พระราชบัญญัติ
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๔๓
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓
เป็นปีที่ ๕๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ
โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๓” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้ยกเลิก(๑) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ. ๒๕๓๕(๒) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๖ มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้“กิจการรถไฟฟ้า” หมายความว่า การจัดสร้าง ขยาย บูรณะ ปรับปรุง ซ่อมแซม และบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า การเดินรถไฟฟ้า การจัดให้มีสถานที่จอดรถ การให้บริการ การอำนวยความสะดวก และการดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว“ระบบรถไฟฟ้า” หมายความว่า รถไฟฟ้า ทางรถไฟฟ้า สถานีรถไฟฟ้า ระบบพลังงาน ระบบควบคุมการเดินรถ ระบบสื่อสาร ระบบระบายอากาศ และศูนย์ซ่อมบำรุง“รถไฟฟ้า” หมายความว่า รถที่ใช้ขนส่งคนโดยสารเป็นขบวนขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานอย่างอื่นไปตามทางรถไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งมวลชน“ทางรถไฟฟ้า” หมายความว่า รางหรือทางสำหรับรถไฟฟ้าแล่นโดยเฉพาะไม่ว่าจะจัดสร้างในระดับพื้นดิน เหนือหรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำ หรือผ่านไปในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ และให้หมายความรวมถึงเขตทาง ไหล่ทาง ทางเท้า ทางออกฉุกเฉิน อุโมงค์ สะพาน เขื่อนกั้นน้ำ ท่อหรือทางระบายน้ำ ท่อหรือทางระบายอากาศ กำแพงกันดิน รั้วเขต หลักระยะ หรือสิ่งอื่นใดที่จัดไว้เพื่ออำนวยความสะดวกหรือความปลอดภัยในการเดินรถไฟฟ้าด้วย“สถานีรถไฟฟ้า” หมายความว่า อาคารและสถานที่ซึ่งใช้เป็นที่จอดรถไฟฟ้าเพื่อรับและส่งคนโดยสาร และให้หมายความรวมถึงอาณาบริเวณ ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการให้บริการ อำนวยความสะดวก และความปลอดภัยในกิจการรถไฟฟ้าด้วย“ระบบพลังงาน” หมายความว่า สถานีไฟฟ้าย่อย สถานีปรับแรงดันไฟฟ้า เครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้า สาย ราง หรืออุปกรณ์สำหรับส่งถ่ายพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานอย่างอื่นไปยังรถไฟฟ้า และให้หมายความรวมถึงอาคารและอุปกรณ์ของระบบดังกล่าวด้วย“ระบบควบคุมการเดินรถ” หมายความว่า ศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้า ระบบสัญญาณควบคุม และเครื่องหมายสัญญาณที่ติดตั้งหรือจัดให้มีขึ้น เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยในการเดินรถไฟฟ้า และให้หมายความรวมถึงอาคารและอุปกรณ์ของระบบดังกล่าวด้วย“ระบบสื่อสาร” หมายความว่า การติดต่อทางด้านเสียง ภาพ และข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินรถไฟฟ้าและคนโดยสาร และให้หมายความรวมถึงอาคารและอุปกรณ์ของระบบดังกล่าวด้วย“ศูนย์ซ่อมบำรุง” หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้สำหรับซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้าและอุปกรณ์เกี่ยวกับกิจการรถไฟฟ้า หรือสถานที่ที่จัดไว้สำหรับจอดพักหรือเก็บรักษารถไฟฟ้า และให้หมายความรวมถึงอาคารและอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องหรือมีขึ้นเพื่อกิจการดังกล่าวด้วย“เขตระบบรถไฟฟ้า” หมายความว่า เขตที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้า“เขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้า” หมายความว่า เขตที่กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ระบบรถไฟฟ้าหรือคนโดยสารรถไฟฟ้า และบุคคลอื่นที่อยู่ในเขตระบบรถไฟฟ้า“ผู้ครอบครอง” หมายความว่า ผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย“ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย“ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม*รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
การจัดตั้ง ทุน และทุนสำรอง
มาตรา ๖ ให้จัดตั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขึ้น เรียกว่า “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” เรียกโดยย่อว่า “รฟม.” และ ให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “MASSRAPIDTRANSITAUTHORITYOFTHAILAND” เรียกโดยย่อว่า “MRTA” และให้มีตราเครื่องหมายของ “รฟม.”รูปลักษณะของตราเครื่องหมายตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗ ให้ รฟม. เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้(๑) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา หรือระหว่างจังหวัดดังกล่าว(๒) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำโครงการและแผนงานเกี่ยวกับกิจการรถไฟฟ้าเพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้ทันสมัย(๓) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกิจการรถไฟฟ้าและธุรกิจอื่นเพื่อประโยชน์แก่ รฟม. และประชาชนในการใช้บริการกิจการรถไฟฟ้า มาตรา ๘ ให้ รฟม. มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียง และจะจัดตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใดก็ได้ มาตรา ๙ ให้ รฟม. มีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ(๒) ก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร(๓) เรียกเก็บค่าโดยสาร ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพย์สิน การให้บริการและความสะดวกต่าง ๆ ในกิจการรถไฟฟ้า(๔) กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการเดินรถไฟฟ้า และความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในการโดยสารรถไฟฟ้า ตลอดจนการใช้และรักษารถไฟฟ้า ทรัพย์สิน และการให้บริการและความสะดวกแก่การเดินรถไฟฟ้าและการโดยสารรถไฟฟ้า(๕) กู้หรือยืมเงินภายในและภายนอกราชอาณาจักร(๖) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อใช้ในการลงทุน(๗) จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการของ รฟม. ทั้งนี้ บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดดังกล่าวจะมีคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้าของทุนจดทะเบียนของบริษัทนั้นไม่ได้(๘) ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการของ รฟม.