พระราชบัญญัติ
การปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการ
ตามคำพิพากษาคดีอาญา
พ.ศ. ๒๕๒๗
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗
เป็นปีที่ ๓๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๒๗” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ บรรดาบทกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศอื่นในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้“ประเทศผู้โอน” หมายความว่า ประเทศที่ส่งนักโทษไปยังประเทศผู้รับโอน“ประเทศผู้รับโอน” หมายความว่า ประเทศที่รับนักโทษจากประเทศผู้โอน“นักโทษไทย” หมายความว่า บุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ว่าจะมีสัญชาติอื่นด้วยหรือไม่ก็ตามซึ่งต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ลงโทษและกำลังรับโทษอยู่ในต่างประเทศ“นักโทษต่างประเทศ” หมายความว่า บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ลงโทษและกำลังรับโทษอยู่ในราชอาณาจักร“โทษ” หมายความว่า จำคุก กักขัง และหมายความรวมถึงวิธีการเพื่อความปลอดภัย การคุมความประพฤติ วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน การพักการลงโทษ การพักการกักกัน และการลดวันต้องโทษด้วย“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษ“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงนั้นกฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑
บททั่วไป
มาตรา ๖ การโอนนักโทษไทยในต่างประเทศเพื่อมารับโทษต่อในราชอาณาจักร หรือการโอนนักโทษต่างประเทศในราชอาณาจักรเพื่อไปรับโทษต่อในต่างประเทศ ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้(๑) ประเทศผู้โอนและประเทศผู้รับโอนจะต้องมีสนธิสัญญาระหว่างกันในเรื่องความร่วมมือในการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาคดีอาญา(๒) การโอนนักโทษจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้โอนกับประเทศผู้รับโอน และนักโทษซึ่งจะได้รับการโอน(๓) ความผิดที่นักโทษไทยหรือนักโทษต่างประเทศได้รับโทษอยู่ต้องเป็นความผิดที่มีโทษฐานใดฐานหนึ่งตามกฎหมายของประเทศผู้รับโอน(๔) นักโทษซึ่งจะได้รับการโอนต้องไม่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีอาญาในความผิดอื่นหรืออยู่ในระหว่างการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ในประเทศผู้โอน(๕) การโอนนักโทษจะทำให้เกิดผลดีหรือเป็นประโยชน์แก่นักโทษผู้นั้น(๖) การโอนนักโทษจะมีผลกระทบต่อปัญหาอาชญากรรมและความรู้สึกของประชาชนในประเทศผู้โอนและประเทศผู้รับโอนเพียงใดหรือไม่ เมื่อคำนึงถึงลักษณะและความรุนแรงของการกระทำความผิดความใน (๓) มิให้ใช้บังคับในกรณีที่สนธิสัญญาระหว่างประเทศผู้โอนและประเทศผู้รับโอนมิได้กำหนดข้อความดังกล่าวไว้ หรือมีเงื่อนไขกำหนดไว้เป็นประการอื่น มาตรา ๗ บรรดาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับการโอนนักโทษ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๘ การโอนนักโทษตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสิทธิที่นักโทษนั้นจะพึงได้รับผลจากการอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษโดยประเทศผู้โอนภายหลังการโอน หมวด ๒
คณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษ
มาตรา ๙ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษ” ประกอบด้วยปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ เจ้ากรมพระธรรมนูญ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อธิบดีศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง อธิบดีกรมอัยการ อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา กรมราชทัณฑ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการกองสนธิสัญญา กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๐ การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุมถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากกรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๑ คณะกรรมการมีอำนาจตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายการประชุมของคณะอนุกรรมการให้นำมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๓
การโอนนักโทษไทย
