ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

พระราชบัญญัติ
การเดินเรือในน่านน้ำไทย
พระพุทธศักราช ๒๔๕๖
                  
 
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า ได้ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยที่ได้ตราขึ้นไว้ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๔ นั้น ยังมีบกพร่องอยู่หลายประการ สมควรจะเปลี่ยนแก้ให้สมกับกาลสมัย เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้แทน ดังต่อไปนี้
 
ความเบื้องต้น
และอธิบายบางคำที่ใช้ ในพระราชบัญญัตินี้
                  
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖”
 
มาตรา ๒ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายตั้งแต่ วันที่ ๑ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด ไม่ว่าจะใช้เพื่อบรรทุกลำเลียง โดยสาร ลาก จูง ดัน ยก ขุดหรือลอก รวมทั้งยานพาหนะอย่างอื่นที่สามารถใช้ในน้ำได้ ทำนองเดียวกัน
“เรือกำปั่น” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยเครื่องจักรกลหรือด้วยใบ และไม่ได้ใช้กรรเชียง แจวหรือพาย
“เรือกำปั่นไฟ” หรือ “เรือกลไฟ” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยเครื่องจักรจะใช้ใบด้วยหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมตลอดถึงเรือกำปั่นยนต์ด้วย
“เรือกำปั่นยนต์” หรือ “เรือยนต์” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยเครื่องยนต์จะใช้กำลังอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม
“เรือกำปั่นใบ” หรือ “เรือใบ” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยใบและไม่ใช้เครื่องจักรกล
“เรือกล” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยเครื่องจักรกล และใช้กำลังอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม
“เรือกลไฟเล็ก” หมายความว่า เรือที่มีขนาดต่ำกว่าสามสิบตันกรอสส์ที่เดินด้วยเครื่องจักร
“เรือเดินทะเล” หรือ “เรือทะเล” หมายความว่า เรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทะเล ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ
“เรือเล็ก” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยกรรเชียง แจวหรือพาย
“เรือโป๊ะ” หรือ “เรือโป๊ะจ้าย” หมายความว่า เรือทะเลที่มีรูปร่างแบบยุโรปและเครื่องเสาเพลาใบอย่างแบบจีน หรือแบบประเทศใด ๆ ในเอเซีย
“เรือเป็ดทะเลและอื่น ๆ” หรือ “เรือเป็ดทะเลและเรืออื่น ๆ” หมายความว่า เรือที่ใช้ใบในเวลาเดินทะเล และใช้ใบหรือกรรเชียงหรือแจวในเวลาเดินในลำแม่น้ำ และให้หมายความรวมตลอดถึงเรือฉลอมทะเล เรือเท้งฉลอมท้ายญวน หรือเรือสามก้าวด้วย
“เรือสำเภา” หมายความว่า เรือเดินทะเลต่ออย่างแบบจีน หรือแบบประเทศใด ๆ ในเอเซีย
“เรือบรรทุกสินค้า” หมายความว่า เรือที่ไม่มีดาดฟ้าหรือมีไม่ตลอดลำ เดินด้วยกรรเชียง แจว หรือพาย หรือบางทีใช้ใบ และใช้สำหรับบรรทุกสินค้า
“เรือลำเลียง” หมายความว่า เรือที่มิใช่เรือกล และใช้สำหรับลำเลียง หรือขนถ่ายสินค้าจากเรือกำปั่น หรือบรรทุกสินค้าส่งเรือกำปั่น
“เรือลำเลียงทหาร” หมายความว่า เรือที่ใช้ในการลำเลียงทหารทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเรือของทางราชการทหารหรือไม่ก็ตาม
“เรือโดยสาร” หมายความว่า เรือที่บรรทุกคนโดยสารเกินสิบสองคน
“เรือสินค้า” หมายความว่า เรือที่มิใช่เรือโดยสาร
“เรือประมง” หมายความว่า เรือที่ใช้สำหรับการจับสัตว์น้ำ หรือทรัพยากรที่มีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ในทะเล
“เรือสำราญและกีฬา” หมายความว่า เรือที่ใช้สำหรับหาความสำราญ หรือเรือที่ใช้เพื่อการเล่นกีฬาโดยเฉพาะ และไม่ได้ใช้เพื่อการค้าการทหาร หรือการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์
“เรือไม้ที่ต่อแบบโบราณ” หมายความว่า เรือใบเสาเดียว เรือสำเภาหรือเรือไม้ ที่ต่อตามแบบเรือที่ใช้อยู่ในสมัยโบราณ
“แพ” หมายความรวมตลอดถึงโป๊ะ อู่ลอย และสิ่งลอยน้ำอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
“แพคนอยู่” หมายความว่า เรือนที่ปลูกอยู่บนแพ และลอยอยู่ในลำแม่น้ำหรือลำคลอง
“ตันกรอสส์” หมายความว่า ขนาดของเรือที่คำนวณได้ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือตามมาตรา ๑๖๓
“น่านน้ำไทย” หมายความว่า บรรดาน่านน้ำที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของราชอาณาจักรไทยและในกรณีตามมาตรา ๑๗ มาตรา ๑๑๙ มาตรา ๑๑๙ ทวิ มาตรา ๑๒๐ มาตรา ๑๒๑ มาตรา ๑๓๓ มาตรา ๒๐๔ และมาตรา ๒๒๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ให้หมายความรวมถึงน่านน้ำที่อยู่ในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยด้วย
“เมืองท่า” หมายความว่า ทำเล หรือถิ่นที่จอดเรือเพื่อขนถ่ายคนโดยสารหรือของ
“นายเรือ” หมายความว่า ผู้ควบคุมเรือกำปั่น หรือเรืออื่น ๆ แต่ไม่รวมถึงผู้นำร่อง
“คนประจำเรือ” หมายความว่า คนที่มีหน้าที่ทำการประจำอยู่ในเรือ
“ลูกเรือ” หมายความว่า คนประจำเรือนอกจากนายเรือ
“คนโดยสาร” หมายความว่า คนที่อยู่ในเรือ เว้นแต่
(๑) คนประจำเรือ หรือผู้อื่นที่รับจ้างทำงานในเรือนั้น
(๒) เด็กที่มีอายุต่ำกว่าหนึ่งปี
“เจ้าท่า” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*มอบหมาย
“เจ้าพนักงานออกใบอนุญาต” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*มอบหมายให้ทำการออกใบอนุญาต
“เจ้าพนักงานตรวจเรือ” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจเรือตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๔ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๕ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๖ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๗ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๘ ในพระราชบัญญัตินี้แห่งใดมีบัญญัติว่าด้วยการออกอนุญาตอย่างใด ๆ ตามซึ่งเจ้าท่าเห็นจำเป็นจะต้องออกเป็นหนังสือ ให้เจ้าท่ามีอำนาจเรียกค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตเช่นนั้นตามอัตราที่กำหนดโดยกฎกระทรวงแต่ไม่เกิน หนึ่งร้อยบาท
 
มาตรา ๙  พระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยรัตนโกสินทร ศก ๑๒๔ ประกาศลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕ ว่าด้วยการตั้งศาลทะเล ประกาศลงวันที่ ๑๙ มีนาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕ ว่าด้วยการออกใบอนุญาตสำหรับเรือบรรทุกสินค้าและเรือเล็ก และประกาศลงวันที่ ๒๒ เมษายน รัตนโกสินทร ศก ๑๒๙ ว่าด้วยเรือกลไฟที่ใช้สำหรับรับจ้างนั้น ท่านให้ยกเลิกเสีย แต่การที่ยกเลิกนี้ท่านว่ามิได้เกี่ยวแก่การอย่างใดที่ได้มีผู้กระทำไว้แต่ก่อน หรือแก่ความผิดอย่างใดซึ่งได้กระทำไว้แต่ก่อนเวลาประกาศให้ใช้พระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๑๐ กฎสำหรับป้องกันมิให้เรือโดนกัน พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ นั้น ท่านว่ามิใช่สำหรับแต่เรือกำปั่นไทยฝ่ายเดียว ให้ใช้ได้ตลอดถึงเรือกำปั่นทั้งหลายที่เดินในบรรดาเขตท่า และเขตที่ทอดจอดเรือของพระราชอาณาจักรไทย แต่อย่าให้ขัดกับพระราชบัญญัตินี้ เมื่อจะต้องเป็นการขัดเช่นนั้นไซร้ ต้องให้ถือเอาข้อบังคับในพระราชบัญญัตินี้เป็นใหญ่ ดังได้ว่าไว้ในข้อ ๓๐ แห่งกฎนั้น และท่านว่า ผู้เป็นเจ้าของและเป็นนายเรือทุกลำ ต้องถือและกระทำตามกฎนั้นจงทุกประการ
 
มาตรา ๑๑ การลงโทษจำคุกหรือปรับนั้น ถ้าจำเลยเป็นคนในบังคับต่างประเทศซึ่งมีกงสุลผู้แทน ที่มีอำนาจฝ่ายตุลาการสำหรับประเทศนั้นตั้งอยู่ในพระราชอาณาจักรไทย ท่านว่าต้องเป็นหน้าที่ของศาลกงสุลนั้นบังคับให้เป็นไปตามโทษานุโทษ
 
