ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์  พุทธศักราช2482
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์  พุทธศักราช2482

ชลประทานราษฎร์
พุทธศักราช ๒๔๘๒
                       
 
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ ๑๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒
เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรจัดการควบคุมการชลประทานราษฎร์ เพื่อคุ้มครองและรักษาประโยชน์ของราษฎร
 
จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ พุทธศักราช ๒๔๘๒”
 
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการเหมืองฝายและพนัง พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระราชบัญญัติควบคุมการเหมืองฝายและพนังแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๘ และพระราชบัญญัติควบคุมการเหมืองฝายและพนัง (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๐ กับบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ซึ่งบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งมีข้อความขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“การชลประทาน” หมายความว่า กิจการที่บุคคลได้จัดทำขึ้น เพื่อส่งน้ำจากทางน้ำหรือแหล่งน้ำใด ๆ เป็นต้นว่า แม่น้ำ ลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ไปใช้ในการเพาะปลูก และให้หมายถึงกิจการที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันการเสียหายแก่การเพาะปลูกอันเกี่ยวกับน้ำ
“การชลประทานส่วนบุคคล” หมายความว่า การชลประทานที่บุคคลคนเดียวหรือหลายคนได้จัดทำขึ้น เพื่อประโยชน์แก่การเพาะปลูกของบุคคลนั้น ๆ โดยเฉพาะ
“การชลประทานส่วนราษฎร” หมายความว่า การชลประทานที่ราษฎรได้ร่วมกันจัดทำขึ้น เพื่อประโยชน์แก่การเพาะปลูกของราษฎรในท้องที่
“การชลประทานส่วนการค้า” หมายความว่า การชลประทานที่บุคคลได้จัดทำขึ้นเพื่อค่าตอบแทนจากผู้ที่ต้องการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกจากการชลประทานนั้น
“เขตการชลประทาน” หมายความว่า เขตที่ดินซึ่งได้รับประโยชน์จากการชลประทานนั้น
“เครื่องอุปกรณ์การชลประทาน” หมายความว่า สิ่งของใด ๆ ที่ใช้ประกอบสำหรับทำการชลประทาน
“เจ้าพนักงาน” หมายความว่า คณะกรมการจังหวัด ข้าหลวงประจำจังหวัด คณะกรมการอำเภอ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าหรือผู้ช่วยหัวหน้าการชลประทานและเจ้าพนักงานผู้ควบคุมการชลประทาน
 
มาตรา ๕ เพื่อประโยชน์แก่การแบ่งปันน้ำในยามขาดแคลน หรือเพื่อความปลอดภัยหรือผาสุกของสาธารณชน ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจสั่งปิดหรืองดใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของการชลประทานทุกประเภทไว้ได้ชั่วคราว หรือสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อชักน้ำไปใช้ในการนั้นได้
ในกรณีที่เกี่ยวกับการแบ่งปันน้ำในยามขาดแคลน ให้ผู้ได้รับประโยชน์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการนั้น
 
มาตรา ๖ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้น้ำจากการชลประทานส่วนบุคคลหรือการชลประทานส่วนราษฎรเกินความจำเป็น หรือเอาน้ำไปทิ้งเสียโดยเปล่าประโยชน์ในเมื่อเจ้าพนักงานได้สั่งห้าม
 