(๙) ลงทุนหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการของ รฟม.(๑๐) ให้สัมปทานกิจการรถไฟฟ้าทั้งหมดหรือบางส่วนแก่เอกชน(๑๑) พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม. ตามความจำเป็น เพื่อประโยชน์แก่การให้บริการกิจการรถไฟฟ้า(๑๒) กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของ รฟม. มาตรา ๑๐ ทุนของ รฟม. ประกอบด้วย(๑) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนตามมาตรา ๘๘ เมื่อได้หักหนี้สินแล้ว(๒) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม(๓) เงินที่รัฐบาลจัดสรรเพิ่มเติมให้เป็นคราว ๆ เพื่อดำเนินงานหรือขยายกิจการ(๔) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้(๕) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่รับโอนจากทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล มาตรา ๑๑ เงินสำรองของ รฟม. ให้ประกอบด้วย เงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อขยายกิจการ เงินสำรองเพื่อการไถ่ถอนหนี้ และเงินสำรองอื่น ๆ ตามความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรเงินสำรองจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยมติของคณะกรรมการ มาตรา ๑๒ ทรัพย์สินของ รฟม. ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
หมวด ๒
คณะกรรมการและผู้ว่าการ
มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ประกอบด้วย ประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร* ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง* ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม* ผู้แทนกรุงเทพมหานคร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินสี่คน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องแต่งตั้งจากผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหนึ่งคน และผู้ว่าการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่งให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มาตรา ๑๔ ประธานกรรมการ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และผู้ว่าการ ต้องมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการบริหาร วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ การผังเมือง เศรษฐศาสตร์ การคลัง หรือนิติศาสตร์ มาตรา ๑๕ ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง นอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจแล้วยังต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้(๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง(๒) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง(๓) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับ รฟม. หรือในกิจการที่กระทำให้แก่ รฟม.หรือในกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของ รฟม. ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม(๔) เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่ รฟม. เป็นผู้ถือหุ้น หรือในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีสัญญาร่วมงานหรือสัญญาสัมปทานกับ รฟม. มาตรา ๑๖ ให้ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน หรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วเมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น อยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหกสิบวันประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน มาตรา ๑๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๖ ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ(๑) ตาย(๒) ลาออก(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ(๕) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๔ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๘ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ รฟม. และอำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึงการออกข้อบังคับในเรื่องดังต่อไปนี้(๑) การปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ และมาตรา ๙(๒) การประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ(๓) การบริหารและการควบคุมทางการเงิน(๔) การจัดแบ่งส่วนงานหรือวิธีปฏิบัติงาน(๕) การปฏิบัติงานของผู้ว่าการและการมอบให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทนผู้ว่าการ(๖) การบริหารงานบุคคล การบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน หรือค่าจ้าง การออกจากตำแหน่ง ถอดถอน วินัย การลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนการกำหนดเงินเดือนและเงินอื่น(๗) การจ่ายค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าล่วงเวลา เบี้ยประชุม ค่าตอบแทน และการจ่ายเงินอื่น ๆ(๘) กองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์เพื่อสวัสดิการของพนักงาน ลูกจ้างและครอบครัว(๙) การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง(๑๐) เครื่องแบบพนักงานและลูกจ้าง(๑๑) การรักษาความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของ รฟม.(๑๒) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในระบบรถไฟฟ้า(๑๓) การกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมการใช้ ทรัพย์สินการให้บริการและความสะดวกในกิจการรถไฟฟ้า ตลอดจนวิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร ค่าบริการและค่าธรรมเนียมดังกล่าวและกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีถ้าข้อบังคับใดมีข้อความจำกัดอำนาจของผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศข้อบังคับนั้นในราชกิจจานุเบกษาการออกข้อบังคับตาม (๖) (๗) และ (๘) ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง มาตรา ๑๙ เพื่อประโยชน์แห่งกิจการของ รฟม. ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของ รฟม. และกำหนดค่าตอบแทนอนุกรรมการตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และกำหนดค่าตอบแทนที่ปรึกษาโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้ว่าการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มาตรา ๒๑ ผู้ว่าการนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจแล้วยังต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ (๒) และ (๓) มาตรา ๒๒ ผู้ว่าการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละห้าปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน มาตรา ๒๓ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๒ ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ(๑) ตาย(๒) ลาออก(๓) คณะกรรมการให้ออกด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเพราะบกพร่องต่อหน้าที่หรือมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ(๕) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๔ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๔ ผู้ว่าการมีหน้าที่บริหารกิจการของ รฟม. ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างผู้ว่าการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของ รฟม. มาตรา ๒๕ ผู้ว่าการมีอำนาจ(๑) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างออกจากตำแหน่งตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถ้าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างตั้งแต่ตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไปจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของ รฟม. และกำหนดเงื่อนไขในการทำงานของพนักงานและลูกจ้างโดยไม่ขัดแย้งกับข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๒๖ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้ว่าการเป็นผู้แทนของ รฟม. และเพื่อการนี้ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดนิติกรรมที่ผู้ว่าการกระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับตามมาตรา ๑๘ วรรคสอง ย่อมไม่ผูกพัน รฟม. เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี มาตรา ๒๗ ในกรณีที่ผู้ว่าการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือตำแหน่งผู้ว่าการว่างลง ให้รองผู้ว่าการผู้มีอาวุโสสูงสุดตามลำดับเป็นผู้รักษาการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนให้ผู้รักษาการแทนมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้ว่าการ เว้นแต่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการในฐานะกรรมการ มาตรา ๒๘ ประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๒๙ ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ พนักงาน และลูกจ้างอาจได้รับเงินรางวัลตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๓๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ และพนักงาน เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
หมวด ๓
การจัดสร้างระบบรถไฟฟ้า
ส่วนที่ ๑
การวางแผน สำรวจ และออกแบบเบื้องต้น
มาตรา ๓๑ ในการดำเนินการจัดสร้างกิจการรถไฟฟ้า ให้ รฟม. เสนอขอความเห็นชอบแผนงานการกำหนดเส้นทางหรือโครงการที่จะจัดสร้างกิจการรถไฟฟ้าต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี มาตรา ๓๒ เพื่อประโยชน์ในการทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการที่จะจัดสร้างกิจการรถไฟฟ้าให้เป็นไปโดยเหมาะสมแก่การบริการสาธารณะ และมีความปลอดภัยแก่ประชาชนให้ รฟม. มีอำนาจสำรวจพื้นที่เบื้องต้นภายใต้หลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้(๑) เมื่อ รฟม. จะดำเนินการสำรวจเบื้องต้นในเขตพื้นที่ใดให้จัดทำเป็นประกาศกำหนดพื้นที่ที่จะทำการสำรวจ ปิดไว้ ณ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการกำนัน ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และในบริเวณที่ที่จะทำการสำรวจ(๒) ในกรณีที่ รฟม. มีความจำเป็นต้องเข้าไปในเขตที่ดินของบุคคลใดเพื่อการสำรวจ ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เพื่อให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินทราบวันและเวลาในการเข้าไปในเขตที่ดิน รวมทั้งการที่จะต้องดำเนินการในเขตที่ดินนั้น ทั้งนี้ การเข้าไปในเขตที่ดินของบุคคลใดให้กระทำได้ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก(๓) ในการสำรวจ ให้ รฟม. มีอำนาจขุดเจาะที่ดินและเก็บหิน ดิน น้ำ หรือสิ่งต่าง ๆ อันจำเป็นแก่การสำรวจ รวมทั้งอาจตัด รานกิ่งไม้ หรือกระทำการอย่างอื่นแก่สิ่งกีดขวางแก่การสำรวจได้เท่าที่จำเป็นโดยต้องใช้ความระมัดระวังให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินน้อยที่สุด และเมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อย ให้ รฟม. ปรับปรุงที่ดินให้เป็นไปในสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด ถ้าไม่อาจดำเนินการได้หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินต้องได้รับความเสียหายอันเกิดจากการดำเนินการดังกล่าว ให้ รฟม. จ่ายเงินค่าเสียหายเพื่อการนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง พนักงานต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาตรา ๓๓ ในกรณีที่พนักงานหรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานตามมาตรา ๓๒ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่น บุคคลนั้นมีสิทธิเรียกเงินค่าเสียหายจาก รฟม. ได้ และให้ รฟม. พิจารณาจ่ายเงินค่าเสียหายให้ตามความเป็นธรรม โดยให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้มีสิทธิรับเงินค่าเสียหายมารับเงินค่าเสียหายจาก รฟม. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่บุคคลนั้นเรียกเงินค่าเสียหายจาก รฟม.ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นไม่ยินยอมตกลงในจำนวนเงินค่าเสียหายที่ รฟม. กำหนด หรือในกรณีผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าเสียหายไม่มารับเงินค่าเสียหายภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ รฟม. นำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากไว้กับธนาคารออมสินหรือธนาคารพาณิชย์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจโดยพลันในชื่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่น โดยแยกฝากเป็นบัญชีเฉพาะราย และถ้ามีดอกเบี้ยหรือดอกผลใดเกิดขึ้นเนื่องจากการฝากเงินนั้นให้ตกเป็นสิทธิแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นเมื่อ รฟม. นำเงินค่าเสียหายไปฝากไว้กับธนาคารออมสินหรือธนาคารพาณิชย์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามวรรคสองแล้ว ให้ รฟม. มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นทราบโดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ในกรณีผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าเสียหายไม่มารับเงินค่าเสียหายภายในเวลาที่กำหนด ให้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายในท้องถิ่นอย่างน้อยสามวันติดต่อกัน เพื่อให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิอื่นทราบหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดค่าเสียหาย การนำเงินค่าเสียหายไปฝากไว้กับธนาคารออมสินหรือธนาคารพาณิชย์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ และวิธีการในการรับเงินค่าเสียหายดังกล่าว ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๓๔ ในกรณีเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นไม่พอใจในจำนวนเงินค่าเสียหายที่ รฟม. กำหนดตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง ไม่ว่าบุคคลนั้นจะรับหรือไม่รับเงินค่าเสียหายที่ รฟม. ฝากไว้ ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ รฟม. ได้นำเงินค่าเสียหายฝากไว้ตามมาตรา ๓๓ วรรคสองการฟ้องคดีต่อศาลตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้การครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์หรือการดำเนินการใด ๆ ของพนักงานหรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานต้องสะดุดหยุดลงในกรณีที่ศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าเสียหายเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินหรือธนาคารพาณิชย์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ฝากเงินค่าเสียหาย หรือได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น นับแต่วันที่มีการจ่ายเงินค่าเสียหาย ในกรณีที่มีการจ่ายเงินค่าเสียหายให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่น แล้วแต่กรณีในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นพอใจและได้รับเงินค่าเสียหายไปแล้ว หรือมิได้ฟ้องคดีเรียกเงินค่าเสียหายต่อศาลภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือได้แจ้งเป็นหนังสือสละสิทธิไม่รับเงินค่าเสียหายดังกล่าว ผู้ใดจะเรียกร้องเงินค่าเสียหายนั้นอีกไม่ได้ ส่วนที่ ๒
การใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน
มาตรา ๓๕ การใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าโดยไม่จำต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน ส่วนในกรณีที่มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์และมิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์การโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาตามวรรคหนึ่งโดยมิได้มีการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม มาตรา ๓๖ การกำหนดที่ตั้งหรือจุดขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า ให้ รฟม. คำนึงถึงความเหมาะสมทางเทคนิค ความปลอดภัยในการเดินรถไฟฟ้า ความสะดวกของคนโดยสาร และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างในกรณีที่สถานีรถไฟฟ้า ทางเดินคนโดยสาร หรือทางเข้าออกสถานีรถไฟฟ้าอาจเชื่อมติดต่อกับอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นได้ และการเชื่อมติดต่อนั้นอาจทำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นได้รับประโยชน์ รฟม. อาจจะพิจารณาอนุญาตโดยกำหนดเงื่อนไขหรือผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ รฟม. อย่างหนึ่งอย่างใดด้วยหรือไม่ก็ได้
ส่วนที่ ๓
การบำรุงรักษาและป้องกันอันตรายระบบรถไฟฟ้า
มาตรา ๓๗ เมื่อได้ดำเนินการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าแล้ว ให้ รฟม. กำหนดเขตระบบรถไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาและความปลอดภัยของระบบรถไฟฟ้าและความปลอดภัยของบุคคลที่อยู่ในเขตระบบรถไฟฟ้าเมื่อ รฟม. ได้กำหนดเขตระบบรถไฟฟ้าตามวรรคหนึ่งแล้ว เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยที่อาจมีผลกระทบต่อระบบรถไฟฟ้าและบุคคลที่อยู่ในเขตระบบรถไฟฟ้า ให้ รฟม. มีอำนาจกำหนดบริเวณใกล้เคียงกับเขตระบบรถไฟฟ้าเป็นเขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้าให้รัฐมนตรีประกาศเขตระบบรถไฟฟ้าและเขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้า พร้อมทั้งแผนผังแสดงแนวเขตดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา และให้ รฟม. ปิดสำเนาประกาศดังกล่าว ณ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่ที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ กับให้ รฟม. จัดทำเครื่องหมายแสดงแนวเขตดังกล่าวตามระเบียบที่ผู้ว่าการกำหนด มาตรา ๓๘ ภายในเขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้าตามมาตรา ๓๗ ให้ รฟม. มีอำนาจประกาศกำหนดเงื่อนไขในการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่จะมีผลกระทบต่อระบบรถไฟฟ้าประกาศตามวรรคหนึ่งต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ปิดประกาศไว้ในบริเวณใกล้เคียงกับเขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้าและให้แจ้งให้ผู้มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารทราบในการอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่อยู่ภายในเขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้า ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารพิจารณาตรวจสอบให้ถูกต้องตามประกาศตามวรรคหนึ่งก่อนอนุญาตและแจ้งให้ รฟม. ทราบด้วยในการพิจารณาอนุญาตตามวรรคสาม ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารแจ้ง รฟม. เพื่อส่งผู้แทนเข้าร่วมพิจารณาด้วย มาตรา ๓๙ ในกรณีที่มีผู้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในเขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้า