ภาค ๑
ข้อบังคับทั่วไป
                  
 
หมวดที่ ๑
ทางเดินเรือ เขตท่าเรือ เขตจอดเรือ และเขตควบคุมการเดินเรือ
                  
 
มาตรา ๑๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวง ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดแนวแม่น้ำลำคลองหรือทะเลอาณาเขตแห่งใดเป็นเขตท่าเรือและเขตจอดเรือ
(๒) กำหนดทางเดินเรือทั่วไปและทางเดินเรือในเขตท่าเรือนอกจากทางเดินเรือในเขตท่าเรือกรุงเทพ ฯ
(๓) กำหนดแนวทะเลแห่งใดภายในน่านน้ำไทยเป็นเขตควบคุมการเดินเรือ
 
มาตรา ๑๓ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๑๔ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๑๕ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๑๖ (ยกเลิก)
 
หมวดที่ ๒
หน้าที่นายเรือเมื่อเวลาเรือเข้ามาหรือออกจากน่านน้ำไทย
                  
 
มาตรา ๑๗ เรือกำปั่นตามประเภทที่เจ้าท่าประกาศกำหนดลำใด เมื่อเข้ามาในน่านน้ำไทย นายเรือต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) แจ้งต่อเจ้าท่า
(๒) ชักธงสำหรับเรือนั้นขึ้นไว้ให้ปรากฏ
(๓) ติดตั้งและเปิดใช้โคมไฟตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น
การปฏิบัติตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เจ้าท่าประกาศกำหนด
 
มาตรา ๑๘ เรือกลที่เป็นเรือเดินทะเล และเป็นเรือไทยขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสส์ขึ้นไป และเรือกำปั่นต่างประเทศ เมื่อเข้ามาในเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทย นายเรือต้องรายงานการเข้ามาถึงต่อเจ้าท่าตามแบบพิมพ์ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่จอดเรือเรียบร้อย
 
มาตรา ๑๙ เรือกลที่เป็นเรือเดินทะเลและเป็นเรือไทยขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสส์ขึ้นไป และเรือกำปั่นต่างประเทศที่เตรียมจะออกไปจากเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทย นายเรือต้องชักธงลา (คือธงที่เรียกว่าบลูปีเตอร์) ถ้าเรือกำหนดออกในเวลาบ่ายให้ชักธงขึ้นในเวลาเช้า ถ้าเรือกำหนดออกในเวลาเช้าให้ชักธงขึ้นในเวลาบ่ายของวันก่อน
 
มาตรา ๒๐ เรือกำปั่นต่างประเทศ เมื่อเข้ามาในเมืองท่าของประเทศไทย ซึ่งมิได้กำหนดเป็นเขตท่าเรือ นายเรือต้องรายงานการเข้ามาหรือออกไปต่อเจ้าท่าภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เรือเข้ามาหรือก่อนเรือออกไป และต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าท่า
 
มาตรา ๒๑ เรือกลที่เป็นเรือเดินทะเลและเป็นเรือไทยขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสส์ขึ้นไป เมื่อจะออกจากเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทย นายเรือต้องแจ้งกำหนดออกเรือต่อเจ้าท่าก่อนออกเรือเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกชั่วโมง เพื่อให้เจ้าท่าตรวจสอบว่าปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เสียก่อน เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้ว จึงอนุญาตให้ออกเรือได้
 
มาตรา ๒๒ เรือกำปั่นที่ใช้เดินทะเลระหว่างประเทศลำใดที่ต้องมีใบสำคัญตามที่กำหนดในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือตามมาตรา ๑๖๓ เมื่อจะออกจากเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทย นายเรือต้องแจ้งกำหนดออกเรือต่อเจ้าท่าก่อนออกเรือเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกชั่วโมง เพื่อให้เจ้าท่าตรวจใบอนุญาตใช้เรือและใบสำคัญดังกล่าว ตลอดจนอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ให้ถูกต้องและใช้การได้
 
มาตรา ๒๓ เรือกลที่เป็นเรือเดินทะเลและเป็นเรือไทย และเรือกำปั่นต่างประเทศที่ต้องมีใบสำคัญตามที่กำหนดในกฎข้อบังคับ สำหรับการตรวจเรือตามมาตรา ๑๖๓ เมื่อจะออกจากเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทยยังเมืองท่าต่างประเทศ นายเรือจะต้องได้รับใบอนุญาตเรือออกจากท่าจากเจ้าท่าเสียก่อน
 
มาตรา ๒๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
 
มาตรา ๒๕ เพื่อการรักษาความปลอดภัยทางน้ำ ห้ามมิให้นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือเดินเรือเข้าไปในเขตควบคุมการเดินเรือ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นและได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า
นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งยึดใบประกาศนียบัตรควบคุมเรือ มีกำหนดไม่เกินหกเดือน
นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ถูกยึดใบประกาศนียบัตรควบคุมเรือตามวรรคสอง ต้องระวางโทษปรับหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๒๖ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๒๗ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๒๘ (ยกเลิก)
 
หมวดที่ ๓
ว่าด้วยทำเลทอดจอดเรือ
                  
 
มาตรา ๒๙ ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ถ้าเรือกำปั่นลำใดที่มิได้ผูกจอดเทียบท่าเรือหรือท่าโรงพักสินค้า เรือกำปั่นลำนั้นต้องทอดสมอจอดอยู่กลางลำน้ำด้วยสมอสองตัว มีสายโซ่ให้พอทั้งสองตัวเพื่อกันมิให้เรือเกาสมอเคลื่อนจากที่นั้นได้
 
มาตรา ๓๐ เรือเก็บสินค้า เรือท้องแบน และเรือใด ๆ ที่ทอดจอดประจำอยู่นั้น ต้องผูกจอดอยู่กับสมอทุ่นอย่างมั่นคงสมกับกำลังของสายโซ่ที่ทอดอยู่นั้น
 
มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้เรือกำปั่น เรือเก็บสินค้า เรือท้องแบนอย่างใด ๆ ทอดสมอ หรือผูกจอดอยู่ในทางเรือเดินในลำแม่น้ำเป็นอันขาด
 
มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้เรือกำปั่นลำใดที่ผูกจอดเทียบท่าเรือ ท่าพักสินค้า หรือเทียบฝั่งนั้น ทอดสมอลงไปในแม่น้ำห่างจากหัวเรือเกินกว่าสามสิบเมตร
 
มาตรา ๓๓ เรือลำใดที่เจ้าท่าไม่ยอมออกใบอนุญาตให้หรือเรียกคืนหรือยึดใบอนุญาตไว้ โดยเรือนั้นมีความไม่สมประกอบสำหรับเดินทะเลนั้น ต้องให้ผูกจอดทอดไว้ ในที่ใดที่หนึ่งซึ่งเจ้าท่าจะกำหนดให้
 
มาตรา ๓๔ เรือโป๊ะ หรือเรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง เรือสำเภา เรือบรรทุกสินค้า เรือเป็ดทะเล และเรืออื่น ๆ ต้องจอดทอดสมอกลางแม่น้ำ และถ้าไม่เป็นการขัดขวาง ก็ให้ทอดจอดค่อนข้างฝั่งตะวันตก แต่ต้องไว้ช่องทางเรือเดินไม่น้อยกว่าร้อยเมตร ในระหว่างเรือกับฝั่งตะวันตก หรือกับบรรดาเรือที่จอดเทียบฝั่งตะวันตก หรือกับแพคนอยู่ที่ผูกเทียบอยู่กับฝั่งตะวันตก
 
มาตรา ๓๕ บรรดาเรือโป๊ะหรือเรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง เรือสำเภาเรือบรรทุกสินค้า เรือเป็ดทะเล และเรืออื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้การนั้น ต้องให้ถอยไปอยู่ที่ทำเลสำหรับทอดจอดเรือ แห่งใดแห่งหนึ่งในเขตท่าตามที่เจ้าท่าเห็นสมควรจะกำหนดตามครั้งคราว และประกาศให้ทราบทั่วกันในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุในท้องที่ตั้งแต่สองรายขึ้นไป
 
มาตรา ๓๖ ห้ามมิให้เรือกำปั่นเดินทะเลลำใดจอดทอดสมอตามลำแม่น้ำ ในระหว่างคลองสะพานหันกับคลองบางลำภูบน เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็น เพราะในระหว่างสองตำบลนั้นเป็นที่ทอดจอดเรือรบไทย และบรรดาเรือกำปั่นเดินทะเลหรือเรือรบต่างประเทศจะแล่น หรือมีเรืออื่นจูงผ่านคลองสะพานหันขึ้นไปตามลำแม่น้ำนั้น ให้ถือว่าเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตพิเศษจากเจ้าท่า และโดยอาศัยข้อบังคับกำกับอนุญาตนั้นอยู่ด้วยตามซึ่งเจ้าท่าจะเห็นสมควร
 
มาตรา ๓๗ ถ้าไม่มีเหตุฉุกเฉินอันจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น ห้ามมิให้เรือกำปั่นลำใดจอดทอดสมอในลำแม่น้ำระหว่างวัดบุคคะโลกับในระยะทางสองร้อยเมตรใต้ปากคลองบางปะแก้ว และระหว่างปากคลองผดุงกับคลองสำเพ็ง เพราะในระหว่างตำบลเหล่านี้เป็นทำเลยกเว้นไว้สำหรับทางให้เรือเดินขึ้นล่อง
 