มาตรา ๑๒ นักโทษไทยซึ่งประสงค์จะขอโอนมารับโทษต่อในราชอาณาจักรให้ยื่นคำขอพร้อมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่คณะกรรมการกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยที่มีอำนาจหน้าที่ประจำประเทศผู้โอน หรือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กระทรวงการต่างประเทศ แล้วแต่กรณี มาตรา ๑๓ ถ้านักโทษไทยไม่สามารถยื่นคำขอได้ด้วยตนเอง หรือเป็นเด็กหรือเยาวชนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน ให้สามีหรือภริยา ญาติหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีอำนาจยื่นคำขอตามมาตรา ๑๒ แทนนักโทษไทยได้ มาตรา ๑๔ ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอตามมาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๓ ไม่สามารถจัดหาเอกสารหลักฐานประกอบคำขอได้ด้วยตนเอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้จัดหาให้ มาตรา ๑๕ เมื่อได้รับคำขอพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งคำขอและเอกสารหลักฐานดังกล่าวต่อเลขานุการคณะกรรมการเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาให้คณะกรรมการพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการโอนนักโทษไทยโดยเร็ว แล้วแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ยื่นคำขอทราบโดยผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และในกรณีที่คณะกรรมการมีคำสั่งไม่อนุญาตเนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการแสดงเหตุผลของการมีคำสั่งไม่อนุญาตนั้นด้วยคำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด มาตรา ๑๖ ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำสั่งอนุญาตให้มีการโอนนักโทษไทยให้คณะกรรมการส่งเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อดำเนินการขอความเห็นชอบในการโอนนักโทษไทยดังกล่าวจากประเทศผู้โอน และเมื่อประเทศผู้โอนได้แจ้งผลการพิจารณาให้กระทรวงการต่างประเทศทราบแล้วให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการและผู้ยื่นคำขอทราบโดยเร็ว มาตรา ๑๗ เมื่อคณะกรรมการได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศว่าประเทศผู้โอนได้ให้ความเห็นชอบในการขอโอนนักโทษไทยจากประเทศผู้โอนตามมาตรา ๑๖ แล้ว ให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการให้มีการโอนนักโทษไทยผู้นั้นต่อไปโดยเร็วเมื่อนักโทษไทยเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว ในกรณีที่ศาลของประเทศผู้โอนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลงโทษจำคุกหรือกักขัง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำคำสั่งเป็นหนังสือส่งตัวนักโทษไทยนั้นไปคุมขังไว้ ณ สถานที่ที่จัดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นถ้านักโทษไทยนั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย การคุมความประพฤติ วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน การพักการลงโทษ และการพักการกักกัน ก็ให้นำวิธีการเช่นว่านั้นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ใช้อยู่ในราชอาณาจักรมาใช้ตามควรแก่กรณี มาตรา ๑๘ เพื่อประโยชน์ในการโอนนักโทษไทยมารับโทษต่อในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งลงโทษของศาลแห่งประเทศผู้โอนเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งลงโทษของศาลที่มีเขตอำนาจในราชอาณาจักรการอุทธรณ์ ฎีกา หรือการขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ในศาลที่มีเขตอำนาจในราชอาณาจักรเกี่ยวกับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ มาตรา ๑๙ เมื่อได้มีการตกลงรับโอนนักโทษไทย ให้คณะกรรมการใช้เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการลงโทษที่มีการรับรองเป็นทางการโดยประเทศผู้โอนเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ถ้าปรากฏว่าโทษตามคำพิพากษาหรือคำสั่งลงโทษของศาลแห่งประเทศผู้โอนตรงกับโทษตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในราชอาณาจักร ให้คณะกรรมการทำคำสั่งเป็นหนังสือส่งไปยังเจ้าพนักงานเรือนจำหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจในการปฏิบัติตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย การคุมความประพฤติ วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน การพักการลงโทษและการพักการกักกัน แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในกรณีที่ปรากฏว่า โทษหรือเงื่อนไขในการรับโทษตามกฎหมายของประเทศผู้โอนไม่ตรงกับโทษ หรือเงื่อนไขในการรับโทษตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในราชอาณาจักร ให้คณะกรรมการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาหรือศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง เพื่อพิจารณาสั่งปรับใช้โทษหรือเงื่อนไขในการรับโทษให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในราชอาณาจักร ทั้งนี้ โทษหรือเงื่อนไขในการรับโทษที่ปรับใช้จะต้องไม่หนักกว่าโทษหรือเงื่อนไขในการรับโทษที่นักโทษไทยจะต้องรับในประเทศผู้โอนในกรณีที่ปรากฏว่าความผิดที่นักโทษไทยได้รับอยู่ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแห่งประเทศผู้โอนไม่เป็นความผิดที่มีโทษฐานใดฐานหนึ่งตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการที่นักโทษไทยผู้นั้นได้รับโทษตามคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ศาลมีอำนาจสั่งใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยได้ และให้ศาลปรับโทษตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร แต่ต้องไม่หนักกว่าโทษหรือเงื่อนไขในการรับโทษที่นักโทษไทยจะต้องรับในประเทศผู้โอน ทั้งนี้ ให้นำวิธีการตามวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลมคำสั่งของศาลอาญาหรือศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางให้เป็นที่สุด มาตรา ๒๐ ให้ถือว่านักโทษไทยซึ่งได้รับการโอนมารับโทษต่อในราชอาณาจักรเป็นนักโทษเด็ดขาด หรือเป็นผู้ถูกสั่งใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย การคุมความประพฤติ วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน การพักการลงโทษและการพักการกักกัน ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในราชอาณาจักรว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณี มาตรา ๒๑ การอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ การพักการลงโทษ การพักการกักกัน และการลดวันต้องโทษสำหรับนักโทษไทยซึ่งรับโทษต่อในราชอาณาจักร ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เว้นแต่ในกรณีที่ได้มีสนธิสัญญากำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญานั้น มาตรา ๒๒ ในการรับโทษต่อในราชอาณาจักร ให้นักโทษไทยซึ่งได้รับการโอนได้รับประโยชน์จากเหตุดังต่อไปนี้(๑) การหักระยะเวลาการลงโทษที่นักโทษไทยผู้นั้นได้รับอยู่ตามกฎหมายของประเทศผู้โอนจนถึงวันที่มีการรับมอบ(๒) การอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษของประเทศผู้โอนเฉพาะในส่วนที่มีผลใช้บังคับถึงนักโทษไทยผู้นั้น(๓) กรณีที่มีกฎหมายของประเทศผู้โอนออกมาภายหลังและบัญญัติว่า การกระทำตามที่นักโทษไทยผู้นั้นได้รับโทษอยู่ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป หรือบัญญัติให้เป็นคุณแก่นักโทษไทยผู้นั้น(๔) การแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกคำพิพากษาหรือคำสั่งลงโทษของศาลแห่งประเทศผู้โอน(๕) การหักระยะเวลาตั้งแต่วันที่มีการรับมอบนักโทษไทยผู้นั้นจนถึงวันที่นักโทษไทยผู้นั้นเข้ารับโทษต่อในราชอาณาจักรเมื่อความตามวรรคหนึ่งปรากฏแก่คณะกรรมการ หรือเมื่อนักโทษไทยหรือผู้มีอำนาจยื่นคำขอตามมาตรา ๑๓ ร้องขอ ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งให้นักโทษไทยผู้นั้นได้รับประโยชน์ดังกล่าวได้คำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด หมวด ๔
การโอนนักโทษต่างประเทศ
มาตรา ๒๓ การยื่นคำขอโอนนักโทษต่างประเทศเพื่อไปรับโทษต่อในประเทศผู้รับโอน ให้ประเทศที่ประสงค์จะรับโอนยื่นคำขอผ่านวิถีทางการทูตตามแบบวิธีการและเอกสารหลักฐานที่คณะกรรมการกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กระทรวงการต่างประเทศ มาตรา ๒๔ เมื่อได้รับคำขอพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาส่งคำขอและเอกสารหลักฐานดังกล่าวต่อเลขานุการคณะกรรมการเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา มาตรา ๒๕ การโอนนักโทษต่างประเทศจะกระทำมิได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้(๑) เมื่อโทษที่นักโทษต่างประเทศได้รับอยู่ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นโทษฐานกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรสและพระราชธิดา ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร หรือความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสมบัติที่มีค่าทางศิลปะของชาติ(๒) (ก) นักโทษต่างประเทศได้รับโทษจำคุกในราชอาณาจักรแล้วไม่ถึงหนึ่งในสามของโทษจำคุกทั้งสิ้นตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือไม่ถึงสี่ปี สุดแต่ระยะเวลาใดจะน้อยกว่า(ข) นักโทษต่างประเทศได้รับโทษจำคุกในราชอาณาจักรแล้วไม่ถึงแปดปี ในกรณีที่เป็นความผิดฐานผลิต จำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต(๓) เมื่อโทษจำคุกที่นักโทษต่างประเทศจะต้องรับต่อไปในราชอาณาจักรเหลืออยู่น้อยกว่าหนึ่งปีของโทษจำคุกทั้งสิ้นตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา ๒๖ คณะกรรมการอาจพิจารณาไม่อนุญาตให้โอนนักโทษต่างประเทศ ถ้าเห็นว่าการโอนนั้นจะมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักรหรือต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน มาตรา ๒๗ ในกรณีที่นักโทษต่างประเทศผู้ใดมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับ คืนทรัพย์สินหรือชดใช้ราคาหรือค่าเสียหายตามคำพิพากษาในคดีอาญา หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ นักโทษต่างประเทศผู้นั้นจะต้องทำการชำระคืน หรือชดใช้ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อนที่คณะกรรมการจะมีคำสั่งเห็นชอบในการโอน มาตรา ๒๘ ให้คณะกรรมการมีคำสั่งให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการโอนนักโทษต่างประเทศ และให้แจ้งคำสั่งนั้นให้ประเทศผู้รับโอนทราบโดยผ่านกระทรวงการต่างประเทศคำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด และให้ถือว่าคำสั่งเห็นชอบของคณะกรรมการเป็นหลักฐานในการโอนนักโทษต่างประเทศไปยังประเทศผู้รับโอน หมวด ๕