โดยมิได้รับอนุญาตหรือผู้ที่ได้รับอนุญาตมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในการอนุญาต ให้ผู้ว่าการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าการแจ้งให้ผู้มีอำนาจอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารทราบเป็นหนังสือเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขตามอำนาจหน้าที่ถ้ามีกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันอันตรายแก่ระบบรถไฟฟ้า ให้ผู้ว่าการมีอำนาจออกคำสั่งให้ระงับการกระทำหรือกระทำการเท่าที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นกรณีฉุกเฉินในระหว่างการดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้ มาตรา ๔๐ ในกรณีที่ รฟม. เห็นว่า ภายในเขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้าตามมาตรา ๓๗ มีความจำเป็นต้องประกาศกำหนดให้การกระทำใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคแก่ระบบรถไฟฟ้าเป็นการกระทำที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ให้ รฟม. มีอำนาจออกประกาศได้ ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดและเหตุผลให้ชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะการกระทำ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นประกาศตามวรรคหนึ่งต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาและต้องปิดประกาศไว้ในบริเวณใกล้เคียงกับเขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้าเมื่อมีประกาศตามวรรคหนึ่งให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาระบบขนส่งมวลชนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชนมาใช้บังคับกับการกระทำในเขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้าด้วยโดยอนุโลม มาตรา ๔๑ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคมีความจำเป็นต้องปักเสา พาดสาย วางท่อ หรือกระทำการใด ๆ ภายในเขตระบบรถไฟฟ้า ให้หน่วยงานของรัฐนั้นทำความตกลงกับผู้ว่าการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าการก่อนในกรณีที่การดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยเอกชนที่ได้รับสัมปทาน รฟม. อาจเรียกเก็บค่าตอบแทนในการใช้พื้นที่เขตดังกล่าวได้ มาตรา ๔๒ ในกรณีที่การสร้าง ขยาย ปรับปรุง ซ่อมแซม หรือบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า ทำให้มีการฟ้องคดีต่อศาล การฟ้องคดีนั้นไม่เป็นเหตุให้การครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือใช้อสังหาริมทรัพย์ของ รฟม. ต้องสะดุดหยุดลง
หมวด ๔
สัมปทาน
มาตรา ๔๓ ในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าตามพระราชบัญญัตินี้ รฟม. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจให้สัมปทานกิจการรถไฟฟ้าทั้งหมดหรือบางส่วนแก่เอกชนก็ได้ในกรณีที่การให้สัมปทานตามวรรคหนึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ให้การเสนอโครงการ การดำเนินโครงการและการกำกับดูแลและติดตามผลเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๔ ผู้รับสัมปทานต้อง(๑) เป็นนิติบุคคลไทย(๒) มีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงพอ และ(๓) มีคุณสมบัติอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๔๕ ในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าของผู้รับสัมปทานต้องจัดให้บุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ทำงานให้มากที่สุด เว้นแต่งานใดที่มีลักษณะเฉพาะด้าน ซึ่งผู้รับสัมปทานไม่สามารถจัดหาคนไทยที่มีความรู้ความชำนาญในด้านนั้นมาทำงานได้ ผู้รับสัมปทานอาจให้ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญจากต่างประเทศมาทำงานแทนได้ แต่ผู้รับสัมปทานต้องจัดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และความรู้ความชำนาญให้บุคคลสัญชาติไทย สามารถทำงานแทนได้ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับสัมปทาน มาตรา ๔๖ ให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ได้จัดสร้างหรือจัดหามาตามสัญญาสัมปทานตกเป็นของรัฐ เมื่อ(๑) ตรวจและรับมอบงานที่ได้รับสัมปทานกิจการรถไฟฟ้าทั้งหมดหรือบางส่วน(๒) ได้รับอนุญาตให้เดินรถ ในกรณีที่เป็นการให้สัมปทานการเดินรถไฟฟ้า(๓) เมื่อมีการเพิกถอนสัมปทานตามมาตรา ๕๑ หรือมาตรา ๕๓ มาตรา ๔๗ ในการดำเนินการตามสัมปทานหากมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์หรือมีความจำเป็นต้องใช้อสังหาริมทรัพย์ โดยไม่จำเป็นต้องได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นและไม่สามารถดำเนินการให้ได้มาหรือได้ใช้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยวิธีอื่น ให้ รฟม. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน แล้วแต่กรณี โดยผู้รับสัมปทานเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าทดแทน ทั้งนี้ ให้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้ในอสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของรัฐ มาตรา ๔๘ เพื่อประโยชน์ในการจัดโครงข่ายการเดินรถไฟฟ้าและอำนวยความสะดวกในการจราจร ผู้รับสัมปทานต้องยินยอมและให้ความสะดวกแก่ รฟม. หรือผู้รับสัมปทานรายอื่นสามารถเชื่อมต่อหรือร่วมใช้กิจการรถไฟฟ้าที่ผู้นั้นได้รับสัมปทาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดในการกำหนดหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสารในอัตราที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ที่พึงจะได้รับของทุกฝ่ายด้วย มาตรา ๔๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๗๕ (๗) การโอนสัมปทานจะกระทำได้ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การให้บริการประชาชน และผู้รับโอนมีคุณสมบัติตามมาตรา ๔๔ และต้องไม่ทำให้กิจการตามที่ได้รับสัมปทานหยุดชะงักผู้โอนสัมปทานและผู้รับโอนสัมปทานตามวรรคหนึ่ง ต้องรับผิดร่วมกันและแทนกันในการปฏิบัติตามสัมปทานและตามพระราชบัญญัตินี้การโอนสัมปทาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ได้รับอนุญาตให้โอนสัมปทาน ให้ รฟม. มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบพร้อมทั้งเหตุผลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ มาตรา ๕๐ ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานสิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคล หรือตกเป็นบุคคลล้มละลาย ให้ผู้ชำระบัญชีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีสิทธิแสดงเจตนาในการโอนสัมปทานตามมาตรา ๔๙ มาตรา ๕๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๗๕ (๗) คณะกรรมการอาจพิจารณาให้เพิกถอนสัมปทานได้ เมื่อปรากฏว่าผู้รับสัมปทาน(๑) ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่ได้รับสัมปทานจนอาจเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าหรือความเสียหายในการให้บริการแก่ประชาชน(๒) ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิธีการประกอบกิจการรถไฟฟ้าของ รฟม. จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน(๓) ไม่ชำระผลประโยชน์ตามสัมปทานให้แก่ รฟม.