มาตรา ๓๘ เรือกำปั่นทุกลำที่บรรทุกคนโดยสารหรือของจากเมืองท่าหรือตำบลใด ๆ ในต่างประเทศเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือเรือใด ๆ ที่เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยขนถ่ายคนโดยสารหรือของจากเรือกำปั่นที่มาจากต่างประเทศ เมื่อผ่านด่านสมุทรปราการแล้ว ถ้าจะส่งคนโดยสารหรือของที่บรรทุกมานั้นขึ้นบก ต้องจอด ณ ที่จอดเรือ หรือเทียบท่าเทียบเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เว้นไว้แต่เมื่อที่จอดเรือหรือท่าเทียบเรือไม่ว่างพอจะจอดหรือเทียบได้ หรือเพราะเหตุจำเป็นอย่างอื่น ซึ่งถ้าตรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดไว้ และอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ลงนามอนุญาตแล้ว จึงจะเข้าจอดหรือเทียบในที่ที่ได้รับอนุญาตได้
คณะกรรมการดังกล่าวในวรรคหนึ่งให้มีจำนวนห้าคน ประกอบด้วยอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมศุลกากรและผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และบุคคลอื่นอีกสองคน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้ง
 
มาตรา ๓๘ ทวิ การประชุมของคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามความในมาตรา ๓๘ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่สามารถมาประชุม ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธาน
การลงมติวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้นั่งเป็นประธานออกเสียงอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
 
มาตรา ๓๘ ตรี ภายใต้บังคับมาตรา ๓๘ ให้เจ้าท่ามีอำนาจที่จะกำหนดที่ทอดจอดเรือสำหรับเรือกำปั่นและเรือเล็กทุกลำ และนายเรือต้องเอาเรือไปทอดจอดตามที่เจ้าท่าจะชี้ให้ และห้ามมิให้เอาเรือไปจากที่นั้น หรือย้ายไปทอดจอดที่อื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็นซึ่งเจ้าท่าจะพิเคราะห์เห็นสมควร
เมื่อเรือกำปั่นลำใดกำลังเข้ามา นายเรือจะต้องยอมให้เจ้าท่าขึ้นไปบนเรือ และถ้าจำเป็นจะหยุดเรือรอรับก็ต้องหยุด
 
มาตรา ๓๘ จัตวา นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือลำใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๓๘ ตรี ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามพันบาทถึงสามหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
มาตรา ๓๙ เรือกำปั่นลำใดเมื่อเข้ามาถึงในเขตท่าแล้ว มิได้กระทำการถ่ายสินค้าหรือขนสินค้าขึ้นเรืออย่างหนึ่งอย่างใด นับตั้งแต่ ๑๐ วันขึ้นไปก็ดี ท่านว่าถ้าจะต้องการเอาที่ซึ่งเรือลำนั้นจอดอยู่ให้เรืออื่นที่ใช้ในการค้าขายทอดจอด ก็ให้ถอยเรือที่ไม่ได้ทำการเช่นว่านั้น ไปทอดจอดในที่อื่นภายในเขตท่าตามที่เจ้าท่าจะกำหนดให้
 
มาตรา ๔๐ เรือกำปั่นลำใดต้องการจะเปลี่ยนที่ทอดจอด หรือเรือกำปั่นลำใดที่เทียบท่าเรือ หรือท่าสินค้าต้องการจะหาที่ทอดจอดในลำแม่น้ำก็ให้ชักธงสัญญาณอักษร “B.A.Z.” (บี เอ แซด) ตามแบบข้อบังคับระหว่างนานาประเทศสำหรับการใช้ธงสัญญาณ แล้วเจ้าท่าจะได้ขึ้นไปบนเรือลำนั้นและชี้ให้ทอดจอด
 
มาตรา ๔๑ เรือกำปั่นลำใดต้องการให้กองตระเวนมาช่วยก็ให้ชักธงสัญญาณหมายอักษร “S.T.” (เอส ที) ตามแบบข้อบังคับระหว่างนานาประเทศสำหรับการใช้ธงสัญญาณ ถ้ามีเหตุสำคัญขัดขืนต่อการบังคับบัญชาเกิดขึ้นในเรือฉะนั้นแล้ว ให้ชักธงสัญญาณหมายอักษร “R.X.” (อาร์ เอกซ์)
 
มาตรา ๔๒ ก่อนที่เรือกำปั่นไฟหรือเรือกำปั่นใบเดินทะเลลำใดจอดทอดหรือผูกจอดเป็นปรกตินั้น ห้ามมิให้เรืออื่นเข้าไปเทียบข้าง ให้เข้าเทียบได้แต่เฉพาะเรือไฟเล็กและเรือเล็กของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* หรือของเจ้าพนักงานแพทย์ศุขา หรือของกรมศุลกากร หรือของผู้นำร่อง หรือเรือของกระทรวงทหารเรือซึ่งจะมีหน้าที่พิเศษ
ในเวลาที่เรือกำปั่นลำใดที่กำลัง แล่นขึ้น หรือล่องในลำแม่น้ำนั้น ห้ามเป็นอันขาดมิให้เรือจ้าง เรือบรรทุกสินค้าหรือเรือเล็กหรือเรืออย่างใด ๆ เข้าไปเกี่ยวพ่วงข้าง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษของนายเรือลำนั้น
 
มาตรา ๔๓ เมื่อจะทอดจอดเรือกำปั่นลำใด นายเรือหรือผู้นำร่องต้องทอดจอดเรือนั้น โดยให้กินเนื้อที่อย่างน้อยที่สุดที่จะเป็นได้และความบังคับข้อนี้ เจ้าท่าต้องระวังเป็นธุระอยู่เสมอให้มีผู้ปฏิบัติตามโดยถูกต้อง
 
มาตรา ๔๔ ตามลำแม่น้ำเล็ก และในคลองต่าง ๆ นั้นอนุญาตให้จอดเรือต่าง ๆ ได้ทั้งสองฟาก แต่อย่าให้เป็นที่กีดแก่ทางเรือขึ้นล่องที่กลางลำน้ำ และห้ามไม่ให้จอดซ้อนลำหรือจอดขวาง หรือตรงกลางลำน้ำลำคลองเป็นอันขาด
 
มาตรา ๔๕ เรือกำปั่นเรือเล็กและแพต่าง ๆ ที่จอดเทียบฝั่งแม่น้ำหรือเทียบท่าสินค้า หรือท่าเรือนั้น ห้ามมิให้จอดขวางลำน้ำ ต้องจอดให้หัวเรือท้ายเรือ หัวแพท้ายแพหันตามยาวของทางน้ำ
 
มาตรา ๔๕/๑ ให้เจ้าท่าโดยคำแนะนำของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจประกาศกำหนดแนวแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ หรือทะเล อาณาเขต เป็นเขตห้ามจอดเรือหรือแพ
นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศในวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละห้าร้อยบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องและให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งยึดใบประกาศนียบัตรควบคุมเรือมีกำหนดไม่เกินหกเดือน
นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ถูกยึดใบประกาศนียบัตรควบคุมเรือตามวรรคสอง ต้องระวางโทษปรับหนึ่งหมื่นบาท
ความในวรรคสองให้ใช้กับผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ควบคุมแพและแพคนอยู่ด้วย
 
มาตรา ๔๖ ตามท่าขนสินค้าและท่าขึ้นทั้งสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือตามสองข้างเรือกำปั่นก็ดี ห้ามมิให้เรือบรรทุกสินค้า เรือไฟเล็ก เรือเป็ดทะเลและเรืออื่น ๆ จอดหรือผูกเทียบซ้อนกันเกินกว่าสองลำ ถ้าเป็นแพคนอยู่ห้ามมิให้จอดเทียบหน้าแพเกินกว่าลำหนึ่ง
 
มาตรา ๔๖ ทวิ ให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งห้ามใช้และให้แก้ไขท่ารับส่งคนโดยสาร ท่ารับส่งสินค้า ท่าเทียบเรือ และแพในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านไทย ซึ่งมีสภาพไม่ปลอดภัยในการใช้ หรืออาจเกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือแก่การเดินเรือ โดยแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบเป็นหนังสือ ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้ปิดคำสั่งไว้ ณ ท่ารับส่งคนโดยสาร ท่ารับส่งสินค้า ท่าเทียบเรือ หรือแพนั้น และให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับคำสั่งนั้นแล้ว
เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งได้รับคำสั่งจากเจ้าท่าตามความในวรรคหนึ่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งห้ามใช้นั้นมีผลบังคับได้ ในกรณีไม่มีอุทธรณ์คำสั่ง หรือมีอุทธรณ์แต่รัฐมนตรีสั่งให้ยกอุทธรณ์ และเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ปฏิบัติตามคำสั่งภายในเวลาที่เจ้าท่ากำหนดหรือภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้เจ้าท่ามีอำนาจจัดการแก้ไขให้เป็นไปตามคำสั่ง โดยคิดค่าใช้จ่ายจากเจ้าของหรือผู้ครอบครอง
เมื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้แก้ไขเสร็จเรียบร้อยตามคำสั่งแล้ว ให้เจ้าท่าเพิกถอนคำสั่งห้ามใช้ ในกรณีที่เจ้าท่าจัดการแก้ไขเอง จะรอการเพิกถอนคำสั่งห้ามใช้ไว้จนกว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองจะชำระค่าใช้จ่ายให้เจ้าท่าก็ได้
เจ้าของหรือผู้ครอบครองคนใดใช้เอง หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ท่ารับส่งคนโดยสาร ท่ารับส่งสินค้า ท่าเทียบเรือ หรือแพ ซึ่งเจ้าท่า มีคำสั่งห้ามใช้ และยังไม่ได้เพิกถอนคำสั่งนั้น ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามพันบาทถึงสามหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
มาตรา ๔๗ ห้ามมิให้แพไม้ซุงที่กว้างกว่ายี่สิบต้นซุง จอดผูกเทียบข้างเรือกำปั่น หรือเทียบท่าขนสินค้าหรือท่าขึ้น และห้ามมิให้เรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง หรือเรือสำเภาผูกจอดผูกเทียบข้างเรือกำปั่นมากกว่าข้างละหนึ่งลำ และห้ามมิให้เรือเช่นว่ามานี้จอดผูกเทียบท่าของสินค้าหรือท่าขึ้นมากกว่าสองลำ
 
