำหรับอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานตามมาตรา ๔๑/๒ รวมทั้งใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติม และให้หมายความรวมถึงใบรับรองแบบหรือใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติมที่ออกให้โดยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาหรือประเทศที่ได้ทำความตกลงกับประเทศไทย และได้รับหนังสือรับรองตามมาตรา ๔๑/๑๓ และมาตรา ๔๑/๑๔“ใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติม” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อรับรองแบบที่แก้ไขเพิ่มเติมอากาศยานต้นแบบ หรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่มีใบรับรองแบบแล้วตามมาตรา ๔๑/๕ วรรคสอง (๒) (ก) หรือมาตรา ๔๑/๖ วรรคสอง“ผู้ได้รับใบรับรองแบบ” หมายความรวมถึง ผู้ได้รับโอนสิทธิจากผู้ที่ได้รับใบรับรองแบบด้วย“ใบอนุญาตผลิตอากาศยาน” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้สำหรับผู้ได้รับอนุญาตให้ผลิตอากาศยานตามมาตรา ๔๑/๒๑“ใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้สำหรับผู้ได้รับอนุญาตให้ผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานตามมาตรา ๔๑/๓๒“ใบอนุญาตผลิตชิ้นส่วนรับรองคุณภาพ” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้สำหรับผู้ได้รับอนุญาตให้ผลิตชิ้นส่วนรับรองคุณภาพตามมาตรา ๔๑/๓๗“ใบอนุญาตผลิตบริภัณฑ์” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้สำหรับผู้ได้รับอนุญาตให้ผลิตบริภัณฑ์ตามมาตรา ๔๑/๔๗“ใบสำคัญสมควรเดินอากาศ” หมายความว่า หนังสือสำคัญสำหรับอากาศยานที่ออกให้เพื่อแสดงว่าอากาศยานลำใดมีความสมควรเดินอากาศตามมาตรา ๔๑/๖๑ และให้หมายความรวมถึงใบสำคัญสมควรเดินอากาศที่รัฐภาคีแห่งอนุสัญญาหรือประเทศที่ได้ทำความตกลงกับประเทศไทยออกให้ตามมาตรา ๔๑/๗๒“หนังสือรับรองความสมควรเดินอากาศ” หมายความว่า หนังสือสำคัญสำหรับส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ชิ้นส่วนรับรองคุณภาพ หรือบริภัณฑ์ ที่ออกให้เพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ผลิตขึ้นตามแบบที่ได้รับการรับรอง หรือได้รับการบำรุงรักษาให้คงสภาพตามแบบที่ได้รับการรับรองหรือตามคำสั่งความสมควรเดินอากาศ“คำสั่งความสมควรเดินอากาศ” หมายความว่า คำสั่งของอธิบดีตามมาตรา ๔๑/๘๒ เพื่อให้อากาศยานใช้งานต่อไปได้โดยปลอดภัย“การบำรุงรักษา” หมายความว่า งานที่ต้องทำเพื่อให้อากาศยานคงความต่อเนื่องของความสมควรเดินอากาศ เช่น การซ่อม การตรวจพินิจ การถอดเปลี่ยน การดัดแปลง หรือการแก้ไขข้อบกพร่อง“ใบรับรองหน่วยซ่อม” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้สำหรับผู้ได้รับการรับรองให้ประกอบกิจการบำรุงรักษาอากาศยาน ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน หรือบริภัณฑ์ รวมทั้งชิ้นส่วนของอากาศยานตามมาตรา ๔๑/๙๔“ผู้ดำเนินการหน่วยซ่อม” หมายความว่า บุคคลที่ผู้ได้รับใบรับรองหน่วยซ่อมแต่งตั้งให้มีหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบในการดำเนินการของหน่วยซ่อมตามมาตรา ๔๑/๑๐๐“สนามบิน” หมายความว่า พื้นที่ที่กำหนดไว้บนพื้นดินหรือน้ำหรือพื้นที่อื่นสำหรับใช้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพื่อการขึ้นลงหรือเคลื่อนไหวของอากาศยาน รวมตลอดถึงอาคาร สิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ ซึ่งอยู่ภายในสนามบินนั้น“สนามบินอนุญาต” หมายความว่า สนามบินที่บุคคลได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ และสนามบินที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด“ที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน” หมายความว่า พื้นที่ที่จัดไว้บนพื้นดินหรือน้ำหรือพื้นที่อื่นสำหรับใช้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพื่อการขึ้นลงหรือเคลื่อนไหวของอากาศยานเป็นการชั่วคราวตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง รวมตลอดถึงพื้นที่ดินที่บุคคลซึ่งไม่มีสิทธิในที่ดินนั้นได้หักร้างตัดฟันต้นไม้ หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นที่เรียบซึ่งอากาศยานอาจขึ้นลงได้ และเป็นพื้นที่กว้างตั้งแต่สามสิบเมตรขึ้นไป และยาวตั้งแต่สามร้อยเมตรขึ้นไป“ที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาต” หมายความว่า ที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๕๓ หรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๕๕“ใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้สำหรับเจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาตที่ได้รับอนุญาตให้เปิดให้บริการแก่สาธารณะตามมาตรา ๖๐/๑“ระบบการจัดการด้านนิรภัย” หมายความว่า วิธีการจัดการด้านนิรภัยการบินและด้านนิรภัยภาคพื้น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบาย การวางแผน การจัดโครงสร้างองค์กร ระบบความรับผิดชอบ และวิธีการที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัย“การรักษาความปลอดภัย” หมายความว่า การป้องกันการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อกิจการบิน“ลานจอดอากาศยาน” หมายความว่า บริเวณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นที่จอดอากาศยานของสนามบินอนุญาต และหมายความรวมถึงสถานที่อื่นนอกบริเวณดังกล่าวในสนามบินอนุญาตที่อากาศยานได้รับอนุญาตให้จอดชั่วคราวเพื่อรับหรือรอรับบริการในกรณีจำเป็นหรือฉุกเฉิน“บริการในลานจอดอากาศยาน หมายความว่า บริการใด ๆ ที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับอากาศยานหรือธุรกิจการเดินอากาศในลานจอดอากาศยาน นอกจากบริการช่างอากาศ“บริการช่างอากาศ” หมายความว่า บริการที่เกี่ยวกับเทคนิคในด้านความปลอดภัยของอากาศยานหรือการบำรุงรักษาอากาศยานในลานจอดอากาศยาน ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง“เครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ” หมายความว่า เครื่องให้บริการที่จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินอากาศของอากาศยาน รวมตลอดถึงอาคาร สิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ของเครื่องให้บริการนั้น“ผู้ประจำหน้าที่” หมายความว่า นักบิน ต้นหน นายช่าง พนักงานวิทยุ พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ พนักงานอำนวยการบิน และผู้ทำหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง“ผู้ควบคุมอากาศยาน” หมายความว่า นักบินที่ผู้ดำเนินการเดินอากาศหรือผู้จดทะเบียนอากาศยานกำหนดให้เป็นผู้ควบคุมและรับผิดชอบความปลอดภัยสำหรับการบินแต่ละเที่ยวบิน“ผู้จัดการสนามบินสาธารณะ” หมายความว่า ผู้อำนวยการ ผู้จัดการหรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาตที่เปิดให้บริการแก่สาธารณะ“ผู้ดำเนินการเดินอากาศ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจในการเดินอากาศ“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า อธิบดีและผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศมอบหมาย“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้แก่การเดินอากาศในราชการทหาร ราชการตำรวจ และราชการส่วนอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๕/๑ ในการดำเนินการพิจารณาเพื่อออก หรือต่ออายุใบรับรอง ใบอนุญาต ใบสำคัญ หนังสืออนุญาต หรือหนังสือรับรองตามความในพระราชบัญญัตินี้ หากมีความจำเป็นต้องตรวจสอบทดลอง ทดสอบ หรือกระทำด้วยประการใด เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ขอหรือผู้ได้รับใบรับรอง ใบอนุญาต ใบสำคัญ หนังสืออนุญาต หรือหนังสือรับรองนั้น มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีขีดความสามารถในการดำเนินการตามที่ขออนุญาต หรือในการดำเนินการเพื่อตรวจสอบว่าอากาศยานส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ชิ้นส่วนรับรองคุณภาพ บริภัณฑ์ ชิ้นส่วนของอากาศยาน สนามบิน เครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานมีความปลอดภัยหรือเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้ขอหรือผู้ได้รับใบรับรอง ใบสำคัญ หนังสืออนุญาต หรือหนังสือรับรองดังกล่าว เป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่ายเพื่อการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ปลัดกระทรวงคมนาคมกำหนด มาตรา ๕/๒ บทบัญญัติที่ให้อำนาจอธิบดีสั่งเพิกถอนใบรับรอง ใบอนุญาต ใบสำคัญ หนังสืออนุญาต หรือหนังสือรับรองในกรณีตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการจำกัดอำนาจอื่นของอธิบดีในการสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในกรณีที่ปรากฏว่ามีเหตุที่อาจต้องเพิกถอนตามวรรคหนึ่ง โดยผู้ได้รับใบรับรอง ใบอนุญาต ใบสำคัญ หนังสืออนุญาต หรือหนังสือรับรอง ไม่สามารถอ้างความเชื่อโดยสุจริตมาคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้ อธิบดีมีหน้าที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏและสั่งการตามที่เห็นสมควรโดยไม่ชักช้ารายงานการตรวจสอบตามวรรคสอง เป็นเอกสารที่เปิดเผยแก่บุคคลทั่วไป มาตรา ๕/๓ ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบรับรอง ใบอนุญาต ใบสำคัญ หนังสืออนุญาต หรือหนังสือรับรอง และอธิบดีได้สั่งให้มีการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว ไม่เป็นเหตุให้ผู้ที่ได้รับใบรับรอง ใบอนุญาต ใบสำคัญ หนังสืออนุญาต หรือหนังสือรับรองนั้นพ้นความรับผิดในการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว หรือตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับมีอำนาจออกกฎกระทรวงในเรื่องดังต่อไปนี้(๑) กำหนดค่าธรรมเนียม ไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้(๒) กำหนดอัตราขั้นสูงสำหรับค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งตามมาตรา ๒๐(๓) กำหนดอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบินอนุญาตซึ่งให้บริการแก่สาธารณะตามมาตรา ๕๖ (๒) และ (๓)(๔) ยกเว้นค่าธรรมเนียมตาม (๑) ค่าโดยสารหรือค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งตามมาตรา ๒๐ ค่าบริการ ค่าภาระ หรือเงินตอบแทนอื่นใดตามมาตรา ๕๖ หรือค่าบริการเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศตามมาตรา ๕๗(๕) กำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
คณะกรรมการการบินพลเรือน และคณะกรรมการเทคนิค
มาตรา ๗ ให้มีคณะกรรมการการบินพลเรือนคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บัญชาการทหารอากาศ และกรรมการอื่นอีกเจ็ดคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ และให้อธิบดี เป็นกรรมการและเลขานุการ มาตรา ๘ รองประธานกรรมการและกรรมการอยู่ในตำแหน่งสี่ปี รองประธานกรรมการหรือกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ จะแต่งตั้งให้เป็นรองประธานกรรมการหรือกรรมการอีกก็ได้ มาตรา ๙ รองประธานกรรมการและกรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระ เมื่อ(๑) ตาย(๒) ลาออก(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออกถ้ามีการพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระ ให้มีการแต่งตั้งรองประธานกรรมการหรือกรรมการเข้าแทน แล้วแต่กรณี ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าแทนนี้ย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน มาตรา ๑๐ เมื่อประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่แทน มาตรา ๑๑ ในการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือนต้องมีกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม มาตรา ๑๒ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณกรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๓ ให้คณะกรรมการการบินพลเรือนมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อกระทำกิจการ หรือพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงใด ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการบินพลเรือนในการประชุมอนุกรรมการ ให้นำมาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๑๔ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๑๕ ให้คณะกรรมการการบินพลเรือนมีอำนาจหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้และในเรื่องต่อไปนี้(๑) กำหนดนโยบายและพิจารณาอนุมัติแผนอำนวยความสะดวก แผนรักษาความปลอดภัย และแผนนิรภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ รวมทั้งแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ(๒) รับปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบินพลเรือนแก่รัฐมนตรี(๓) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งตามมาตรา ๒๐(๔) พิจารณากำหนดอัตราและเงื่อนไขการเรียกเก็บค่าบริการ ค่าภาระ หรือเงินตอบแทนอื่นใดในสนามบินอนุญาตซึ่งให้บริการแก่สาธารณะตามมาตรา ๕๖ ซึ่งต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง(๕) พิจารณากำหนดเงื่อนไขการเรียกเก็บและอนุมัติอัตราค่าบริการ เครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศซึ่งให้บริการแก่สาธารณะตามมาตรา ๕๗(๖) ออกข้อบังคับตามพระราชบัญญัตินี้และตามอนุสัญญาข้อบังคับนั้น เมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ มาตรา ๑๕/๑ ให้มีคณะกรรมการเทคนิคคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าแปดคนแต่ไม่เกินสิบเอ็ดคน ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการบินพลเรือน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องแต่งตั้งจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับอากาศยานและการบำรุงรักษาอากาศยาน โดยต้องมีอาจารย์ประจำผู้สอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐจำนวนไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการ และให้รองอธิบดีที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการให้อธิบดีแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการจากข้าราชการกรมการขนส่งทางอากาศได้ตามความจำเป็น มาตรา ๑๕/๒ กรรมการเทคนิคอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกันนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามวรรคหนึ่ง กรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อ(๑) ตาย(๒) ลาออก(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๕/๑(๔) รัฐมนตรีให้ออกเพราะมีเหตุบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงหรือมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงถ้ามีการพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระ ให้แต่งตั้งประธานหรือกรรมการเข้าแทนแล้วแต่กรณี ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าแทนนี้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทนในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระและยังมิได้แต่งตั้งกรรมการเข้าแทนตำแหน่งที่ว่างให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ต้องมีกรรมการเหลือพอที่จะเป็นองค์ประชุม มาตรา ๑๕/๓ ให้นำความในมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ มาใช้บังคับแก่การประชุมและประโยชน์ตอบแทนของกรรมการเทคนิค มาตรา ๑๕/๔ ให้คณะกรรมการเทคนิคมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้(๑) ออกประกาศกำหนดส่วนประกอบอื่นของอากาศยานเป็นส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานตามมาตรา ๔(๒) ออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้(ก) มาตรฐานอากาศยานตามมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง(ข) มาตรฐานอากาศยานที่ผลิตเพื่อส่งออกตามมาตรา ๓๕(ค) ระบุประเภทอากาศยานและส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่ผลิตตามแบบโดยไม่ต้องมีใบรับรองแบบตามมาตรา ๓๖ วรรคสาม(ง) หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบโดยการบินทดลองหรือการทดสอบอย่างอื่นของอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานต้นแบบตามมาตรา ๔๑/๒(จ) หลักเกณฑ์การใช้งานได้อย่างปลอดภัยของอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานตามมาตรา ๔๑/๔(ฉ) หลักเกณฑ์การตรวจสอบการแก้ไขดัดแปลงอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานตามมาตรา ๔๑/๕ มาตรา ๔๑/๖ และมาตรา ๔๑/๗(ช) การแก้ไขดัดแปลงแบบอากาศยาน แบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานแบบชิ้นส่วนรับรองคุณภาพ และแบบบริภัณฑ์ใดเป็นการแก้ไขในสาระสำคัญหรือไม่ใช่สาระสำคัญตามมาตรา ๔๑/๘(๓) ออกประกาศให้ใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นมาตรฐานชิ้นส่วนของอากาศยานตามมาตรา ๓๔ วรรคสอง(๔) มอบหมายให้อธิบดีออกข้อกำหนดในรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรฐานอากาศยานและให้ความเห็นชอบในข้อกำหนดดังกล่าวตามมาตรา ๓๔ วรรคห้า(๕) ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีเกี่ยวกับบุคลากรที่มีความรู้และความชำนาญเพียงพอในการผลิตอากาศยานของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานตามมาตรา ๔๑/๒๒ (๓)(๖) กำหนดการบำรุงรักษาอากาศยาน สำหรับอากาศยานที่ไม่มีใบรับรองแบบตามมาตรา ๔๑/๖๙ วรรคสอง (๒)(๗) ให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่อธิบดีในเรื่องเทคนิค เพื่อการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๕/๕ ให้กรมการขนส่งทางอากาศมีหน้าที่รับผิดชอบเป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการการบินพลเรือน คณะกรรมการเทคนิค และคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๖๓ และให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้(๑) ส่งเสริม วิจัยและพัฒนากิจการการบินพลเรือนและการรักษาความปลอดภัยตลอดจนจัดให้มีการทดสอบและปรับปรุง รวมทั้งประเมินระบบของสิ่งอำนวยความสะดวกหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการบินพลเรือน(๒) กำกับดูแล ควบคุมกิจการการบินพลเรือน(๓) จัดทำทะเบียนอากาศยาน และทะเบียนผู้ประจำหน้าที่และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบินพลเรือน(๔) จัดระบบ และเก็บรักษาเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับใบอนุญาต ใบสำคัญ ใบรับรอง และเอกสารอื่นทางด้านการบินพลเรือน(๕) ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เกี่ยวกับการบินและการรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือน ความผิดที่กระทำในอากาศยานหรือต่ออากาศยานอุบัติเหตุของอากาศยาน การค้นหาช่วยเหลือกรณีอากาศยานประสบภัย การอำนวยความสะดวกในการบินพลเรือนเกี่ยวกับการเข้าเมือง การศุลกากร การสาธารณสุข การกักพืชและสัตว์ และการตรวจอย่างอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้และข่าวสารระหว่างประเทศเกี่ยวกับการบินพลเรือน(๖) จัดทำและเผยแพร่ความรู้และข่าวสารเกี่ยวกับการบินพลเรือน(๗) เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการบินพลเรือน มาตรา ๑๕/๖ การอุทธรณ์คำสั่งอธิบดี ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง การพิจารณาประเด็นทางเทคนิค เป็นอำนาจดุลพินิจของคณะกรรมการเทคนิคและให้เป็นที่สุด
หมวด ๒
บททั่วไปว่าด้วยอากาศยาน
มาตรา ๑๖ ห้ามมิให้ผู้ใดนำอากาศยานทำการบิน เว้นแต่มีสิ่งเหล่านี้อยู่กับอากาศยานนั้น คือ(๑) ใบสำคัญการจดทะเบียน(๒) เครื่องหมายสัญชาติและทะเบียน และแผ่นแสดงเครื่องหมายอากาศยาน(๓) ใบสำคัญสมควรเดินอากาศ(๔) สมุดปูมเดินทาง(๕) ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่แต่ละคน(๖) ใบอนุญาตเครื่องวิทยุสื่อสาร ถ้ามีเครื่องวิทยุสื่อสาร(๗) บัญชีแสดงรายชื่อผู้โดยสาร ในกรณีที่เป็นการบินระหว่างประเทศที่มีการบรรทุกผู้โดยสาร(๘) บัญชีแสดงรายการสินค้า ในกรณีที่เป็นการบินระหว่างประเทศที่มีการบรรทุกสินค้า(๙) สิ่งอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงความในมาตรานี้ ไม่ใช้บังคับแก่(๑) อากาศยานที่ทำการบินทดลองภายใต้เงื่อนไข ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด(๒) อากาศยานทหารต่างประเทศ(๓) อากาศยานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๖/๑ ผู้จดทะเบียนอากาศยานต้องจัดให้มีสมุดปูมเดินทางไว้ประจำอากาศยานแต่ถ้ามีผู้ดำเนินการเดินอากาศสำหรับอากาศยานใดให้เป็นหน้าที่ของผู้ดำเนินการเดินอากาศให้ผู้ควบคุมอากาศยานบันทึกรายการในสมุดปูมเดินทางตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนแบบสมุดปูมเดินทางและการเก็บรักษาสมุดปูมเดินทางให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน มาตรา ๑๖/๒ แบบสมุดปูมเดินทาง การเก็บรักษาสมุดปูมเดินทาง และหน้าที่บันทึกรายการในสมุดปูมเดินทาง ของอากาศยานต่างประเทศให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศผู้จดทะเบียนอากาศยาน มาตรา ๑๖/๓ ผู้ดำเนินการเดินอากาศต้องจัดให้มีบัญชีแสดงรายชื่อผู้โดยสารและบัญชีแสดงรายการสินค้าตามมาตรา ๑๖ (๗) และ (๘) ไว้กับอากาศยานแบบบัญชี การเก็บรักษาบัญชี และหน้าที่ในการบันทึกรายการในบัญชีตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนในกรณีที่เป็นอากาศยานต่างประเทศให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศผู้จดทะเบียนอากาศยาน มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้อากาศยานใช้ที่หนึ่งที่ใดเป็นที่ขึ้นลงนอกจากสนามบินอนุญาต หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานที่ได้รับอนุญาตหรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา ๑๘ อากาศยานต้องบินตามเส้นทางบินที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๙ อากาศยานต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน มาตรา ๒๐ การขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์เป็นบริการสาธารณะการกำหนดค่าโดยสารและค่าระวางของอากาศยานขนส่งต้องเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการการเก็บค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่ง ให้คณะกรรมการการบินพลเรือนกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารและค่าระวางของผู้ประกอบการอากาศยานขนส่งซึ่งต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยให้แยกประเภทของบริการการขนส่งทางอากาศตามความเหมาะสมการเก็บค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งระหว่างประเทศ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยบริการเดินอากาศ แล้วแต่กรณี มาตรา ๒๑ ผู้จดทะเบียนอากาศยาน ผู้ดำเนินการเดินอากาศ ผู้ประจำหน้าที่ บุคคลที่อยู่ในอากาศยาน และผู้ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ต้องปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนผู้ดำเนินการเดินอากาศ ผู้ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ และผู้ประกอบการในสนามบินอนุญาตต้องรับผิดชอบและกำกับดูแลการปฏิบัติตามแผนรักษาความปลอดภัยและแผนนิรภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้อากาศยานบินเข้าหรือบินผ่านเขตห้ามหรือเขตกำกัดการบินซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องถ่ายภาพในอากาศยานหรือจากอากาศยานไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๒๔ ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินหรือทิ้งร่มอากาศ นอกจากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือพายุทธภัณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ไปกับอากาศยาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๒๖ ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือพาวัตถุอันตรายหรือสัตว์ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานหรือบุคคลในอากาศยานตามที่กำหนดในกฎกระทรวงไปกับอากาศยาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด มาตรา ๒๗ ห้ามมิให้อากาศยานนอกจากอากาศยานต่างประเทศบินออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้อากาศยานต่างประเทศบินผ่านหรือขึ้นลงในราชอาณาจักรเว้นแต่จะมีสิทธิตามอนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศ หรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้อากาศยานทหารต่างประเทศบินผ่านหรือขึ้นลงในราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี มาตรา ๒๙ ทวิห้ามมิให้ผู้ใดใช้อากาศยานส่วนบุคคลในการเดินอากาศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลจากรัฐมนตรีผู้ได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้แนบท้ายใบอนุญาตหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต คุณสมบัติและลักษณะของผู้ขออนุญาต อายุใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคล การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคล แบบใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคล และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคล ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๒๙ ตรี ความในมาตรา ๒๙ ทวิ วรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่อากาศยานขนส่งที่ใช้ในการขนส่งของหรือคนโดยสารอันมิใช่เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าเป็นครั้งคราว และได้แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบแล้ว มาตรา ๒๙ จัตวา ใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลที่รัฐมนตรีออกให้สำหรับอากาศยานส่วนบุคคลลำใด ให้ใช้ได้เฉพาะอากาศยานส่วนบุคคลลำนั้น มาตรา ๒๙ เบญจ ห้ามมิให้ผู้ใดนำอากาศยานส่วนบุคคลทำการบิน เว้นแต่จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖ และมีใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลติดไปกับอากาศยานด้วย
หมวด ๓
การจดทะเบียนและเครื่องหมายอากาศยาน
มาตรา ๓๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๑ ผู้ซึ่งขอจดทะเบียนอากาศยานตามความในพระราชบัญญัตินี้ได้ต้องเป็นเจ้าของอากาศยานที่ขอจดทะเบียนหรือถ้ามิได้เป็นเจ้าของต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองอากาศยานที่ขอจดทะเบียนและได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้จดทะเบียนได้การขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนอากาศยาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๓๑ ผู้ซึ่งขอจดทะเบียนอากาศยานจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตามต้องมีสัญชาติไทยถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยมีสำนักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตั้งอยู่ในราชอาณาจักร และ(๑) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย(๒) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนต้องมีสัญชาติไทย และทุนของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ต้องเป็นของบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย(๓) ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทนั้นต้องไม่มีหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ กรรมการส่วนมากต้องมีสัญชาติไทย และหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ของหุ้นทั้งหมดต้องเป็นของบุคคลในประเภทต่อไปนี้แต่ละประเภทโดยลำพังหรือหลายประเภทรวมกัน(ก) บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย(ข) กระทรวง ทบวง กรมในรัฐบาล(ค) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ในรัฐบาลถือหุ้นอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ของหุ้นทั้งหมด(ง) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ของทั้งหมด(จ) นิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงถ้าเป็นสมาคม ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีสำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ในราชอาณาจักร และข้อบังคับของสมาคมนั้นได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการบินพลเรือนแล้ว มาตรา ๓๒ ใบสำคัญการจดทะเบียนอากาศยานเป็นอันใช้ไม่ได้ เมื่อ(๑) มีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ของอากาศยานนั้นในกรณีที่เจ้าของเป็นผู้จดทะเบียน หรือมีการเปลี่ยนแปลงสิทธิครอบครองอากาศยานนั้น ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองเป็นผู้จดทะเบียน(๒) ผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๓๑(๓) ปรากฏว่าการเป็นเจ้าของหรือการเป็นผู้มีสิทธิครอบครองของผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นไม่เป็นไปตามที่แสดงไว้ในการจดทะเบียนว่ามีสิทธิเช่นนั้นในรายการขอจดทะเบียน(๔) อากาศยานนั้นได้รับความเสียหายมากจนไม่เหมาะสมที่จะใช้การต่อไปได้(๕) ใบสำคัญสมควรเดินอากาศของอากาศยานนั้นสิ้นอายุเกินกว่าหกเดือนแล้ว(๖) อากาศยานนั้นได้สูญหายไปเป็นเวลาเกินกว่าสามเดือนแล้วในกรณี (๑) ถึง (๕) ให้ผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นส่งคืนใบสำคัญการจดทะเบียนแก่พนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า มาตรา ๓๓ เครื่องหมายสัญชาติและทะเบียน และแผ่นแสดงเครื่องหมายอากาศยานให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน
หมวด ๔
แบบอากาศยาน การผลิตอากาศยาน และการควบคุมความสมควรเดินอากาศ
ส่วนที่ ๑
มาตรฐานอากาศยาน
มาตรา ๓๔ มาตรฐานอากาศยานให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อกำหนดของคณะกรรมการเทคนิค โดยให้ประกอบด้วยมาตรฐาน ดังต่อไปนี้(๑) มาตรฐานความสมควรเดินอากาศของอากาศยานหรือของส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน รวมถึงมาตรฐานทางเทคนิคของบริภัณฑ์(๒) มาตรฐานอากาศยานเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานมลพิษทางเสียง หรือมาตรฐานมลพิษทางอากาศ(๓) มาตรฐานอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยในการเดินอากาศคณะกรรมการเทคนิคอาจประกาศให้ใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือตามที่องค์กรของต่างประเทศกำหนดเป็นมาตรฐานชิ้นส่วนของอากาศยานได้มาตรฐานตาม (๑) สำหรับอากาศยาน ให้กำหนดตามประเภทการใช้งานของอากาศยานได้แก่ การใช้งานปกติ ผาดแผลง ขนส่ง และการใช้งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงมาตรฐานตาม (๑) (๒) และ (๓) ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่อนุสัญญากำหนดในการกำหนดมาตรฐานตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการเทคนิคอาจมอบหมายให้อธิบดีมีอำนาจออกข้อกำหนดในรายละเอียดได้ตามความเหมาะสม โดยจะกำหนดให้ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อเมื่อคณะกรรมการเทคนิคได้ให้ความเห็นชอบก่อนก็ได้ มาตรา ๓๕ ในกรณีที่เป็นการผลิตเพื่อส่งออก คณะกรรมการเทคนิคอาจออกข้อกำหนดมาตรฐานอากาศยาน ให้แตกต่างไปจากมาตรฐานที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๔ ก็ได้ ส่วนที่ ๒
การรับรองแบบ