(๔) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุในสัมปทานว่าเป็นเหตุเพิกถอนสัมปทานได้ มาตรา ๕๒ ในกรณีที่มีเหตุตามมาตรา ๕๑ เกิดขึ้น ก่อนที่จะดำเนินการเพิกถอนสัมปทาน ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าเหตุดังกล่าวสามารถแก้ไขได้และเป็นประโยชน์แก่การให้บริการประชาชน คณะกรรมการอาจแจ้งให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดเสียก่อนก็ได้ แต่ถ้าผู้รับสัมปทานไม่แก้ไข ให้คณะกรรมการดำเนินการเพื่อเพิกถอนสัมปทานตามมาตรา ๕๑ โดยไม่ชักช้า มาตรา ๕๓ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ คณะรัฐมนตรี อาจมีมติดังต่อไปนี้(๑) ให้ผู้รับสัมปทานกระทำการหรือแก้ไขการใด(๒) เพิกถอนสัมปทานในกรณีที่มีเหตุสำคัญอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติตาม (๑) ให้ รฟม. แจ้งให้ผู้รับสัมปทานกระทำการหรือแก้ไขการนั้น ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่กระทำการหรือแก้ไขการนั้น ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ รฟม. เป็นผู้กระทำการหรือแก้ไขการนั้น โดยให้ผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติตาม (๒) ให้ รฟม. มีอำนาจเข้าครอบครองกิจการที่ให้สัมปทานได้ และให้ รฟม. จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้รับสัมปทานตามความเป็นจริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินค่าทดแทนที่กำหนดในสัมปทานในกรณีที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามวรรคสาม หรือในกรณีที่สัมปทานมิได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนไว้ ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเพื่อกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่จะจ่ายให้แก่ผู้รับสัมปทาน ประกอบด้วยผู้แทนของผู้รับสัมปทาน ผู้แทน รฟม. ผู้มีความรู้ความชำนาญในการประเมินราคาทรัพย์สิน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสามคนเป็นผู้พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว การกำหนดเงินค่าทดแทนของคณะกรรมการอาจกำหนดค่าเสียโอกาสให้ด้วยก็ได้ มาตรา ๕๔ ผู้รับสัมปทานต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของคณะกรรมการว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของ รฟม. และกฎกระทรวงเกี่ยวกับความปลอดภัยของระบบรถไฟฟ้า คนโดยสาร และบุคคลอื่นที่อยู่ในเขตระบบรถไฟฟ้า และต้องจัดให้มีการประกันภัยสำหรับความเสียหายการจัดให้มีการประกันภัยตามวรรคหนึ่งต้องมีผู้รับประกันภัยตั้งแต่สองรายขึ้นไป มาตรา ๕๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานหรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับพนักงาน มีอำนาจดังต่อไปนี้(๑) เข้าไปในบริเวณที่ประกอบกิจการรถไฟฟ้า และสถานที่ทำการของผู้รับสัมปทานในเวลาทำการ เพื่อตรวจกิจการให้เป็นไปตามสัมปทานและตามพระราชบัญญัตินี้(๒) สั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทานปฏิบัติการใด ๆ หรืองดเว้นการปฏิบัติการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องผู้รับสัมปทานมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานที่สั่งตาม (๒) ต่อรัฐมนตรี โดยยื่นต่อผู้ว่าการภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับแจ้งคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุดการอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานตามวรรคสาม ไม่เป็นเหตุทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่ง เว้นแต่รัฐมนตรีเห็นสมควรให้ทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งนั้น มาตรา ๕๖ ผู้รับสัมปทาน ผู้ปฏิบัติงานให้แก่ผู้รับสัมปทาน ตัวแทน และลูกจ้างของผู้รับสัมปทานมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด ๕
คนโดยสาร
มาตรา ๕๗ คนโดยสารต้องชำระค่าโดยสารตามที่คณะกรรมการประกาศ มาตรา ๕๘ รฟม. ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตและร่างกายของคนโดยสารตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงให้นำความในมาตรา ๕๔ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนทำสัญญากับผู้รับประกันภัยด้วยในกรณีที่มีการให้สัมปทานกิจการรถไฟฟ้า ให้ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่จัดให้มีการประกันภัยตามวรรคหนึ่งแทน รฟม. มาตรา ๕๙ ให้ รฟม. มีหน้าที่จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนโดยสารโดยเฉพาะคนทุพพลภาพ คนสูงอายุ และเด็ก ให้มีความสมบูรณ์และเหมาะสมแก่การใช้บริการกิจการรถไฟฟ้า มาตรา ๖๐ ในกรณีที่คนโดยสารหรือบุคคลอื่นที่อยู่ในเขตระบบรถไฟฟ้าได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินกิจการของ รฟม. หรือผู้รับสัมปทาน ให้มีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการให้คณะกรรมการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีที่มีการร้องเรียนตามวรรคหนึ่งและมีคำสั่งโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้สั่ง รฟม. หรือผู้รับสัมปทานแก้ไขความเดือนร้อนของผู้ร้องเรียนภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด โดยให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ใด ๆ ให้ รฟม. หรือผู้ได้รับสัมปทานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อมิให้เกิดเหตุตามที่ร้องเรียนขึ้นอีก มาตรา ๖๑ ให้ รฟม. มีหน้าที่กำหนดมาตรการใด ๆ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่คนโดยสารและบุคคลอื่นที่อยู่ในเขตระบบรถไฟฟ้า ในกรณีที่เกิดความเสียหายอย่างใดอันเนื่องมาจากความบกพร่องของการกำหนดมาตรการหรือการปฏิบัติของพนักงานของ รฟม.