มาตรา ๔๘ ห้ามมิให้เรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง เรือสำเภา เรือบรรทุกสินค้า เรือกลไฟเล็ก และเรือ และแพไม้ต่าง ๆ จอดผูกกับฝั่งแม่น้ำมากลำหรือโดยอย่างที่ให้ล้ำออกมาในทางเรือเดิน หรือจนเป็นที่กีดขวางแก่การเดินเรือ
 
มาตรา ๔๙ เรือกำปั่น หรือเรือเล็กที่จอดมากกว่าสองลำในแม่น้ำนอกแนวเรืออื่น ๆ หรือนอกแนวแพคนอยู่ ซึ่งจอดอยู่ในท้องที่เดียวกันนั้น ท่านให้ถือว่าเรือกำปั่นหรือเรือเล็กนั้น เท่ากับจอดล้ำออกมาในทางเรือเดิน
 
มาตรา ๕๐ ข้อห้ามต่าง ๆ ที่ว่ามาแล้วในมาตรา ๔๖ และ ๔๗ นั้น เจ้าท่าจะเห็นสมควรลดหย่อนโดยให้อนุญาตพิเศษก็ได้
 
มาตรา ๕๑ นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือหรือแพผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ หรือมาตรา ๔๙ ถ้าเป็นเรือกำปั่นต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละห้าร้อยบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องถ้าเป็นเรือเล็กหรือแพ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และปรับเป็นรายวันวันละห้าสิบบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
หมวดที่ ๔
ว่าด้วยทางเดินเรือในลำแม่น้ำ
                  
 
มาตรา ๕๒ ในเขตท่ากรุงเทพฯ นั้น ให้มีทางเดินเรือสองสาย ดังนี้คือ
(๑) สายตะวันออกเรียกว่าสายใหญ่ สายนี้มีเขตโดยกว้างตั้งแต่เรือกำปั่นที่ทอดอยู่กลางแม่น้ำ จนถึงฝั่งตะวันออกหรือถึงแคมเรือกำปั่น หรือแพคนอยู่ที่จอดเทียบฝั่งตะวันออก
(๒) สายตะวันตก สายนี้มีเขต โดยกว้าง ตั้งแต่เรือกำปั่นที่ทอดอยู่กลางแม่น้ำ จนถึงฝั่งตะวันตก หรือถึงแคมเรือกำปั่น หรือแพคนอยู่ที่จอดเทียบฝั่งตะวันตก
 
มาตรา ๕๒ ทวิ เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อความปลอดภัยแก่การเดินเรือ ให้เจ้าท่ามีอำนาจประกาศกำหนดทางเดินเรือและควบคุมการเดินเรือในเขตท่ากรุงเทพฯ และในแม่น้ำลำคลองเป็นการเฉพาะคราวได้
นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศกำหนดทางเดินเรือหรือประกาศควบคุมการเดินเรือตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท และให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งยึดประกาศนียบัตรควบคุมเรือมีกำหนดไม่เกินหกเดือน
นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือที่ถูกยึดประกาศนียบัตรควบคุมเรือตามวรรคสองมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งคำชี้ขาดของรัฐมนตรีเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังไม่ได้ชี้ขาด คำสั่งนั้นมีผลบังคับได้
 
มาตรา ๕๒ ตรี นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือซึ่งถูกยึดประกาศนียบัตรควบคุมเรือผู้ใด ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ประกาศนียบัตรควบคุมเรือถูกยึดตามมาตรา ๕๒ ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท
 
มาตรา ๕๓ แนวลำแม่น้ำทั้งสองฟากภายในระยะสามสิบเมตรห่างจากฝั่งหรือจากแคมเรือกำปั่นที่จอดผูกเทียบฝั่ง หรือจากแพคนอยู่ที่จอดผูกเทียบฝั่งนั้น ให้หวงห้ามไว้สำหรับเป็นทางเดินเรือเล็ก
ห้ามมิให้เรือกำปั่นใช้แนวนั้นเป็นอันขาดนอกจากเป็นเวลาจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เรือโดนกัน หรือเพื่อกลับหรือเคลื่อนเรือจากที่จอด
 
มาตรา ๕๔ นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
 
(ก) ว่าด้วยทางเรือเดินสายตะวันออกหรือสายใหญ่
                  
 
มาตรา ๕๕ เรือกำปั่นไฟทุกขนาด (นอกจากที่ว่าไว้ ในมาตรา ๕๘) และเรือกำปั่นใบทุก ๆ อย่างที่มีขนาดเกินกว่าห้าสิบตัน เมื่อขึ้นล่องในลำแม่น้ำ ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันออก เว้นไว้แต่เมื่อมีเหตุจำเป็น หรือเพื่อจะเข้าจอด หรือออกจากท่า หรือฝั่ง จึงเดินนอกสายนั้นได้และบรรดาเรือที่ว่ามานี้ ต้องเดินโดยช้าที่สุดที่พอสมควรแก่การเดินเรืออย่างระวัง และเพื่อป้องกันอันตรายแก่เรือ และอันตรายที่อาจเกิดจากละลอกคลื่นของเรือนั้น
 
มาตรา ๕๖ นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
 
(ข) ว่าด้วยทางเรือเดินสายตะวันตก
                  
 
มาตรา ๕๗ บรรดาเรือใบขนาดต่ำกว่าห้าสิบตันและเรือทุกอย่างนอกจากได้กล่าวไว้ ในมาตรา ๕๕ นั้น ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก
 
มาตรา ๕๘ บรรดาเรือกำปั่นไฟที่จูงเรืออื่นที่มีขนาดต่ำกว่าสามสิบห้าตันเกินกว่าลำหนึ่งขึ้นไป ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก
ห้ามมิให้เรือกำปั่นไฟลำใดจูงเรือกำปั่น หรือเรืออย่างอื่นในเขตท่ากรุงเทพฯ มากลำจนเกินกว่ากำลังของเรือกำปั่นไฟลำนั้น จะจูงไปได้ระยะทางชั่วโมงละสองไมล์เป็นอย่างน้อย และห้ามมิให้เรือกำปั่นไฟลำใดที่จูงเรืออยู่นั้น เดินไปโดยระยะทางเกินกว่าชั่วโมงละหกไมล์ในเวลาทวนน้ำ หรือเดินเร็วกว่าชั่วโมงละสี่ไมล์ในเวลาตามน้ำ
ห้ามเป็นอันขาด มิให้จูงเรือเล็กเกินกว่าคราวละสามสิบสองลำเป็นอย่างมาก และห้ามมิให้เรือที่ถูกจูงนั้นผูกเทียบซ้อนลำกันเกินกว่าตับละสี่ลำ
 
มาตรา ๕๙ ในเวลาที่กำลังจะโยงหรือผูกเรือบรรทุกเข้ากับสายโยงนั้น ห้ามมิให้เรือกลไฟลาก หรือเรือไฟเล็กที่เป็นเรือจูงนั้นแล่นรออยู่ในสายทางเรือเดินเป็นอันขาด ถ้าจะใช้สายทางเรือเดินในการจูง เรือจูงเหล่านั้นต้องแล่นอยู่เสมอให้ได้ระยะทางไม่น้อยกว่าชั่วโมงละสองไมล์
 
มาตรา ๖๐ นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ หรือมาตรา ๕๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
 
(ค) ว่าด้วยส่วนของทางเรือเดินทั้งสองสายที่หวงไว้สำหรับให้เรือเล็กเดิน
                  
 
มาตรา ๖๑ เรือเล็กทั้งหลาย เดินในทางเรือเดินได้ทั้งสองสาย
 
มาตรา ๖๒ นอกจากมีเหตุจำเป็น หรือเพื่อจะข้ามฟากไปจอดที่ท่าหรือที่ฝั่ง บรรดาเรือเล็กต้องเดินอยู่ในแนวน้ำ ในระหว่างระยะสามสิบเมตร จากฝั่งหรือจากเรือกำปั่นที่จอดเทียบฝั่งหรือจากแพคนอยู่ที่ผูกจอดกับฝั่งแม่น้ำ
 
มาตรา ๖๓ เรือบรรทุกเข้าต้องเดินได้แต่ในแนวน้ำที่กำหนดไว้สำหรับเป็นทางเดินของเรือเล็กในทางเรือเดินสายตะวันตก และห้ามมิให้ไปเดินในทางเรือเดินสายตะวันออกในตอนหนึ่งตอนใดเป็นอันขาด
 