การชลประทานส่วนบุคคล
                       
 
มาตรา ๗ ผู้ใดจะทำการชลประทานส่วนบุคคล จะต้องขอและได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อน เว้นแต่จะได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่เนื้อที่ไม่เกินสองร้อยไร่ หรือเป็นการกระทำชั่วครั้งคราวซึ่งมิได้มีการก่อสร้างไว้เป็นประจำ แต่ทั้งนี้ต้องไม่กีดขวางทางน้ำสาธารณะหรือทำให้เสียหายแก่บุคคลอื่น
การขออนุญาตนั้น ให้ยื่นคำขอต่อคณะกรมการอำเภอเจ้าของท้องที่ และให้คณะกรมการอำเภอปิดประกาศโฆษณาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและในตำบลติดต่อกับตำบลที่จะทำการชลประทานนั้นเป็นเวลาสิบห้าวัน ผู้ใดเห็นว่าตนจะได้รับความเสียหายจากการชลประทานนี้ ให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อคณะกรมการอำเภอภายในระยะเวลาดังกล่าวแล้ว เฉพาะในกรณีฉุกเฉินให้พิจารณาอนุญาตไปก่อนได้
การอนุญาตตามความในวรรคต้น
๑) ถ้าทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่เนื้อที่ไม่เกินห้าร้อยไร่และอยู่ในท้องที่อำเภอเดียวกัน ให้คณะกรมการอำเภอนั้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตแล้วรายงานให้จังหวัดทราบ และให้จังหวัดรายงานไปยังกระทรวงเกษตราธิการ
๒) ถ้าทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่เนื้อที่ไม่เกินหนึ่งพันไร่และอยู่ในท้องที่จังหวัดเดียวกัน ให้คณะกรมการจังหวัดนั้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตแล้วรายงานไปยังกระทรวงเกษตราธิการ
๓) ถ้าทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่เนื้อที่เกินกว่าหนึ่งพันไร่ หรือเนื้อที่คาบเกี่ยวต่างจังหวัดกัน ให้กระทรวงเกษตราธิการเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
เจ้าของการชลประทานส่วนบุคคลที่ทำอยู่แล้วก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ จะต้องขออนุญาตภายในกำหนดเวลาสิบสองเดือนนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๘ ผู้ขออนุญาตทำการชลประทานตามความในมาตรา ๗ จะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอแผนที่สังเขปซึ่งแสดงรายการ ต่อไปนี้
(ก) จำนวนเนื้อที่เพาะปลูกที่มีอยู่ในเวลาที่ขออนุญาต
(ข) จำนวนเนื้อที่ซึ่งจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเนื่องจากการชลประทานนั้น
(ค) แนวทางน้ำ แหล่งน้ำ หมู่บ้านและสถานที่ถาวรต่าง ๆ เท่าที่มีอยู่ในเขตนั้น
(ง) แนวทางและจุดที่ตั้งของการชลประทานที่ขอทำขึ้น
(๒) เสนอรายละเอียด คือ
(ก) สภาพของลำน้ำที่จะใช้ทำการชลประทานนั้น ในฤดูแล้งมีน้ำเหลืออยู่เพียงใด ในฤดูน้ำมีน้ำตามปกติเท่าใด และระดับน้ำสูงที่สุดเท่าใดโดยคิดจากระดับท้องน้ำขึ้นมา
(ข) ความกว้าง ลึกของลำน้ำเดิม และขนาดส่วนสัดของการชลประทานที่ขอทำขึ้น
(ค) จำนวนเจ้าของนาภายในเขตที่จะได้รับน้ำจากการชลประทานนั้นรวมทั้งที่มีอยู่เดิมและที่จะมีขึ้นใหม่
(๓) ให้ชี้แจงว่า การชลประทานรายอื่นได้มีอยู่ก่อนแล้วในลำน้ำนั้นหรือไม่ ถ้ามีให้แจ้งเขตและระยะที่ตั้งถัดไปทางเหนือน้ำ ๑ ราย ทางใต้น้ำ ๑ ราย
 
มาตรา ๙ ในกรณีที่คณะกรมการจังหวัดเห็นว่า การชลประทานส่วนบุคคลรายใดมีปริมาณน้ำเกินความจำเป็นแล้ว ก็ให้มีอำนาจสั่งเฉลี่ยน้ำให้แก่ที่ดินที่ใกล้เคียงได้เป็นครั้งคราว แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จะต้องช่วยเหลือเจ้าของหรือผู้ควบคุมตามสมควร
การชลประทานส่วนบุคคลรายใดที่ได้ทำมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี ถ้าคณะกรมการจังหวัดเห็นเป็นการจำเป็นที่จะขยายเขตการชลประทานให้กว้างขวางออกไปเพื่อประโยชน์ของราษฎรหมู่มาก ก็ให้มีอำนาจสั่งเปลี่ยนประเภทการชลประทานส่วนบุคคลรายนั้นเป็นการชลประทานส่วนราษฎรได้ โดยให้ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการชลประทานนั้นร่วมกันออกเงินค่าทำขวัญตามส่วนมากและน้อย
ถ้าหากไม่ตกลงกันในเรื่องเงินค่าทำขวัญ คณะกรมการจังหวัดและผู้ที่จะได้รับประโยชน์มีสิทธิที่จะขอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการได้
ถ้าจะต้องตั้งอนุญาโตตุลาการตามความในวรรคก่อน ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๑๐ เจ้าของการชลประทานส่วนบุคคล จะต้องปฏิบัติการมิให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของบุคคลอื่นและจะต้องปล่อยน้ำให้ที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งเคยได้รับน้ำจากการชลประทานนั้นมาแต่ก่อนได้ใช้สอยตามสมควร ถ้าเจ้าของหรือผู้ควบคุมกระทำหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอาจจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือสิ่งสาธารณประโยชน์ ให้คณะกรมการอำเภอมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร ถ้าพ้นกำหนดเวลา เจ้าของหรือผู้ควบคุมไม่ปฏิบัติตาม ให้คณะกรมการอำเภอมีอำนาจเข้าดำเนินการเพื่อป้องกันความเสียหายได้ทันที
 