ให้ รฟม. รับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อคนโดยสารหรือบุคคลอื่นที่อยู่ในเขตระบบรถไฟฟ้า มาตรา ๖๒ คนโดยสารหรือบุคคลอื่นที่อยู่ในเขตระบบรถไฟฟ้าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน การรักษาความสงบเรียบร้อย ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในเขตระบบรถไฟฟ้าตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ รฟม. ปิดประกาศกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งไว้ในเขตระบบรถไฟฟ้าในบริเวณที่เหมาะสมกับการใช้กฎกระทรวงนั้นเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถมองเห็นได้ชัดเจน สำหรับกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการปฏิบัติในการโดยสารรถไฟฟ้า รฟม. ต้องจัดให้มีการเผยแพร่และปิดประกาศไว้ในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าและในรถไฟฟ้าด้วย มาตรา ๖๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามีหน้าที่รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในเขตระบบไฟฟ้าตามกฎกระทรวงหรือตามที่ผู้ว่าการมอบหมาย และให้มีอำนาจดังต่อไปนี้(๑) ค้นหรือจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อส่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย(๒) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ ที่ประกอบกิจการรถไฟฟ้ารวมถึงสถานที่ทำการของผู้รับสัมปทานในเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบกรณีที่มีเหตุว่าอาจจะมีอันตรายเกิดขึ้นกับคนโดยสารหรือบุคคลอื่นที่อยู่ในเขตระบบรถไฟฟ้าในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่ผู้ว่าการกำหนด หมวด ๖
การเงิน การบัญชี และการตรวจสอบ
มาตรา ๖๔ ให้ รฟม. จัดทำงบประมาณประจำปี โดยแยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ มาตรา ๖๕ รายได้ที่ รฟม. ได้รับจากการดำเนินการในปีหนึ่ง ๆ ให้ตกเป็นของรฟม. สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อได้หักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงาน เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนดในกรณีที่รายได้ไม่เพียงพอสำหรับกรณีตามวรรคหนึ่ง และ รฟม. ไม่สามารถหาเงินที่อื่นได้ รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่ รฟม. เท่าจำนวนที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของ รฟม. มาตรา ๖๖ ให้ รฟม. เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด มาตรา ๖๗ ให้ รฟม. วางและรักษาไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการสาธารณูปโภค แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควรตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการดังกล่าว และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ มาตรา ๖๘ ให้ รฟม. จัดทำงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนส่งผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี มาตรา ๖๙ ทุกปีให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีและทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินของ รฟม. ให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับงบการเงินนั้น มาตรา ๗๐ ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานของ รฟม. เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ ที่ปรึกษา พนักงาน ลูกจ้าง ผู้อื่นซึ่งเป็นตัวแทนของ รฟม. และผู้รับสัมปทาน มาตรา ๗๑ ให้ผู้สอบบัญชีทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และให้ รฟม. โฆษณารายงานประจำปีของปีที่ล่วงมาแล้ว แสดงงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้วภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้อง หมวด ๗
การกำกับและควบคุม
มาตรา ๗๒ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ รฟม. เพื่อการนี้จะสั่งให้คณะกรรมการ ผู้ว่าการ ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งให้ปฏิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี และสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของ รฟม. ได้ มาตรา ๗๓ ให้ รฟม. ทำรายงานปีละครั้งเสนอคณะรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลของงานในปีที่ล่วงมาแล้วและคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานที่จะทำในภายหน้า มาตรา ๗๔ ในกรณีที่ รฟม. จะต้องเสนอเรื่องใด ๆ ไปยังคณะรัฐมนตรีให้ รฟม.นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี มาตรา ๗๕ รฟม. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ได้(๑) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในเส้นทางหนึ่งเส้นทางใด(๒) ขยาย ปรับปรุง หรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งมีวงเงินเกินห้าร้อยล้านบาท(๓) กู้ยืมเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาท(๔) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อใช้ในการลงทุน(๕) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์(๖) ให้เช่าหรือให้สิทธิใด ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาท(๗) ให้สัมปทาน ต่ออายุสัมปทาน โอนสัมปทาน หรือเพิกถอนสัมปทานกิจการรถไฟฟ้าทั้งหมดหรือบางส่วน(๘) จัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด(๙) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด(๑๐) พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม. ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การให้บริการกิจการรถไฟฟ้า(๑๑) การจ่ายเงินค่าทดแทนและค่าเสียโอกาส ตามมาตรา ๕๓ วรรคสี่
หมวด ๘