มาตรา ๖๔ เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อจะข้ามฟากไปจอดที่ท่าหรือที่ฝั่ง และเรือบรรทุกเข้าหรือเรือเล็กจะต้องทำนอกเหนือที่บังคับไว้ในมาตรา ๖๒ และ ๖๓ ฉะนั้น ก็ให้ทำโดยความระวังทุกอย่างที่จะมิให้เป็นการกีดขวางแก่การเดินเรือได้
 
มาตรา ๖๕ ห้ามมิให้เรือบรรทุกเข้าหรือเรือเล็กผ่านหน้าเรือกำปั่นไฟที่กำลังแล่นขึ้นหรือล่องในลำแม่น้ำนั้นใกล้กว่าระยะร้อยเมตร และถ้าจะข้ามฟากไปยังท่าหรือโรงสีห้ามมิให้ตัดข้ามเหนือแห่งที่จะไปนั้นเกินกว่าที่ควร
 
มาตรา ๖๖ บรรดาเรือยนต์ที่ยาวไม่เกินกว่าหกเมตรนั้น ยอมให้เดินได้ในแนวลำแม่น้ำทั้งสองสายที่กำหนดไว้สำหรับให้เรือเล็กเดิน แต่ถ้าจะเดินห่างจากฝั่งภายในระยะสามสิบเมตร ต้องเดินโดยช้าที่สุดพอสมควรแก่การควรระวังเหตุในการเดินเรือ และการควรระวังมิให้เป็นเหตุอันตรายแก่เรือเล็กที่ใช้กรรเชียงหรือแจวพาย
 
มาตรา ๖๗ นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ หรือมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
 
(ฆ) ว่าด้วยทางคลองต่าง ๆ
                  
 
มาตรา ๖๘ ในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ นอกเขตท่าบรรดาเรือที่เดินตามน้ำให้เดินกลางลำแม่น้ำหรือลำคลอง เรือที่เดินทวนน้ำให้เดินแอบฝั่ง ถ้าไม่สามารถจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังว่ามานี้ ให้เดิน.กลางร่องน้ำ และให้ปฏิบัติตามข้อบังคับการเดินเรือแห่งท้องถิ่นซึ่งตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการเดินเรือในลำแม่น้ำหรือคลองนั้น ๆ ด้วย
ให้เจ้าท่าหรือข้าหลวงประจำจังหวัดในท้องถิ่นที่ไม่มีเจ้าท่า มีอำนาจออกข้อบังคับควบคุมการเดินเรือในแม่น้ำและลำคลองใด ๆ ซึ่งอยู่ในเขตท้องถิ่นของตนได้ ข้อบังคับนั้นเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
 
มาตรา ๖๙ นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๘ หรือข้อบังคับที่ออกตามมาตรา ๖๘ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
 
หมวดที่ ๕
ว่าด้วยแพไม้ แพคนอยู่ ฯลฯ
                  
 
(ก) แพไม้
                  
 
มาตรา ๗๐ แพไม้ต่าง ๆ ต้องมีคนประจำให้พอแก่การที่จะควบคุมรักษาแพโดยเรียบร้อย และคนประจำแพต้องระวังอย่างที่สุดที่จะเป็นได้เพื่อไม่ให้แพกีดขวางแก่การเดินเรือ หรือโดนกับแพคนอยู่ หรือเรือที่ทอดจอดอยู่ในลำแม่น้ำ แพไม้ทุก ๆ แพต้องชักธงเครื่องหมายของเจ้าของแพ และธงสำหรับเช่นนี้ต้องจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี* แพใดมีซุงกี่ต้นและกำหนดจะมาถึงเขตท่ากรุงเทพฯ ได้เมื่อใดนั้น เจ้าของแพต้องทำหนังสือแจ้งความล่วงหน้าให้เจ้าท่าทราบ
 
มาตรา ๗๑ ห้ามมิให้แพไม้จอดผูกติดกับเรือกำปั่นหรือหลักหรือแพคนอยู่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายเรือหรือเจ้าของหลักเจ้าของแพนั้น ๆ
 
มาตรา ๗๒ ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ แพไม้ต่าง ๆ ที่จะล่องหรือจูงลงมานั้น ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก ถ้าจะเดินในสายตะวันออก ต้องเดินได้แต่แพไม้ที่มีเรือจูง แพไม้แพหนึ่งต้องมีซุงไม่เกินกว่าสองร้อยต้น หรือกว้างเกินกว่ายี่สิบเมตร
 
มาตรา ๗๓ ห้ามมิให้ล่องแพไม้ขึ้นลงในลำแม่น้ำในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น
 
มาตรา ๗๔ ในคลอง ห้ามไม่ให้ล่องแพไม้ที่มีซุงผูกเทียบกันเกินกว่าสี่ต้นและที่ผูกติดต่อกันยาวเกินกว่าสองชั่วซุง และส่วนแพไม้ไผนั้นไม่ให้ยาวเกินกว่าสิบหกเมตร และกว้างเกินกว่าที่พอจะให้แพนั้นเดินในคลองได้โดยไม่กีดแก่การเดินเรือ
แต่ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดได้พิจารณาเห็นว่าในคลองใดหรือในคลองตอนใดซึ่งใช้เรือกลไฟหรือเรือยนต์ลากจูงแพเกินกว่าที่ได้กำหนดไว้ในวรรคก่อนโดยไม่เป็นภัยแก่การจราจรทางน้ำ ก็อาจผ่อนผันให้ผูกติดต่อกันได้ไม่เกิน ๓๐ เมตร
เมื่อข้าหลวงประจำจังหวัดได้ผ่อนผันให้ตามวรรคก่อนแล้ว ภายหลังปรากฏว่า เป็นภัยแก่การจราจรทางน้ำจะถอนเสียก็ได้
 
มาตรา ๗๕ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๐ มาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ มาตรา ๗๓ หรือมาตรา ๗๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท
 
(ข) แพคนอยู่
                  
 
มาตรา ๗๖ ห้ามมิให้จอดแพคนอยู่ในลำแม่น้ำห่างจากฝั่งเกินกว่าพอดีสำหรับมิให้แพนั้นค้างแห้งในเวลาน้ำลงงวด
 
มาตรา ๗๗ เสาหลักสำหรับผูกแพคนอยู่นั้นห้ามมิให้ปักพ้นแนวหน้าแพออกไปมากกว่าหนึ่งเมตรครึ่ง
 
มาตรา ๗๘ ห้ามมิให้ปลูกเรือนที่ปักเสาลงเลนตามฝั่งแม่น้ำห่างออกมาจากฝั่งจนเกินกว่าพอดีสำหรับไม่ให้มีน้ำค้างอยู่ใต้เรือนเมื่อเวลาน้ำลงงวด
 
มาตรา ๗๙ ภายใต้เขตท่ากรุงเทพฯ ห้ามมิให้แพคนอยู่แพใดมีขนาดกว้างหรือยาวเกินกว่าสิบหกเมตร นับรวบทั้งชานและแพเล็กที่เป็นส่วนติดต่อกับแพนั้นด้วย
 
มาตรา ๘๐ ตามลำคลอง ห้ามมิให้แพคนอยู่แพใดมีขนาดกว้างเกินกว่าสิบสองเมตร และห้ามมิให้แพใดที่ผูกจอดกับฝั่งยื่นล้ำออกมาจนอาจเป็นที่กีดขวางแก่การเดินเรือ
 
มาตรา ๘๑ ห้ามมิให้จูงแพคนอยู่ขึ้นล่องในตอนใต้หลักเขตเหนือของท่ากรุงเทพฯ ในระหว่างตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น
 
มาตรา ๘๒ แพคนอยู่ที่จะจูงขึ้นล่องในลำแม่น้ำนั้นต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก ต่อเมื่อมีเหตุอันจำเป็นจึงให้เดินในทางเดินสายตะวันออกได้
 
มาตรา ๘๓ ห้ามมิให้จอดผูกแพคนอยู่แพใดกับฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาภายในเขตท่ากรุงเทพฯ โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า
 
มาตรา ๘๔ ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ถ้าแพคนอยู่แพใดยื่นออกมาในลำแม่น้ำ จนอาจเป็นเหตุน่ากลัวอันตรายแก่การเดินเรือในเวลากลางคืนได้ ให้เจ้าท่ามีอำนาจบังคับให้แพนั้นจุดโคมไฟสีขาวไว้ในที่เด่นแลเห็นได้ง่ายในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เรือใหญ่เล็กแล่นมาโดนแพนั้น
 
มาตรา ๘๕ ตั้งแต่วันที่ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย ถ้าจะจอดแพคนอยู่หรือปลูกเรือนมีเสาปักเลนตามฝั่งแม่น้ำภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ก็ดี หรือตามลำคลองในแขวงกรุงเทพฯ ก็ดี ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าก่อนจึงทำได้
 
มาตรา ๘๖ คำขออนุญาตนั้นต้องเป็นหนังสือและมีแผนที่ฝั่งน้ำ แพคนอยู่หรือเรือนปักเสาลงเลนที่ข้างเคียงและทำเลที่จะจอดแพและปักหลักผูกแพนั้นด้วย
 