มาตรา ๑๐ ทวิ ในการจัดทำการชลประทานส่วนบุคคลตามหมวดนี้ ไม่ว่าจะต้องขออนุญาตตามมาตรา ๗ หรือไม่ก็ตาม ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินของบุคคลอื่นหรือที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้จัดทำการชลประทานส่วนบุคคลดังกล่าวอาจทำทางน้ำผ่านที่ดินนั้นได้ เมื่อขอและได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว แต่ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินดังกล่าว
การขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ขออนุญาตยื่นคำขอต่อนายอำเภอเจ้าของท้องที่และจะต้องปฏิบัติตามมาตรา ๘ (๑) ด้วย และให้นายอำเภอแจ้งให้เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินที่จะทำทางน้ำผ่านทราบโดยจดหมายลงทะเบียนไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินพร้อมทั้งปิดประกาศ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัด ที่ว่าการเขต ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนันในท้องที่ และที่ดินที่จะทำทางน้ำผ่านล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ผู้ใดเห็นว่าตนจะได้รับความเสียหายจากการทำทางน้ำผ่านที่ดิน ให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อนายอำเภอภายในระยะเวลาดังกล่าวแล้ว เฉพาะในกรณีฉุกเฉินให้พิจารณาอนุญาตไปก่อนได้
ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตตามคำขอ ให้ปิดประกาศและแจ้งการอนุญาตพร้อมทั้งรายละเอียดให้เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินทราบโดยวิธีการดังระบุไว้ในวรรคสองล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ให้นำมาตรา ๗ วรรคสามมาใช้บังคับแก่การอนุญาตตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมตามหลักชลประทาน และจะต้องให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินน้อยที่สุด
จำนวนเงินค่าทดแทนนั้นไม่อาจตกลงกันได้ ผู้ขออนุญาตอาจร้องขอต่อคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ประธานสภาจังหวัดเป็นรองประธานกรรมการ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เกษตรจังหวัด ผู้แทนกรมชลประทาน และนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่เป็นกรรมการ เป็นผู้กำหนด โดยให้คำนึงถึงสภาพของที่ดินตลอดจนประโยชน์ที่ผู้ขออนุญาตจะได้รับและความเสียหายที่จะเกิดแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินอื่นด้วย
เมื่อคณะกรรมการได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนตามวรรคห้าแล้วเจ้าของที่ดินไม่ยอมรับเงินค่าทดแทน และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปิดประกาศตามวรรคสามโดยอนุโลม และได้วางเงินค่าทดแทนดังกล่าวต่อศาลแล้ว ผู้ขออนุญาตมีสิทธิเข้าดำเนินการได้
การที่เจ้าของที่ดินไม่ยินยอมตกลงในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินตามที่คณะกรรมการกำหนดในวรรคห้า รับหรือไม่รับเงินค่าทดแทนที่ได้วางไว้ต่อศาล ไม่ตัดสิทธิเจ้าของที่ดินจะฟ้องเรียกเงินส่วนที่ตนเห็นว่าควรจะได้รับภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ได้วางเงินต่อศาล ในกรณีศาลพิพากษาให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของที่ดินได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นนับจากวันที่วางเงินค่าทดแทนต่อศาล
การที่เจ้าของที่ดินฟ้องคดียังศาลตามวรรคเจ็ด ไม่เป็นเหตุให้การครอบครองการใช้ที่ดินของผู้ขออนุญาตสะดุดหยุดลง
 
มาตรา ๑๐ ตรี ทางน้ำตามมาตรา ๑๐ ทวิ ต้องใช้เพื่อประโยชน์ของที่ดินที่ได้รับน้ำจากทางน้ำนั้น ถ้าต่อมาที่ดินที่ได้รับน้ำนั้นหมดความจำเป็นที่จะใช้น้ำจากทางน้ำนั้นเพื่อประกอบการเพาะปลูกอีกต่อไป เมื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่มีทางน้ำผ่านร้องขอและได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ให้สิทธิของเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ได้รับน้ำจากทางน้ำนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง
ในระหว่างที่ทางน้ำจะต้องใช้เพื่อประโยชน์ของที่ดินที่ได้รับน้ำ เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ได้รับน้ำมีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ทางน้ำนั้นโดยให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่มีทางน้ำผ่านน้อยที่สุดตามพฤติการณ์
 
