ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและ พ.ศ. 2504
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและ พ.ศ. 2504

พระราชบัญญัติ
คุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและ
ทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๐๔
                  
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔
เป็นปีที่ ๑๖ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติในประเทศไทย
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๐๔”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติในประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๘ และ
(๒) พระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติในประเทศไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙
 
มาตรา ๔ เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยของสหประชาชาติและองค์กรของสหประชาชาติให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์
(๑) ให้ยอมรับนับถือว่า สหประชาชาติและองค์กรของสหประชาชาติเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย
(๒) ให้สหประชาชาติและองค์กรของสหประชาชาติ สถานที่ ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และบรรณสาร ของสหประชาชาติและหรือองค์กรของสหประชาชาติ และให้ผู้แทนของสมาชิกและพนักงานของสหประชาชาติ และหรือองค์กรของสหประชาชาติและผู้เชี่ยวชาญหรือบุคคลอื่น ที่ปฏิบัติภารกิจเพื่อสหประชาชาติและหรือองค์กรของสหประชาชาติ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย หรือเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่ หรือในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับสหประชาชาติและหรือองค์กรของสหประชาชาติ ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของสหประชาชาติฉบับที่สมัชชาแห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ เพียงเท่าที่รัฐบาลได้รับใช้บทแห่งอนุสัญญานั้น หรือความตกลงที่รัฐบาลได้ทำไว้ หรือจะได้ทำต่อไปกับสหประชาชาติหรือองค์กรของสหประชาชาติ
 
มาตรา ๕ เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยของทบวงการชำนัญพิเศษซึ่งจะระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์
(๑) ให้ยอมรับนับถือว่า ทบวงการชำนัญพิเศษนั้น ๆ เป็นนิติบุคคลและให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย
(๒) ให้ทบวงการชำนัญพิเศษนั้น ๆ สถานที่ ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และบรรณสาร ของทบวงการชำนัญพิเศษนั้น ๆ และให้ผู้แทนของสมาชิกและพนักงานของทบวงการชำนัญพิเศษนั้น ๆ และผู้เชี่ยวชาญหรือบุคคลอื่น ที่ปฏิบัติภารกิจเพื่อทบวงการชำนัญพิเศษนั้น ๆ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย หรือเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่ หรือในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับทบวงการชำนัญพิเศษนั้น ๆ ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของทบวงการชำนัญพิเศษฉบับที่สมัชชาแห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งรัฐบาลได้รับใช้หรือจะได้รับใช้ต่อไปภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ในภาคผนวกท้ายอนุสัญญา หรือภาคผนวกเพิ่มเติม หรือภาคผนวกที่แก้ไขใหม่ หรือความตกลงที่รัฐบาลได้ทำไว้ หรือจะได้ทำต่อไปกับทบวงการชำนัญพิเศษนั้น ๆ
 
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติในประเทศไทยซึ่งได้ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๘ จนถึงบัดนี้ และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วนั้น ยังมีบทบัญญัติที่ไม่ชัดเจนเพียงพอ ไม่เป็นการสะดวกแก่การปฏิบัติ จึงสมควรปรับปรุงเสียใหม่


หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงาน
ของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๐๔
                  
 
๑. อนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของสหประชาชาติฉบับที่สมัชชาแห่งสหประชาชาติได้รับเอาเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๖
(ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๔๘ หน้า ๖๘๒ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๙๙)
๒. อนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของทบวงการชำนัญพิเศษฉบับที่สมัชชาแห่งสหประชาชาติได้รับเอาเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๗ และภาคผนวกท้ายอนุสัญญา
(ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๔๘ หน้า ๖๘๒ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๙๙)
๓. ความตกลงระหว่างกองทุนพิเศษแห่งสหประชาชาติกับรัฐบาลแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับความช่วยเหลือจากกองทุนพิเศษ
(ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๖๗ หน้า ๖๕๐ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๐๓)
๔. ความตกลงมาตรฐานที่ได้แก้ไขใหม่ระหว่างสหประชาชาติ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก องค์การการกรรมกรระหว่างประเทศ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ องค์การอนามัยโลก และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ กับรัฐบาลแห่งประเทศไทย
(ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๖๗ หน้า ๖๖๘ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๐๓)
๕. ความตกลงระหว่างสหประชาชาติกับรัฐบาลแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสำหรับเอเชียและตะวันออกไกลในประเทศไทย ซึ่งได้ลงนามกันเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ณ นครเจนีวา
(ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๕๙ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๔)
๖. ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสำนักงานส่วนภูมิภาคตะวันออกไกลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้ลงนามกันเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๙
(ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๕๙ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๔)
๗. อนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของทบวงการชำนัญพิเศษเพิ่มเติม แก่
(๑) องค์การการกรรมกรระหว่างประเทศ (ภายในบังคับของภาคผนวก ๑ ท้ายอนุสัญญา)
(๒) องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ภายในบังคับของภาคผนวก ๔ ท้ายอนุสัญญา)
(๓) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ภายในบังคับของภาคผนวก ๕ ท้ายอนุสัญญา)
(๔) ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนาการ (ภายในบังคับของภาคผนวก ๖ ท้ายอนุสัญญา)
(๕) องค์การอนามัยโลก (ภายในบังคับของภาคผนวก ๗ ที่ได้ตรวจแก้ไขแล้ว ซึ่งสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ ๑๐ ได้ลงมติรับเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐)
(๖) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ภายในบังคับของภาคผนวก ๙ ท้ายอนุสัญญา)
(๗) องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ภายในบังคับของภาคผนวก ๑๑ ท้ายอนุสัญญา) และ
(๘) บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ภายในบังคับของภาคผนวก ๑๓ ซึ่งคณะผู้อำนวยการของบรรษัทได้ลงมติรับเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๐๒)
(ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๗๓ วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๐๔)
๘. อนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของทบวงการชำนัญพิเศษเกี่ยวกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ภายในบังคับของภาคผนวก ๒ ที่ได้ตรวจแก้ไขแล้ว ซึ่งที่ประชุมสมัยที่ ๑๐ ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับโดยข้อมติที่ ๗๒/๕๙
(ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๗๓ วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๐๔)
๙. ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับสำนักงานส่วนภูมิภาคเอเชียขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้ลงนามกัน เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๔
(ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๘๙ วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๐๔)


 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   0934903924
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้