มาตรา ๘๗ เมื่อรับคำขออนุญาตแล้ว เจ้าท่าต้องตรวจภายในเวลาเดือนหนึ่ง และถ้าเห็นว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับในมาตรา ๘๕ และ ๘๖ ทุกอย่างแล้ว ก็ให้ออกอนุญาตให้ตามที่ขอ
 
มาตรา ๘๘ ห้ามมิให้ลงมือทำการปลูกสร้างก่อนที่ได้รับอนุญาตตามที่ร้องขอนั้นเป็นอันขาด
 
มาตรา ๘๙ ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ให้เจ้าท่ามีอำนาจและภายนอกเขตนั้นให้เจ้าพนักงานท้องที่มีอำนาจที่จะบังคับให้รื้อถอนแพคนอยู่หรือหลักผูกแพ หรือเรือนที่ปักเสาลงชายฝั่งน้ำ ที่จอดหรือปักหรือสร้างผิดต่อข้อบังคับในมาตราตั้งแต่ ๗๖ ถึง ๗๙ จะเป็นแพหรือหลักหรือเรือนที่ตั้งอยู่นั้นเมื่อก่อนหรือในภายหลังเวลาใช้พระราชบัญญัตินี้ก็ตาม และให้มีอำนาจบังคับให้รื้อถอนบรรดาแพคนอยู่หรือหลักผูกแพ หรือเรือนที่ปักเสาลงในชายฝั่งน้ำ ซึ่งได้ปลูกขึ้นโดยมิได้รับอนุญาตโดยถูกต้อง หรือที่ปลูกโดยไม่ถูกต้องตามข้อความในอนุญาตที่ได้ออกให้นั้นด้วย
 
มาตรา ๙๐ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามมาตรา ๘๙ ต้องระวางโทษปรับเป็นรายวันวันละหนึ่งร้อยบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องและให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามมาตรา ๘๙ บังคับให้รื้อถอนแพคนอยู่ หรือเรือนปักเสาลงในชายฝั่งน้ำโดยให้ผู้เป็นเจ้าของเสียค่ารื้อถอนนั้นเอง
ในกรณีที่เจ้าของไม่รื้อถอนภายในกำหนดเวลาที่เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามมาตรา ๘๙ กำหนด ให้เจ้าท่าร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอน
ในกรณีที่เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอนตามคำสั่งศาลตามวรรคสอง ให้เจ้าท่าใช้ความระมัดระวังตามควรแก่พฤติการณ์ โดยเจ้าของจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากเจ้าท่าไม่ได้ และเจ้าของต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
ในกรณีที่เจ้าของไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายตามวรรคสามภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนดตามควรแก่กรณี ให้เจ้าท่าโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนำวัสดุที่ถูกรื้อถอนรวมทั้งสิ่งของที่ขนออกจากแพคนอยู่หรือเรือนที่ปักเสาลงในชายฝั่งส่วนที่มีการรื้อถอนออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นนั้นให้นำไปชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เจ้าท่าได้จ่ายไปในการจัดการรื้อถอน และถ้ามีเงินเหลือจากการชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ให้เจ้าท่าเก็บรักษาเงินนั้นไว้ ถ้าเจ้าของมิได้เรียกร้องเอาภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้าท่าได้เก็บรักษาไว้ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
 
มาตรา ๙๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๑ มาตรา ๘๒ มาตรา ๘๓ หรือมาตรา ๘๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
 
(ค) ว่าด้วยเรือจับสัตว์น้ำและโพงพางที่ขวางแม่น้ำ
                  
 
มาตรา ๙๒ การจับสัตว์น้ำด้วยอวนแหโดยทอดสมอจอดเรือเรียงรายลำติดกันขวางลำน้ำหรือทอดทุ่น หรือปักหลักโพงพางเป็นแถวจากฝั่งถึงกลางลำน้ำนั้น การจับสัตว์น้ำด้วยวิธีเหล่านี้ห้ามมิให้กระทำในเขตท่ากรุงเทพฯ ถ้าพ้นเขตท่ากรุงเทพฯ ออกไปจะทำโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก็ได้
 
มาตรา ๙๓ ในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น เจ้าของเรือจับสัตว์น้ำหรือทุ่นหรือหลักโพงพางเช่นว่ามาแล้ว ต้องจุดไฟเป็นแสงโพลงไว้บนฝั่งตรงกับแถวเรือหรือทุ่นหรือหลักเหล่านั้น และต้องจุดโคมไฟไว้บนเรือหรือทุ่นหรือหลักโพงพาง ที่ห่างที่สุดออกมาจากฝั่งนั้นด้วย และต้องเป่าเขากระบือหรือแตรเสียงก้อง สำหรับให้เรือที่เดินขึ้นล่องรู้ว่ามีของกีดกั้นเช่นนั้นอยู่ในลำน้ำด้วยรั้วหรือหลักที่ปักเรียงรายตามแนวชายฝั่งทะเลที่ปากน้ำหรือที่ใกล้ทางจะเข้าปากน้ำนั้น ในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น ต้องจุดโคมให้เห็นแสงไฟสีขาวที่ปลายรั้วหรือหลักสุดแถวทั้งสองข้าง
 
มาตรา ๙๔ ทุ่นหรือหลักสำหรับจับสัตว์น้ำนั้น ห้ามมิให้ผูกโยงถึงกันด้วยลำไม้ไผ่ ให้ใช้ผูกด้วยเชือกอย่างเดียวตามธรรมเนียมที่เคยทำกันอยู่ และห้ามมิให้ผูกโยงจากฝั่งด้วยเชือกหรือด้วยไม้ยาวให้เป็นที่กีดขวางแก่ทางเดินของเรืออื่น
 
มาตรา ๙๕ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๓ หรือมาตรา ๙๔ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
 
หมวดที่ ๖
ข้อบังคับเบ็ดเตล็ด
                  
 
(ก) ว่าด้วยผูกเรือกับฝั่งด้วยเชือกลวดและเชือกต่าง ๆ
                  
 
มาตรา ๙๖ ในแม่น้ำหรือเขตท่าใด ๆ ถ้านอกจากเรือที่จอดผูกเทียบท่าขนสินค้าท่าขึ้นหรือเทียบฝั่ง ห้ามมิให้เรือกำปั่นลำใดผูกโยงกับฝั่งด้วยเชือกลวดหรือเชือกอย่างอื่นจนไม่เหลือช่องน้ำในระหว่างเรือลำนั้นกับฝั่งสำหรับให้เรืออื่นเดินได้
 
มาตรา ๙๗ ห้ามมิให้เอาเชือกอย่างใด ๆ ทอดจากเรือกำปั่นลำใดที่จอดเทียบท่า ไปผูกกับทุ่นโยงในลำน้ำหรือเขตท่าจนกว่าจะถึงเวลาที่เรือเตรียมออกจากท่าที่จอดเทียบอยู่นั้น จึงให้ทำเช่นนั้นได้
 
มาตรา ๙๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๖ หรือมาตรา ๙๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
 
(ข) ว่าด้วยฝีเท้าเรือ-เกิดเหตุอันตราย-โคมไฟ
                  
 
มาตรา ๙๙ ห้ามมิให้นายเรือกลับเรือกำปั่นในลำแม่น้ำ ร่องน้ำ ช่องน้ำ หรือในสายทางเรือเดิน เว้นไว้แต่ในเวลาที่ทางน้ำนั้น ๆ ว่างไม่มีเรืออื่นแล่นเข้าออก และห้ามมิให้นายเรือกำปั่นลำใดที่จอดเทียบท่าขนสินค้าหรือท่าขึ้นเคลื่อนเรือออกจากท่า เว้นไว้แต่ในเวลาที่ลำแม่น้ำ ร่องน้ำ ช่องน้ำ หรือสายทางเรือเดินอันเป็นท้องที่นั้นว่างไม่มีเรืออื่นแล่นเข้าออก
 
มาตรา ๑๐๐ นายเรือกำปั่นลำใดที่กำลังเข้าหรือออกที่เขตท่าหรือช่องแคบ ต้องลดฝีเท้าเรือให้เดินช้าลงพอสมควรแก่การเดินเรืออย่างระวัง และอย่างป้องกันเหตุอันตรายแก่เรือนั้นเอง
 
มาตรา ๑๐๑ เรือที่จะเข้าเทียบหรือจอดยังท่า นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือต้องใช้ความเร็วต่ำและด้วยความระมัดระวัง เรือที่เดินอยู่ในแม่น้ำหรือลำคลอง ต้องใช้ความเร็วไม่เกินอัตราที่เจ้าท่ากำหนด และห้ามมิให้แล่นตัดหน้าเรือกลที่กำลังเดินขึ้นล่องอยู่ในระยะสองร้อยเมตร ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท และให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งยึดใบอนุญาตใช้เรือหรือประกาศนียบัตรควบคุมเรือมีกำหนดไม่เกินหกเดือน
เจ้าของเรือหรือผู้ถือประกาศนียบัตรควบคุมเรือที่ถูกยึดใบอนุญาต มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งนั้นมีผลบังคับได้
 