การดำเนินการรับมอบและส่งมอบนักโทษ
มาตรา ๒๙ การรับมอบนักโทษไทยและการส่งมอบนักโทษต่างประเทศซึ่งจะได้รับการโอน ให้ดำเนินการผ่านวิถีทางการทูต ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๓๐ เมื่อได้มีการรับมอบนักโทษไทยในประเทศผู้โอน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดการให้นักโทษไทยผู้นั้นเดินทางจากประเทศผู้โอนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเร็ว ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสามวันนับแต่วันที่มีการรับมอบ เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น และเมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วต้องดำเนินการให้นักโทษไทยผู้นั้นเข้ารับโทษต่อทันที มาตรา ๓๑ เมื่อได้มีการส่งมอบนักโทษต่างประเทศแล้ว นักโทษต่างประเทศผู้นั้นจะต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่การส่งมอบเสร็จสิ้นลง เว้นแต่คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายจะได้ขยายระยะเวลาให้ตามความจำเป็น หมวด ๖
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๓๒ นักโทษไทยผู้ใดหลบหนีการควบคุมตัวในระหว่างการเดินทางจากประเทศผู้โอนมายังราชอาณาจักร หรือนักโทษต่างประเทศผู้ใดหลบหนีการควบคุมตัวในระหว่างก่อนเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคหนึ่งได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง มาตรา ๓๓ นักโทษไทยผู้ใดขัดขืน หรือไม่ปฏิบัติตามการจัดการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๓๐ หรือนักโทษต่างประเทศผู้ใดขัดขืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา ๓๔ การกระทำความผิดตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๓ ในส่วนที่เกี่ยวกับนักโทษไทย แม้กระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร มาตรา ๓๕ ให้คณะกรรมการมีอำนาจเปรียบเทียบความผิดตามมาตรา ๓๓ ได้ และในการนี้ให้คณะกรรมการมีอำนาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานสอบสวนดำเนินการเปรียบเทียบได้ โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการเปรียบเทียบหรือเงื่อนไขใด ๆ ให้ผู้ได้รับมอบหมายปฏิบัติตามที่เห็นสมควรก็ได้เมื่อผู้กระทำความผิดได้เสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้ดำเนินการโอนนักโทษต่อไปถ้าผู้กระทำความผิดไม่เสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ ให้คณะกรรมการหรือผู้ได้รับมอบหมายส่งตัวผู้กระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันนี้ได้มีบุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งรับโทษอยู่ในต่างประเทศเนื่องจากกระทำความผิดในต่างประเทศ และบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งรับโทษอยู่ในประเทศไทยเนื่องจากกระทำความผิดในประเทศไทยอยู่เป็นจำนวนมาก สมควรที่จะกำหนดมาตรการให้มีการโอนตัวผู้กระทำความผิดดังกล่าวให้ได้รับโทษต่อในประเทศที่ผู้นั้นมีสัญชาติได้ เพื่อประโยชน์ในการที่แต่ละประเทศจะได้ให้การอบรมแก้ไขฟื้นฟูจิตใจผู้กระทำความผิดที่มีสัญชาติของประเทศของตนให้กลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๐ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือ โดยที่บทบัญญัติมาตรา ๒๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าการโอนนักโทษต่างประเทศจะกระทำมิได้ถ้านักโทษต่างประเทศได้รับโทษจำคุกไปแล้วยังไม่ถึงหนึ่งในสามของโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ถึงสี่ปี แต่ระยะเวลาสี่ปีให้เปลี่ยนเป็นไม่ถึงแปดปี ในกรณีที่เป็นโทษฐานผลิต จำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ซึ่งถือเอาโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ถึงจำคุกตลอดชีวิตเป็นสำคัญ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้นั้นจะได้ถูกพิพากษาลงโทษหนักเบาประการใดอันอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่นักโทษซึ่งทำผิดในโทษฐานเดียวกัน แต่ที่ศาลเห็นว่าไม่ควรลงโทษจำคุกตลอดชีวิต สมควรแก้ไขให้ระยะเวลาแปดปีนี้ใช้เฉพาะในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษถึงจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้