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๗๖ ผู้ใดขัดขวางการกระทำของ รฟม. หรือพนักงาน หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานซึ่งกระทำการตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๕๕ (๑) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๗๗ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๖๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๗๘ ผู้รับสัมปทานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๕ (๒)ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๗๙ ผู้รับสัมปทาน ผู้ปฏิบัติงานให้แก่ผู้รับสัมปทาน ตัวแทน และลูกจ้างของผู้รับสัมปทาน ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามมาตรา ๕๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มาตรา ๘๐ ผู้ใดไม่ชำระค่าโดยสารตามอัตราที่กำหนดในมาตรา ๕๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามสิบเท่าของอัตราค่าโดยสารสูงสุด มาตรา ๘๑ ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการกีดขวางแก่การเดินรถไฟฟ้า ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือความไม่สะดวกแก่การเดินรถไฟฟ้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๘๒ ผู้ใดทำลาย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันทำให้เกิดความเสียหายหรือไร้ประโยชน์แก่ระบบรถไฟฟ้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตราย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๘๓ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำให้ไร้ประโยชน์ ทำลาย เปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอน เครื่องหมายแสดงแนวเขต หลักสำรวจ รั้ว เครื่องหมายแสดงระยะ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกหรือความปลอดภัย ซึ่ง รฟม. ได้ติดตั้งหรือทำให้ปรากฏในเขตระบบรถไฟฟ้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ระบบรถไฟฟ้าถูกทำลาย เสียหาย เสื่อมค่า หรือไร้ประโยชน์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๘๔ ผู้ใดปิดประกาศหรือโฆษณาบนรถไฟฟ้าหรือในเขตระบบรถไฟฟ้าโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ว่าการต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท มาตรา ๘๕ ผู้ใดแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือหรือส่งข่าวอันเป็นเท็จจนเป็นเหตุให้การเดินรถไฟฟ้าไม่อาจกระทำได้ตามปกติหรือเกิดความล่าช้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งทำให้เข้าใจว่าอาจเกิดอันตรายด้วยอุปกรณ์ วัตถุระเบิด แก๊สพิษ หรือด้วยวิธีใด ๆ ต่อความปลอดภัยของรถไฟฟ้าในระหว่างเดินรถไฟฟ้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๘๖ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้ที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้นด้วย มาตรา ๘๗ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษจำคุกให้มีอำนาจเปรียบเทียบได้เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ดำเนินคดีต่อไป
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๘๘ ให้โอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และความรับผิดตลอดจนงบประมาณขององค์การรถไฟฟ้ามหานครตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปเป็นของ รฟม. มาตรา ๘๙ ให้ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ พนักงาน และลูกจ้างขององค์การรถไฟฟ้ามหานครตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ พนักงานและลูกจ้างของ รฟม. แล้วแต่กรณี ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เท่าที่เคยได้รับอยู่เดิม และให้นับเวลาการทำงานของบุคคลดังกล่าวในองค์การรถไฟฟ้ามหานครต่อเนื่องกันด้วย สำหรับผู้ว่าการให้ถือว่าเป็นวาระการดำรงตำแหน่งวาระแรกตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่กฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น มาตรา ๙๐ ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม วิธีการแต่งตั้ง กำหนดเงินเดือนหรือค่าจ้าง เงื่อนไขการปฏิบัติงาน วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ ผู้ว่าการ และพนักงานเป็นอย่างอื่นแตกต่างจากพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจในเรื่องดังกล่าวแทนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ในบทมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน มาตรา ๙๑ ให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานองค์การรถไฟฟ้ามหานครซึ่งจดทะเบียนแล้ว ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ยังคงอยู่ต่อไปโดยให้ รฟม. ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้มีฐานะเป็นนายจ้าง มาตรา ๙๒ ให้ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ รฟม.แล้วแต่กรณี ตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมาตรา ๙๓ บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศใด ๆ ขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีการออกข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ. ๒๕๓๕ มีบทบัญญัติที่ยังไม่เพียงพอต่อการจัดทำ จัดการและการให้บริการขนส่งมวลชนด้วยระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งการดูแลรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ทำให้องค์การรถไฟฟ้ามหานครมีข้อจำกัดในการใช้อำนาจตามกฎหมายและไม่สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพประกอบกับการขนส่งมวลชนโดยระบบรถไฟฟ้าได้ทวีความจำเป็นยิ่งขึ้นอย่างมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต สมควรปรับปรุงอำนาจหน้าที่ขององค์การรถไฟฟ้ามหานครให้สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๑ ในพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๓ ให้แก้ไขคำว่า “นายกรัฐมนตรี” เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม” คำว่า “ผู้แทนกรมการผังเมือง” เป็น “ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง” คำว่า “ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก” เป็น “ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” และคำว่า “ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม” เป็น “ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้