มาตรา ๑๐๒ นายเรือที่ได้รับประกาศนียบัตรแสดงความรู้ทุกคน ต้องใช้ความระมัดระวังในการควบคุมเรือโดยเต็มความสามารถ เพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายอย่างใด ๆ และถ้ามีเหตุอย่างใด ๆ เกิดขึ้นในหน้าที่ขณะที่ตนกระทำการควบคุมเรือนั้นอยู่ นายเรือลำนั้นต้องรายงานเหตุที่เกิดขึ้นนั้นต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
๑. สำหรับเรือที่ยังไม่ออกจากเขตท่าไปทะเลในทันทีทันใด ถัดเวลาที่เกิดเหตุให้ยื่นรายงานต่อเจ้าท่าภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง แต่ถ้าเรือลำนั้นกำลังจะออกจากท่าไปสู่ทะเลก็ให้ส่งรายงานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนในโอกาสแรกที่จะส่งได้ หรือแวะแจ้งความต่อกรมการอำเภอ หรือตำรวจท้องที่ใกล้เคียง หรือฝากรายงานนั้นไว้ แก่เจ้าพนักงานศุลกากร ณ ตำบลใกล้เคียงเพื่อส่งให้เจ้าท่าต่อไป
รายงานนั้นต้องแจ้งให้ชัดเจนถึงข้อเหล่านี้
(๑) ตำบลที่เกิดเหตุพร้อมทั้งแผนที่สังเขปถ้าสามารถจะทำได้
(๒) วัน เดือน ปี ที่เกิดเหตุ
(๓) ชื่อเจ้าของเรือ หรือตัวแทน และเลขทะเบียนเรือ
(๔) สาเหตุที่เกิดและกรณีแวดล้อม
(๕) ความเสียหายที่ได้รับ
(๖) ถ้าเป็นเรือที่มีสมุดปูม ก็ให้คัดข้อความประจำวันที่จดไว้ในสมุดปูม ทั้งปากเรือและท้องเรือแนบมาด้วย
๒. สำหรับเรืออื่น ๆ นอกจากในอนุมาตรา ๑ ให้รายงานเหตุที่เกิดขึ้นนั้นต่อเจ้าท่า หรือแจ้งความต่อกรมการอำเภอ หรือตำรวจท้องที่ใกล้เคียงภายในเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง
๓. กรมการอำเภอ หรือตำรวจท้องที่ เมื่อได้รับแจ้งความแล้วให้ ไต่สวนและจัดการไปตามหน้าที่ และให้รีบส่งสำเนาการไต่สวนนั้นไปให้เจ้าท่าท้องถิ่น หรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี*ทราบ
 
มาตรา ๑๐๓ นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๙ มาตรา ๑๐๐ หรือมาตรา ๑๐๒ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองร้อยบาทถึงสองพันบาท
 
มาตรา ๑๐๔ เรือกลไฟเล็กและเรือยนต์ทุกลำ เมื่อเวลาเดินต้องมีโคมไฟสีเขียวไว้ข้างแคมขวาดวงหนึ่ง โคมไฟสีแดงข้างแคมซ้ายดวงหนึ่ง และโคมไฟสีขาวอย่างแจ่มแขวนไว้ในที่เด่นสูงจากดาดฟ้า ให้ถูกต้องตามที่จะกำหนดไว้ในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ
 
มาตรา ๑๐๕ เรือทุกลำและแพไม้ทุกแพที่ทอดสมอหรือผูกอยู่กับหลัก หรือกำลังเดินหรือล่องอยู่นั้น ต้องแขวนโคมไฟสีขาวดวงหนึ่งไว้ ในที่เด่นให้เป็นที่แลเห็นได้จากทุกทิศ แต่ถ้าจอดผูกเทียบอยู่กับฝั่งแม่น้ำไม่จำเป็นต้องมีโคมไฟไว้เช่นนี้ก็ได้
 
มาตรา ๑๐๖ เรือลำเลียงและเรือโป๊ะจ้ายทุกลำ ถ้าเป็นเรือที่เดินด้วยเครื่องจักรอย่างเรือไฟ ต้องมีโคมไฟเหมือนอย่างที่บัญญัติไว้สำหรับเรือกลไฟ ถ้าเป็นเรือเดินด้วยใบฉะนั้นต้องใช้โคมไฟตามอย่างที่บัญญัติไว้สำหรับเรือใบที่กำลังเดิน
 
มาตรา ๑๐๗ เรือทุกลำที่อยู่ในพ่วงที่กำลังเดินหรือทอดสมออยู่ก็ดี ต้องจุดโคมไฟสีขาวไว้ ในที่เด่นแลเห็นง่าย ในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อให้เป็นที่สังเกตได้ชัดว่าหมู่เรือที่พ่วงนั้นยาวและกว้างเท่าใด
 
มาตรา ๑๐๘ ที่ตำบลสำเภาจมปากน้ำเจ้าพระยานั้น เมื่อมีเรือกำปั่นสองลำแล่นมาจะสวนกัน ถ้าเห็นว่าจะสวนกันที่ตรงหรือเกือบตรงข้างเรือทุ่นไฟหมายตำบลสำเภาจม ก็ให้เรือลำที่ทวนน้ำนั้นหยุดหรือรอแล่นช้า ๆ จนกว่าเรืออีกลำหนึ่งจะได้แล่นพ้นเรือทุ่นไฟนั้นโดยเรียบร้อยแล้ว
 
มาตรา ๑๐๙ เรือโป๊ะจ้ายและเรือใบทุกอย่าง เมื่อแล่นก้าวขึ้นล่องตามลำแม่น้ำหรือตามช่องแคบ ถ้ามีเรือกลไฟลำใดเดินอยู่ในฟากน้ำหรือร่องที่ไม่ผิดหรือเดินแอบฝั่งอย่างใกล้พอสมควรแก่ที่จะไม่ให้เป็นอันตรายแก่เรือลำนั้น ห้ามมิให้เรือที่แล่นก้าวนั้นแล่นผ่านตัดหน้าเรือหรือแล่นก้าวใกล้ถัดหน้าเรือกลไฟนั้นเป็นอันขาด
ในแม่น้ำหรือในช่องน้ำที่แคบห้ามมิให้เรือกลไฟเล็กหรือเรือยนต์พยายามแล่นผ่านหน้าเรือกำปั่นไฟโดยอย่างที่อาจให้เกิดโดนกันขึ้นได้
 
มาตรา ๑๑๐ นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐๔ มาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๐๖ มาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๐๘ หรือมาตรา ๑๐๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
(ค) ว่าด้วยเรือถอยออกจากอู่
                  
 
มาตรา ๑๑๑ ในตอนลำน้ำเจ้าพระยาซึ่งเรือเดินทะเลเดินได้นั้น เมื่อมีเรือลำใดกำลังถอยออกจากอู่หรือถอยลงจากท่าลาดในเวลากลางวันต้องมีทุ่นรูปกลมสีดำลูกหนึ่งชักขึ้นไว้ที่เสา หรือที่เด่นแห่งหนึ่งที่ปากอู่หรือท่าลาดนั้น ให้เรือต่าง ๆ ที่เดินขึ้นล่องในแม่น้ำแลเห็นได้ชัด เมื่อก่อนหน้าจะถอยออกจากอู่หรือท่าลาดให้ชักลูกทุ่นขึ้นไว้เพียงครึ่งเสา เมื่อกำลังถอยออก ให้ชักขึ้นถึงปลายเสา ถ้าเป็นเวลาค่ำคืนให้ใช้โคมไฟสีแดงแทนและทำอย่างวิธีเดียวกันกับลูกทุ่นสีดำ
 
มาตรา ๑๑๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑๑ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
 
(ฆ) ว่าด้วยทุ่นและเครื่องสำหรับผูกจอดเรือ
                  
 
มาตรา ๑๑๓ ห้ามมิให้ผู้ใดมีหรือวางทุ่นหรือเครื่องสำหรับผูกจอดเรือในน่านน้ำแม่น้ำหรือทำเลทอดสมอจอดเรือใด ๆ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าหรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่และโดยต้องถือและกระทำตามข้อบังคับกำกับอนุญาตและต้องเสียค่าธรรมเนียมตามซึ่งเจ้าท่า หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่นั้นจะกำหนด แต่บัญญัติที่ว่านี้ไม่ใช้ตลอดถึงทุ่นและเครื่องหมายหรือเครื่องผูกจอดเรือของกระทรวงทหารเรือ ซึ่งจอดไว้ชั่วคราวในลำน้ำสำหรับการตรวจเซอร์เวย์ทำแผนที่
 
มาตรา ๑๑๔ ห้ามมิให้ผู้ใดเอาเรือเก็บสินค้าหรือเรือชนิดใด ๆ ที่คล้ายเรือเก็บสินค้าซึ่งใช้เป็นเรือทุ่นหรือสำหรับบรรจุสิ่งของต่าง ๆ ทอดสมออยู่เป็นการประจำในน่านน้ำ ลำแม่น้ำ หรือทำเลทอดสมอจอดเรือตำบลใด ๆ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าหรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ และโดยต้องถือและกระทำตามข้อบังคับกำกับอนุญาตและต้องเสียค่าธรรมเนียมตามซึ่งเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่นั้นจะกำหนด
 
มาตรา ๑๑๕ ทุ่นหรือเครื่องสำหรับผูกจอดเรือ ซึ่งจะได้อนุญาตตามความในมาตรา ๑๑๓ นั้น ให้ใช้สำหรับเรือของผู้ที่ได้รับอนุญาตฝ่ายเดียว ถ้าเรืออื่นจะอาศัยใช้ผูกจอด ต้องได้รับอนุญาตของผู้นั้นก่อนจึงทำได้
 