มาตรา ๓๖ แบบที่จะใช้ในการผลิตอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานจะต้องมีใบรับรองแบบตามความในหมวดนี้แบบอากาศยานและแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานต้องได้มาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่คณะกรรมการเทคนิคกำหนดตามมาตรา ๓๔คณะกรรมการเทคนิคอาจออกข้อกำหนดระบุประเภทอากาศยานและส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะตามลักษณะของการใช้งาน ให้ผลิตตามแบบโดยไม่ต้องมีใบรับรองแบบก็ได้ มาตรา ๓๗ ใบรับรองแบบอากาศยานหรือแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานมีดังต่อไปนี้(๑) ใบรับรองแบบมาตรฐาน ออกให้สำหรับแบบอากาศยานหรือแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่เป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการเทคนิคกำหนดตามมาตรา ๓๔(๒) ใบรับรองแบบเฉพาะ ออกให้สำหรับแบบอากาศยาน เพื่อใช้งานที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น การทำฝนเทียม การโปรยยาปราบศัตรูพืช หรือการทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตามมาตรฐานที่คณะกรรมการเทคนิคกำหนดตามมาตรา ๓๔ มาตรา ๓๘ ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบรับรองแบบอากาศยานหรือแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงในการขอใบรับรองแบบ ผู้ขอจะต้องระบุมาตรฐานอากาศยานที่นำมาใช้ในการออกแบบอากาศยานหรือแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่ขอใบรับรองแบบ พร้อมทั้งแผนและระยะเวลาการสร้างอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานตามที่ขอใบรับรองแบบนั้นด้วยเมื่ออธิบดีได้รับคำขอ ให้อธิบดีตรวจสอบเอกสารหลักฐานของผู้ขอและประเมินความเป็นไปได้ของแบบที่เสนอ วิธีดำเนินการ และความพร้อมในการสร้างอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ตลอดจนฐานะทางการเงิน บุคลากร สถานที่ และเครื่องมือที่จะใช้ในการสร้าง หากอธิบดีเห็นว่ามีความเป็นไปได้ ให้อธิบดีออกหนังสืออนุญาตให้ผู้ขอดำเนินการสร้างอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานดังกล่าวได้ โดยกำหนดระยะเวลาการสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ออกหนังสืออนุญาตในกรณีที่ผู้ขอไม่สามารถสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคสามผู้ขออาจขอขยายระยะเวลาการสร้างต่ออธิบดีได้อีกหนึ่งครั้ง และอธิบดีอาจอนุญาตให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวได้ไม่เกินสองปีในกรณีที่ผู้ขอไม่สามารถสร้างอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้หนังสืออนุญาตเป็นอันสิ้นผล มาตรา ๓๙ ในกรณีที่มีผู้ขอใบรับรองแบบตามมาตรา ๓๘ และอธิบดีเห็นว่ามาตรฐานที่กำหนดในข้อกำหนดของคณะกรรมการเทคนิคตามมาตรา ๓๔ ไม่ครอบคลุมถึง หรือไม่อาจใช้กับแบบของผู้ขอ เพราะเหตุที่มีวิวัฒนาการหรือลักษณะแผนแบบแตกต่างไปจากอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่มีใช้อยู่ในขณะนั้น ให้อธิบดีมีหนังสืออนุญาตตามมาตรา ๓๘ วรรคสาม ไปพลางก่อนเป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขพิเศษเกี่ยวกับมาตรฐานของอากาศยานหรือของส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่มีวิวัฒนาการหรือที่มีการออกแบบนั้นได้ตามที่เห็นสมควรและเมื่ออธิบดีได้กำหนดเงื่อนไขพิเศษแล้ว ให้รายงานคณะกรรมการเทคนิคเพื่อพิจารณากำหนดเป็นมาตรฐานต่อไปเงื่อนไขพิเศษที่อธิบดีกำหนดตามวรรคหนึ่ง ต้องมีระดับความปลอดภัยไม่น้อยกว่าระดับที่คณะกรรมการเทคนิคใช้ในการกำหนดมาตรฐานตามมาตรา ๓๔ มาตรา ๔๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๑/๑ เมื่อผู้ขอใบรับรองแบบได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีตามมาตรา ๓๘ วรรคสาม แล้ว ผู้ขอมีหน้าที่ดังต่อไปนี้(๑) ดำเนินการสร้างอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ระบุในคำขอใบรับรองแบบ(๒) บันทึกรายละเอียดและรายงานการสร้างอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด(๓) ยินยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการสร้างอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน(๔) หน้าที่อื่นตามที่อธิบดีกำหนดในกรณีที่ผู้ขอใบรับรองแบบตามวรรคหนึ่งไม่ปฏิบัติหน้าที่ตาม (๒) (๓) หรือ (๔) และอธิบดีได้เตือนให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแล้วยังฝ่าฝืน ให้อธิบดีเพิกถอนหนังสืออนุญาตนั้น มาตรา ๔๑ ในระหว่างการสร้างอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน หากคณะกรรมการเทคนิคได้ออกข้อกำหนดมาตรฐานใหม่ที่แตกต่างจากมาตรฐานที่ระบุในคำขอใบรับรองแบบตามมาตรา ๔๐ (๑) ซึ่งสามารถใช้กับแบบอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่กำลังดำเนินการสร้างได้ และผู้ขอใบรับรองแบบประสงค์ที่จะใช้มาตรฐานใหม่ดังกล่าวให้ผู้ขอแจ้งการเปลี่ยนมาตรฐานต่ออธิบดี ทั้งนี้ อธิบดีอาจกำหนดให้ผู้ขอใช้มาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นการเพิ่มเติมด้วยก็ได้ หรือมิฉะนั้นผู้ขอต้องใช้มาตรฐานเดิม มาตรา ๔๑/๑ ในระหว่างการสร้างอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน หากมีข้อกำหนดของคณะกรรมการเทคนิคกำหนดมาตรฐานขึ้นใหม่ให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังเพื่อความปลอดภัย อันเป็นการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานที่ระบุไว้ในคำขอใบรับรองแบบ ให้ผู้ขอใบรับรองแบบปรับปรุงแบบโดยใช้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นใหม่ในการสร้างอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานดังกล่าว มาตรา ๔๑/๒ เมื่อผู้ขอใบรับรองแบบได้ดำเนินการสร้างอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานแล้ว ให้อธิบดีจัดให้มีหรือสั่งให้ผู้ขอทำการทดสอบโดยการบินทดลองหรือการทดสอบอย่างอื่น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในข้อกำหนดของคณะกรรมการเทคนิค ในการนี้ อธิบดีอาจกำหนดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้เกี่ยวข้องด้วยก็ได้เมื่อได้ทำการทดสอบตามวรรคหนึ่งแล้ว หากอธิบดีเห็นว่าอากาศยานต้นแบบหรือต้นแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานนั้น เป็นไปตามมาตรฐานอากาศยานและมีสภาพที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างปลอดภัย ให้อธิบดีออกใบรับรองแบบอากาศยานหรือใบรับรองแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานตามประเภทที่กำหนดในมาตรา ๓๗ โดยอธิบดีอาจกำหนดข้อจำกัดความสมควรเดินอากาศหรือข้อจำกัดอื่นในการใช้อากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานนั้นได้ มาตรา ๔๑/๓ ใบรับรองแบบตามมาตรา ๓๗ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยให้ระบุมาตรฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการออกใบรับรองแบบไว้ในใบรับรองแบบด้วย และในใบรับรองแบบต้องประกอบด้วยเอกสาร ดังต่อไปนี้(๑) แบบที่ออก(ก) ภาพร่างและข้อกำหนดรายละเอียด รวมทั้งบัญชีของภาพร่างและข้อกำหนดรายละเอียดที่จำเป็นในการใช้กำหนดรูปลักษณ์และลักษณะแผนแบบของอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ใช้กับแบบดังกล่าว โดยให้ระบุมาตรฐานเฉพาะที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่คณะกรรมการเทคนิคประกาศให้ใช้กับอากาศยานได้ (ถ้ามี) ไว้ด้วย(ข) ข้อมูลเกี่ยวกับมิติ วัสดุ และกระบวนการที่จำเป็นในการใช้กำหนดความแข็งแรงทางโครงสร้างของอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน(ค) ข้อจำกัดความสมควรเดินอากาศที่กำหนดเพื่อการคงความต่อเนื่องของความสมควรเดินอากาศสำหรับอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน(๒) ข้อจำกัดการใช้งานของอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และ(๓) ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขอื่นที่เกี่ยวข้องกับแบบอากาศยานหรือแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน มาตรา ๔๑/๔ ในกรณีที่อากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานใดอยู่ระหว่างการทดสอบ โดยได้บินทดลองตามมาตรา ๔๑/๒ แล้ว ก่อนได้รับใบรับรองแบบ หากผู้ขอใบรับรองแบบประสงค์จะใช้อากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานนั้น เพื่อฝึกอบรมผู้ประจำหน้าที่หรือเพื่อแสดงสมรรถนะเพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่นตามที่คณะกรรมการการบินพลเรือนกำหนด ให้ยื่นคำขอใบรับรองแบบเป็นการชั่วคราวต่ออธิบดี หากอธิบดีเห็นว่าอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานดังกล่าวสามารถนำไปใช้งานได้อย่างปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ในข้อกำหนดของคณะกรรมการเทคนิค ให้อธิบดีออกใบรับรองแบบเป็นการชั่วคราว โดยอธิบดีอาจกำหนดข้อจำกัดความสมควรเดินอากาศหรือข้อจำกัดอื่นในการใช้อากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานนั้นตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้การยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๑/๕ ผู้ทรงสิทธิในใบรับรองแบบอากาศยานหรือแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่ประสงค์จะทำการแก้ไขดัดแปลงแบบที่ได้รับการรับรองแล้ว ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงในการพิจารณาคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการดังนี้(๑) ในกรณีที่เป็นการแก้ไขดัดแปลงที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้อธิบดีตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ในข้อกำหนดของคณะกรรมการเทคนิค หากคณะกรรมการเทคนิคไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ให้อธิบดีตรวจสอบตามวิธีการที่เห็นสมควร และถ้าผลการตรวจสอบปรากฏว่าเป็นไปตามมาตรฐานอากาศยาน และมีสภาพที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างปลอดภัย ให้อธิบดีออกหนังสือให้ความเห็นชอบแก่ผู้ขอโดยให้แนบแบบที่แก้ไขดัดแปลงไว้กับหนังสือดังกล่าวด้วย(๒) ในกรณีที่เป็นการแก้ไขดัดแปลงในสาระสำคัญ ให้อธิบดีตรวจสอบโดยให้นำความในมาตรา ๓๘ วรรคสาม และมาตรา ๔๑/๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม หากอธิบดีเห็นว่า(ก) การแก้ไขดัดแปลงนั้นไม่ถึงขนาดต้องออกใบรับรองแบบฉบับใหม่ ให้อธิบดีตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ในข้อกำหนดของคณะกรรมการเทคนิค หากคณะกรรมการเทคนิคไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ให้อธิบดีตรวจสอบตามวิธีการที่เห็นสมควร และถ้าผลการตรวจสอบปรากฏว่าเป็นไปตามมาตรฐานอากาศยาน และมีสภาพที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างปลอดภัย ให้อธิบดีรับรองโดยการแก้ไขเพิ่มเติมในใบรับรองแบบฉบับเดิม เว้นแต่ผู้ขอประสงค์จะให้ออกเป็นใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติม ให้อธิบดีออกใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติมแก่ผู้ขอได้(ข) การแก้ไขดัดแปลงนั้นจำเป็นต้องตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองแบบฉบับใหม่ให้อธิบดีแจ้งผู้ขอเพื่อยื่นคำขอใบรับรองแบบตามมาตรา ๓๘การรับรองการแก้ไขดัดแปลงตามมาตรานี้ ไม่มีผลเป็นการยกเลิกใบรับรองแบบฉบับเดิมเว้นแต่อธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่นการรับรองตามวรรคสอง (๑) หรือ (๒) (ก) ผู้ขออาจขอให้รับรองเป็นการเฉพาะลำหรือเป็นการทั่วไปเฉพาะแบบก็ได้ มาตรา ๔๑/๖ ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์และกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรเจ้าของหรือผู้ครอบครองอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน หรือผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้ทรงสิทธิในใบรับรองแบบ ประสงค์จะทำการแก้ไขดัดแปลงอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานให้แตกต่างไปจากแบบที่ได้รับการรับรองในสาระสำคัญ อาจยื่นคำขอรับใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติมสำหรับสิ่งที่ผู้นั้นได้แก้ไขดัดแปลงเพิ่มเติมต่ออธิบดีได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงเมื่ออธิบดีได้รับคำขอตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ตรวจสอบการแก้ไขดัดแปลงนั้นตามหลักเกณฑ์ในข้อกำหนดของคณะกรรมการเทคนิค หากคณะกรรมการเทคนิคไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ให้อธิบดีตรวจสอบตามวิธีการที่เห็นสมควร และถ้าผลการตรวจสอบปรากฏว่าเป็นไปตามมาตรฐานอากาศยาน และมีสภาพที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างปลอดภัย ให้อธิบดีออกใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติมแก่ผู้ขอ แต่ถ้าอธิบดีเห็นว่าเป็นการแก้ไขดัดแปลงที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้ถือว่าผู้ขอยื่นคำขอดัดแปลงอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานตามมาตรา ๔๑/๗ มาตรา ๔๑/๗ เจ้าของหรือผู้ครอบครองอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานประสงค์จะทำการแก้ไขดัดแปลงอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานของตนให้แตกต่างไปจากแบบที่ได้รับการรับรองที่ไม่ใช่สาระสำคัญ อาจยื่นคำขอต่ออธิบดีได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงเมื่ออธิบดีได้รับคำขอตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ตรวจสอบการแก้ไขดัดแปลงนั้นตามหลักเกณฑ์ในข้อกำหนดของคณะกรรมการเทคนิค หากคณะกรรมการเทคนิคไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ให้อธิบดีตรวจสอบตามวิธีการที่เห็นสมควร และถ้าผลการตรวจสอบปรากฏว่าเป็นไปตามมาตรฐานอากาศยาน และมีสภาพที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างปลอดภัย ให้อธิบดีออกหนังสือให้ความเห็นชอบแก่ผู้ขอโดยให้แนบแบบที่แก้ไขดัดแปลงไว้กับหนังสือดังกล่าวด้วย แต่ถ้าอธิบดีเห็นว่าเป็นการแก้ไขดัดแปลงในสาระสำคัญ ให้อธิบดียกคำขอและแจ้งผู้ขอเพื่อยื่นคำขอใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติมตามมาตรา ๔๑/๖ มาตรา ๔๑/๘ การแก้ไขดัดแปลงแบบดังต่อไปนี้ กรณีใดจะเป็นการแก้ไขดัดแปลงในสาระสำคัญหรือไม่ใช่สาระสำคัญ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อกำหนดของคณะกรรมการเทคนิค(๑) แบบอากาศยานหรือแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่ได้รับใบรับรองแบบแล้ว ตามมาตรา ๔๑/๕ มาตรา ๔๑/๖ และมาตรา ๔๑/๗(๒) แบบชิ้นส่วนรับรองคุณภาพ ที่ได้รับการรับรองตามใบอนุญาตผลิตชิ้นส่วนรับรองคุณภาพตามมาตรา ๔๑/๔๒ หรือ(๓) แบบบริภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองตามใบอนุญาตผลิตบริภัณฑ์ตามมาตรา ๔๑/๕๒ มาตรา ๔๑/๙ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งผู้ได้รับใบรับรองแบบ ทำการแก้ไขแบบอากาศยานหรือแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน เมื่อปรากฏว่า(๑) อากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานมีความปลอดภัยไม่เพียงพออันเนื่องมาจากแบบที่ได้รับการรับรอง(๒) อากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานจะมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ถ้ามีการแก้ไขแบบที่ได้รับการรับรองแล้ว(๓) มีความจำเป็นต้องแก้ไขแบบเพื่อให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้ทำการตรวจหรือแก้ไขอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานตามคำสั่งความสมควรเดินอากาศของอธิบดีตามมาตรา ๔๑/๘๒ แล้วในการออกคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีกำหนดระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไว้ด้วยแต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี และเพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยอธิบดีอาจกำหนดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดการใช้งานของอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่สร้างตามแบบเดิมได้ตามที่เห็นสมควรเมื่อผู้ได้รับใบรับรองแบบได้ทำการแก้ไขแบบอากาศยานหรือแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานแล้ว ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงและให้นำความในมาตรา ๔๑/๕ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๔๑/๑๐ ผู้ได้รับใบรับรองแบบไม่แก้ไขแบบภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๔๑/๙ ให้อธิบดีสั่งเพิกถอนใบรับรองแบบนั้นเมื่อใบรับรองแบบอากาศยานหรือแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานถูกเพิกถอนแล้วให้ใบสำคัญสมควรเดินอากาศของอากาศยานแบบนั้นหรือของอากาศยานแบบที่ติดตั้งส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานแบบนั้น เป็นอันสิ้นผลตามมาตรา ๔๑/๗๐ (๒) มาตรา ๔๑/๑๑ ในกรณีที่อธิบดีมีคำสั่งกำหนดข้อจำกัดความสมควรเดินอากาศหรือข้อจำกัดอื่นตามมาตรา ๔๑/๒ วรรคสอง หรือมาตรา ๔๑/๔ วรรคหนึ่ง หรือมีคำสั่งกำหนดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดการใช้งานตามมาตรา ๔๑/๙ วรรคสอง หรือมีคำสั่งเพิกถอนใบรับรองแบบตามมาตรา ๔๑/๑๐ วรรคหนึ่งให้อธิบดีประกาศคำสั่งดังกล่าวให้ทราบทั่วกันตามระเบียบที่ปลัดกระทรวงคมนาคมกำหนดเมื่อได้ทราบคำสั่งของอธิบดีตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ได้รับใบรับรองแบบแจ้งให้ผู้จดทะเบียนอากาศยาน ผู้ดำเนินการเดินอากาศ ผู้ผลิตอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานและผู้เกี่ยวข้องกับอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานนั้นทราบโดยทันที มาตรา ๔๑/๑๒ ใบรับรองแบบและใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติมที่ออกตามความในหมวดนี้ อาจโอนให้แก่กันได้ เว้นแต่ใบรับรองแบบเป็นการชั่วคราวตามมาตรา ๔๑/๔ หรือหนังสือรับรองใบรับรองแบบที่ออกโดยรัฐต่างประเทศตามมาตรา ๔๑/๑๓ และมาตรา ๔๑/๑๔ จะโอนให้แก่กันมิได้การโอนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๑/๑๓ ผู้ได้รับใบรับรองแบบอากาศยาน ใบรับรองแบบส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน หรือใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติม ที่ออกโดยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาหรือประเทศที่ได้ทำความตกลงกับประเทศไทย หากประสงค์จะขอให้อธิบดีรับรองแบบตามใบรับรองแบบดังกล่าวเพื่อทำการผลิตในประเทศไทย ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดี หากอธิบดีเห็นว่าอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานตามใบรับรองแบบของประเทศนั้นมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานอากาศยานตามมาตรา ๓๔ ให้อธิบดีออกหนังสือรับรองว่าใบรับรองแบบดังกล่าวใช้ได้เช่นเดียวกับใบรับรองแบบตามส่วนนี้การขอให้รับรอง และการรับรองใบรับรองแบบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๑/๑๔ ผู้ได้รับใบรับรองแบบอากาศยานหรือใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติมที่ออกโดยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาหรือประเทศที่ได้ทำความตกลงกับประเทศไทย หรือผู้ขอจดทะเบียนอากาศยานตามใบรับรองแบบดังกล่าว หากประสงค์จะขอให้อธิบดีรับรองแบบตามใบรับรองแบบดังกล่าว เพื่อขอใบสำคัญสมควรเดินอากาศสำหรับอากาศยานที่จดทะเบียนอากาศยานในประเทศไทย ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดี หากอธิบดีเห็นว่าอากาศยานตามใบรับรองแบบของประเทศนั้นมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานอากาศยานตามมาตรา ๓๔ ให้อธิบดีออกหนังสือรับรองว่าใบรับรองแบบดังกล่าวใช้ได้เช่นเดียวกับใบรับรองแบบตามส่วนนี้การขอให้รับรอง และการรับรองใบรับรองแบบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๑/๑๕ แบบชิ้นส่วนรับรองคุณภาพต้องได้มาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานความสมควรเดินอากาศของอากาศยานหรือของส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่คณะกรรมการเทคนิคกำหนดตามมาตรา ๓๔ (๑)แบบที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนรับรองคุณภาพอาจเหมือนกับแบบชิ้นส่วนของผู้อื่นที่ได้รับการรับรองได้ ทั้งนี้ เมื่อไม่เป็นการละเมิดสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์และกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรแบบของชิ้นส่วนรับรองคุณภาพที่ขออนุญาตผลิตตามมาตรา ๔๑/๓๗ ต้องได้รับการรับรองจากอธิบดีพร้อมกับการออกใบอนุญาตผลิตชิ้นส่วนรับรองคุณภาพ มาตรา ๔๑/๑๖ แบบบริภัณฑ์ต้องได้มาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางเทคนิคที่คณะกรรมการเทคนิคกำหนดตามมาตรา ๓๔ (๑)แบบของบริภัณฑ์ที่ขออนุญาตผลิตตามมาตรา ๔๑/๔๗ ต้องได้รับการรับรองจากอธิบดีพร้อมกับการออกใบอนุญาตผลิตบริภัณฑ์ ส่วนที่ ๓
การรับรองการผลิต
มาตรา ๔๑/๑๗ ในส่วนนี้ “การผลิต” หมายความว่า การผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อการพาณิชย์เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่นความในมาตรานี้ ไม่ใช้บังคับแก่การผลิตของหน่วยซ่อมที่ได้รับใบอนุญาตตามความในหมวดนี้ มาตรา ๔๑/๑๘ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการผลิตผลิตภัณฑ์ตามความในส่วนนี้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้(๑) วิธีการผลิตเพื่อให้เป็นไปตามแบบและมาตรฐานตามที่กำหนด(๒) วิธีการทำลายหรือการทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้เครื่องหมายและรหัสปรากฏอยู่บนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตไม่เป็นไปตามแบบหรือมาตรฐาน(๓) ลักษณะ ประเภท หรือชนิดของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต รวมทั้งวัตถุดิบหรือสิ่งที่จะนำมาใช้ในการผลิต(๔) การจัดให้มีคู่มือการทำงานเกี่ยวกับการผลิต(๕) การจัดให้มีบันทึกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต ตลอดจนการเก็บรักษาบันทึกดังกล่าวไว้ในสถานที่ผลิต เพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือตรวจสอบ(๖) การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่กำหนด(๗) การควบคุมคุณภาพการผลิต(๘) เรื่องอื่นที่เกี่ยวกับการควบคุมการผลิต มาตรา ๔๑/๑๙ ในกรณีที่การออกใบอนุญาตตามบทบัญญัติในส่วนนี้กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเป็นนิติบุคคล และต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำตามที่รัฐมนตรีกำหนด หากทุนจดทะเบียนดังกล่าวมีจำนวนเกินกว่าห้าร้อยล้านบาท รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการบินพลเรือนมีอำนาจประกาศกำหนดให้มีการขออนุญาตเบื้องต้นต่ออธิบดีก่อนการดำเนินการจัดตั้งนิติบุคคลสำหรับกิจการนั้นได้คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นขออนุญาตเบื้องต้น และการอนุญาตเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงในการอนุญาตเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขและระยะเวลาให้ผู้ขออนุญาตเบื้องต้นดำเนินการเพื่อให้มีคุณสมบัติครบถ้วนได้ แต่ต้องไม่เกินหกเดือน และในกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ผู้ขออนุญาตไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว ผู้ขออนุญาตอาจขอขยายระยะเวลาต่ออธิบดีได้อีกหนึ่งครั้ง และอธิบดีอาจอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้แต่ต้องไม่เกินสามเดือนทุนจดทะเบียนจำนวนเกินกว่าห้าร้อยล้านบาทขึ้นไปตามวรรคหนึ่ง อาจกำหนดให้มากกว่านั้นได้ตามจำนวนและเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ๑. การผลิตอากาศยานและส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน มาตรา ๔๑/๒๐ การผลิตอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่มีใบรับรองแบบต้องผลิตตามแบบที่ได้รับการรับรองการผลิตอากาศยานหรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่ไม่ต้องมีใบรับรองแบบตามมาตรา ๓๖ วรรคสาม ต้องผลิตให้มีความปลอดภัยในการใช้งานตามหลักเกณฑ์และวิธีการในข้อกำหนดของอธิบดี มาตรา ๔๑/๒๑ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตอากาศยาน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตผลิตอากาศยานจากอธิบดีการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๑/๒๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๑/๓๐ ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานต้องมีคุณสมบัติและลักษณะ ดังต่อไปนี้(๑) เป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๔๑/๒๓(๒) มีเงินทุนเพียงพอแก่การผลิตอากาศยาน ตามจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการบินพลเรือน(๓) มีบุคลากรที่มีความรู้และความชำนาญเพียงพอในการผลิตอากาศยานตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการเทคนิค(๔) ลักษณะอื่นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๑/๒๓ ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักร โดย(๑) มีทุนจดทะเบียนตามจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการบินพลเรือน(๒) มีทุนจดทะเบียนซึ่งเป็นของผู้มีสัญชาติไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา ๔๑/๒๔(๓) มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตอากาศยาน หากมีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการอื่นด้วยต้องเป็นวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตอากาศยานตามที่อธิบดีเห็นชอบ(๔) อำนาจการบริหารกิจการอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา ๔๑/๒๕(๕) กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจจัดการไม่มีลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา ๔๑/๒๖(๖) ต้องได้รับหรือมีสิทธิในใบรับรองแบบอากาศยาน หรือมีสิทธิในแบบอากาศยานที่ไม่ต้องมีใบรับรองแบบตามมาตรา ๓๖ วรรคสาม ที่ประสงค์จะทำการผลิต(๗) ไม่อยู่ในระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตผลิตตามหมวดนี้ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตผลิตตามหมวดนี้มายังไม่ครบสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตผลิต(๘) ลักษณะอื่นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงในกรณีที่เป็นการผลิตอากาศยานที่ไม่ต้องมีใบรับรองแบบตามมาตรา ๓๖ วรรคสาม ผู้ขออาจเป็นนิติบุคคลประเภทอื่นนอกจากที่กำหนดในวรรคหนึ่งก็ได้ มาตรา ๔๑/๒๔ ทุนของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ต้องเป็นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดของทุนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลแต่ละประเภทโดยลำพังหรือหลายประเภทรวมกัน ดังต่อไปนี้(๑) บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย(๒) กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ(๓) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งทุนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดของทุนทั้งหมดเป็นของบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย ทั้งนี้ หุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ ให้นับเป็นทุนของบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(๔) ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดทั้งหมดมีสัญชาติไทยและทุนของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดเป็นของบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย(๕) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียน ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดมีสัญชาติไทย(๖) นิติบุคคลอื่น ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักร และในกรณีที่นิติบุคคลดังกล่าวมีนิติบุคคลเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วน นิติบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนนั้น จะต้องมีทุนเป็นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรานี้ด้วย มาตรา ๔๑/๒๕ อำนาจการบริหารกิจการของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าอำนาจการบริหารกิจการ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย(๑) มีกรรมการที่ไม่มีสัญชาติไทยตั้งแต่กึ่งหนึ่งขึ้นไป(๒) ผู้จัดการหรือผู้มีอำนาจจัดการไม่มีสัญชาติไทย หรือ(๓) มีการบริหารที่อยู่ภายใต้การครอบงำของผู้ไม่มีสัญชาติไทยตามลักษณะและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าการผลิตอากาศยานของผู้ขอรับใบอนุญาตต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการเทคนิคมีอำนาจ ยกเว้นคุณสมบัติตามมาตรานี้ให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตนั้นได้ แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันได้รับใบอนุญาตผลิตอากาศยานแบบนั้น มาตรา ๔๑/๒๖ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจจัดการของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้(๑) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ(๒) เป็นบุคคลล้มละลาย(๓) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ(๔) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจจัดการของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตผลิตอากาศยานอันเป็นผลมาจากการบริหารกิจการของผู้นั้น(๕) เคยถูกลงโทษทางวินัยให้พ้นจากตำแหน่งในส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่(๖) เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(๗) เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอันเนื่องจากกระทำความผิดที่กระทบต่อความไว้วางใจของประชาชนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง(๘) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจจัดการของนิติบุคคลที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการอันเนื่องจากกระทำความผิดที่กระทบต่อความไว้วางใจของประชาชนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง(๙) ลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๑/๒๗ ก่อนออกใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ให้อธิบดีตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอแบบอากาศยานที่ขออนุญาตผลิต ตลอดจนสถานที่และวิธีการผลิตของผู้ขออธิบดีจะออกใบอนุญาตผลิตอากาศยานให้แก่ผู้ขอได้ เมื่อปรากฏว่า(๑) ผู้ขอมีคุณสมบัติและลักษณะตามมาตรา ๔๑/๒๒(๒) ผู้ขอมีขีดความสามารถที่จะผลิตอากาศยานได้ถูกต้องตามใบรับรองแบบหรือตามแบบที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในกรณีที่เป็นการผลิตอากาศยานที่ไม่ต้องมีใบรับรองแบบตามมาตรา ๓๖ วรรคสาม และ(๓) ผู้ขอได้จัดให้มีการควบคุมคุณภาพการผลิตตามมาตรา ๔๑/๑๘ (๗)ในการออกใบอนุญาตผลิตอากาศยาน อธิบดีอาจกำหนดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับการผลิตได้ตามที่เห็นสมควรใบอนุญาตผลิตอากาศยานให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๔๑/๒๘ ใบอนุญาตผลิตอากาศยานให้มีอายุคราวละไม่เกินสามสิบปี ทั้งนี้ การกำหนดอายุใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๑/๒๙ การขอต่ออายุใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นคำขอต่ออธิบดีก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุอย่างน้อยหกสิบวัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงเมื่ออธิบดีได้ตรวจสอบคุณสมบัติและขีดความสามารถของผู้ขอแล้ว หากปรากฏว่าผู้ขอคงมีคุณสมบัติและมีขีดความสามารถในการผลิตได้ตามใบอนุญาต ให้อธิบดีต่ออายุใบอนุญาต ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๑/๒๘เมื่อได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตดำเนินการผลิตอากาศยานนั้นต่อไปได้ จนกว่าอธิบดีจะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต มาตรา ๔๑/๓๐ ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานเป็นผู้ได้รับใบรับรองแบบ ผู้ขออาจขอให้อธิบดีออกใบอนุญาตผลิตอากาศยานเป็นการชั่วคราวสำหรับการผลิตตามใบรับรองแบบนั้นได้ และให้อธิบดีมีอำนาจออกใบอนุญาตผลิตอากาศยานเป็นการชั่วคราวได้เป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต แต่ไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ผู้ขอได้รับใบรับรองแบบ โดยให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๔๑/๑๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลมการควบคุมการผลิตตามใบอนุญาตผลิตอากาศยานเป็นการชั่วคราวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงในกรณีที่พ้นระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง แต่ผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตอากาศยานเป็นการชั่วคราวยังไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้รับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตมีคำขอ ให้อธิบดีมีอำนาจขยายระยะเวลาได้อีกหนึ่งครั้ง แต่ทั้งนี้ไม่เกินหนึ่งปี