มาตรา ๑๑๖ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๑๔ หรือมาตรา ๑๑๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละห้าร้อยบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง และเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จะสั่งให้รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายทุ่นหรือเครื่องสำหรับผูกจอดเรือนั้นด้วยก็ได้
 
(ค) ว่าด้วยการล่วงล้ำลำแม่น้ำ
                
 
มาตรา ๑๑๗ ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำ ของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยหรือบนชายหาดของทะเลดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า
หลักเกณฑ์และวิธีการในการอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยกฎกระทรวงดังกล่าวจะต้องระบุลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำที่พึงอนุญาตได้ไว้ให้ชัดแจ้งพร้อมทั้งระยะเวลาที่จะต้องพิจารณาอนุญาตให้แล้วเสร็จด้วย
เมื่อผู้ขออนุญาตยื่นคำขอถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการและลักษณะที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงตามวรรคสองแล้ว เจ้าท่าต้องอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว
 
มาตรา ๑๑๗ ทวิ ผู้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดตามมาตรา ๑๑๗ ต้องเสียค่าตอบแทนเป็นรายปี ตามวิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าสิบบาท และถ้าเป็นอาคารหรือสิ่งอื่นใดซึ่งมีลักษณะหรือวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจให้เสียเป็นสองเท่าของอัตราดังกล่าว ในกรณีที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวถูกปลูกสร้างขึ้นโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตให้เสียค่าตอบแทนเป็นสามเท่าของอัตราดังกล่าว
การกำหนดค่าตอบแทนตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงสภาพของแต่ละท้องที่และประโยชน์ที่ผู้ปลูกสร้างหรือผู้ครอบครองพึงได้รับ
ค่าตอบแทนที่เก็บได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ตกเป็นของกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด สุขาภิบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น แล้วแต่กรณี ที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นอยู่ในเขต
ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร จะออกกฎกระทรวงยกเว้นหรือลดหย่อนค่าตอบแทนให้หน่วยงานหรือบุคคลใดก็ได้
 
มาตรา ๑๑๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๗ หรือผู้ใดได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๑๗ แล้วปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาทแต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท
 
มาตรา ๑๑๘ ทวิ ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๗ หรือผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๑๗ ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ให้เจ้าท่ามีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นให้เสร็จสิ้นโดยถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าท่าปิดคำสั่งไว้ ณ อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นและจะห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองนั้นใช้หรือยินยอมให้ผู้ใดใช้อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือแก้ไขเสร็จด้วยก็ได้
ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และเจ้าท่าได้ปิดคำสั่งไว้ ณ อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นครบสิบห้าวันแล้วให้เจ้าท่าร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้มีการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้น ถ้าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๗ จริง ในกรณีที่ปรากฏตัวเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใด ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้รื้อถอน ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่รื้อถอนตามกำหนดเวลาในคำสั่งศาล หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอน
ในกรณีที่เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอนตามคำสั่งศาลตามวรรคสามให้เจ้าท่าใช้ความระมัดระวังตามควรแก่พฤติการณ์ โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากเจ้าท่าไม่ได้ และเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น
ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายตามวรรคสี่ภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนดตามควรแก่กรณี หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครองครองให้เจ้าท่าโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนำวัสดุที่ถูกรื้อถอนรวมทั้งสิ่งของที่ขนออกจากอาคารหรือสิ่งอื่นใดส่วนที่มีการรื้อถอนออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นให้นำไปชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เจ้าท่าได้จ่ายไปในการจัดการรื้อถอนและค่าตอบแทนตามมาตรา ๑๑๘ และถ้ามีเงินเหลือจากการชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เจ้าท่าเก็บรักษาไว้ เพื่อคืนให้กับเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่มารับคืนภายในหนึ่งปีให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ในกรณีที่เจ้าท่าจะดำเนินการตามวรรคหนึ่งและอาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวมีลักษณะซึ่ง
อาจอนุญาตได้และเจ้าของหรือผู้ครอบครองยอมชำระค่าปรับตามที่เจ้าท่ากำหนดตามอัตราในมาตรา ๑๑๘ แล้ว เจ้าท่าจะออกใบอนุญาตให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองก็ได้และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วให้เสียค่าตอบแทนเป็นสองเท่าของมาตรา ๑๑๗ ทวิ
 
มาตรา ๑๑๘ ตรี ในกรณีที่ไม่ชำระค่าตอบแทนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๑๗ ทวิ ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินค่าตอบแทนที่ค้างชำระ
 
(ฆ) ว่าด้วยการทิ้งอับเฉาลงในลำแม่น้ำ, เขตท่า หรือในทำเลทอดสมอจอดเรือ
                  
 
มาตรา ๑๑๙ ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้หิน กรวด ทราย ดิน โคลน อับเฉา สิ่งของหรือสิ่งปฏิกูลใด ๆ ยกเว้นน้ำมันและเคมีภัณฑ์ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือทะเลภายในน่านน้ำไทย อันจะเป็นเหตุให้เกิดการตื้นเขิน ตกตะกอนหรือสกปรก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในการขจัดสิ่งเหล่านั้นด้วย
 
มาตรา ๑๑๙ ทวิ ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้น้ำมันและเคมีภัณฑ์หรือสิ่งใด ๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยอันอาจจะเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือ
ต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษหรือชดใช้ค่าเสียหายเหล่านั้นด้วย
 
มาตรา ๑๒๐ ให้เจ้าท่ามีหน้าที่ดูแล รักษาและขุดลอกร่องน้ำ ทางเรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบและทะเลภายในน่านน้ำไทย
ห้ามมิให้ผู้ใดขุดลอก แก้ไข หรือทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำทางเรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบหรือทะเลภายในน่านน้ำไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาทและให้เจ้าท่าสั่งให้หยุดกระทำการดังกล่าว
 
มาตรา ๑๒๐/๑ ให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีมีอำนาจปักหลักเขตควบคุมทางน้ำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ผู้ใดยักย้าย ทำให้เสียหาย หรือทำลายหลักเขตควบคุมทางน้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
(ง) ว่าด้วยเรือที่เป็นอันตรายลง ฯลฯ
                  
 
มาตรา ๑๒๑ เมื่อมีเรือไทย เรือต่างประเทศหรือสิ่งอื่นใดจมลงหรืออยู่ในสภาพที่อาจเป็นอันตรายแก่การเดินเรือในน่านน้ำไทย ให้เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นจัดทำเครื่องหมายแสดงอันตรายโดยพลัน ด้วยเครื่องหมายตามที่เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เห็นสมควร สำหรับเป็นที่สังเกตในการเดินเรือทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืน จนกว่าเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นจะได้กู้ รื้อ ขน ทำลายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เรือหรือสิ่งอื่นใดซึ่งได้จมลงหรืออยู่ในสภาพที่อาจเป็นอันตรายแก่การเดินเรือออกจากที่นั้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนด
ถ้ามิได้จัดทำเครื่องหมายแสดงอันตรายหรือกู้ รื้อ ขน ทำลายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่มีอำนาจจัดทำเครื่องหมายแสดงอันตรายหรือกู้ รื้อ ขน ทำลายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เรือหรือสิ่งอื่นใด และทรัพย์สินที่อยู่ในเรือหรือสิ่งอื่นใดให้พ้นจากสภาพที่อาจเป็นอันตรายแก่การเดินเรือ โดยเรียกค่าใช้จ่ายจากเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้น
ถ้าเรือไทย เรือต่างประเทศหรือสิ่งอื่นใดตามวรรคหนึ่ง มีสิ่งซึ่งก่อหรืออาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ให้เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นขจัดหรือป้องกันมลพิษให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนด หากไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้เจ้าท่า หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่มีอำนาจกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อขจัดหรือป้องกันมลพิษนั้นได้โดยเรียกค่าใช้จ่ายจากเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้น
ในกรณีที่เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายตามวรรคสองหรือวรรคสามภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนดตามควรแก่กรณี หรือไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นให้ เจ้าท่าด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนำเรือหรือสิ่งอื่นใดและทรัพย์สินที่อยู่ในเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น
ถ้าเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นยังไม่เพียงพอชดใช้ค่าใช้จ่ายเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นต้องชดใช้ส่วนที่ยังขาด แต่ถ้าเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นนั้น เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเท่าใดให้คืนเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้น หรือเจ้าของทรัพย์สิน เว้นแต่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นหรือเจ้าของทรัพย์สิน ให้เงินที่เหลือนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
 
(จ) ว่าด้วยแตรหวีดเป่าด้วยแรงสติม
                  
 
มาตรา ๑๒๒ ห้ามมิให้เรือกำปั่นไฟหรือเรือกลไฟเล็กที่ทอดสมออยู่ก็ดี หรือกำลังเดินอยู่ก็ดี เป่าแตรหวีดนอกจากเฉพาะสำหรับความสะดวกในการเดินเรือ หรือเพื่อป้องกันมิให้โดนกันกับเรืออื่นและเสียงแตรที่เป่าขึ้นนั้นห้ามมิให้เป่านานเกินกว่าสมควร ข้อบังคับที่ว่านี้ให้ใช้ได้สำหรับแตรเรือยนต์เหมือนกัน
 

จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   0934903924
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้