การชลประทานส่วนราษฎร
                       
 
มาตรา ๑๑ แม่น้ำ ลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึงบาง หรือทางน้ำแหล่งน้ำใด ๆ นั้น เมื่อข้าหลวงประจำจังหวัดเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การชลประทาน ก็ให้มีอำนาจประกาศกำหนดเขตไว้ได้ และภายในเขตที่กำหนดไว้นั้น ข้าหลวงประจำจังหวัดมีอำนาจที่จะสั่งห้ามมิให้กระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางแก่การชลประทาน
 
มาตรา ๑๒ การชลประทานส่วนราษฎรที่จะจัดทำขึ้นใหม่ให้เป็นไปตามความเห็นชอบของราษฎรส่วนมากที่จะได้รับประโยชน์จากการชลประทานนั้น โดยการคำนวณเสียงตามมาตรา ๒๒ (ก) ให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากราษฎรและพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรา ๗ นอกจากวรรคสุดท้าย
 
มาตรา ๑๓ ให้นายอำเภอมีอำนาจตั้งบุคคลที่สมควรตามความเห็นชอบของราษฎรส่วนมากที่ได้รับประโยชน์ในเขตการชลประทาน เป็นหัวหน้าการชลประทานรายนั้น หรือเป็นผู้ช่วยตามจำนวนที่เห็นสมควร และให้มีอำนาจถอดถอนบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งดังว่านั้นในเมื่อราษฎรส่วนมากเห็นสมควร
 
มาตรา ๑๔ การเกณฑ์แรงงานหรือเครื่องอุปกรณ์การชลประทานส่วนราษฎรในเวลาปกติ ให้นายอำเภอเป็นผู้สั่งเกณฑ์ ในเวลาฉุกเฉิน ให้กรมการอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือหัวหน้าการชลประทานเป็นผู้สั่งเกณฑ์จากผู้ที่ได้รับประโยชน์ในเขตการชลประทานนั้น
 
มาตรา ๑๕ การเกณฑ์เครื่องอุปกรณ์การชลประทานส่วนราษฎร ให้เจ้าพนักงานคำนวณให้พอเพียงต่อการทำ แล้วกำหนดเกณฑ์เอาตามเนื้อที่ที่ทำการเพาะปลูกโดยเฉลี่ยไร่หนึ่งมีส่วนเท่า ๆ กัน เศษของไร่หรือผู้ที่มีเนื้อที่ไม่ถึงหนึ่งไร่ ให้นับเป็นหนึ่ง
 
มาตรา ๑๖ การเกณฑ์แรงและแบ่งงานทำการชลประทานส่วนราษฎร ให้จัดแบ่งมากน้อยตามส่วนของจำนวนเนื้อที่ที่มีไว้เพื่อทำการเพาะปลูกของผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือผู้ครอบครองที่ดินนั้น
งานใดที่แบ่งแยกกันทำไม่ได้ ให้เกณฑ์แรงและแบ่งงานโดยคำนวณดังต่อไปนี้ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดินคนใดมีเนื้อที่ไม่เกินสิบไร่ให้ไปทำงานคนหนึ่ง ถ้ามากกว่าสิบไร่ ให้คำนวณทวีขึ้นไปโดยอัตราสิบไร่ต่อหนึ่งคน เศษของสิบไร่ ถ้าถึงครึ่ง ให้นับเป็นหนึ่ง
 
มาตรา ๑๗ ในการแบ่งปันการงานและเครื่องอุปกรณ์การชลประทานส่วนราษฎร ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าการชลประทานหรือผู้ช่วยในเขตการชลประทานนั้นเป็นผู้แบ่งและควบคุมงานจนกว่าจะแล้วเสร็จ
 
มาตรา ๑๘ การบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมแก้ไขการชลประทานส่วนราษฎร ให้ราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากการชลประทานนั้น มีหน้าที่ทำงานตามคำสั่งเกณฑ์ของเจ้าพนักงาน
ในการนี้ถ้ามีกรณีโต้แย้งเกิดขึ้น ให้นายอำเภอมีอำนาจสั่งดำเนินการตามที่เห็นสมควรเพื่อให้เสร็จก่อนฤดูทำการเพาะปลูก
 
มาตรา ๑๙ ถ้าเขตก่อสร้างของการชลประทานส่วนราษฎรตรงที่ใดไม่มีที่ขุดดินหรือทิ้งมูลดินพอ ก็ให้นายอำเภอมีอำนาจสั่งให้ขุดหรือทิ้งมูลดินในที่ดินที่ใกล้หรือข้างเคียงซึ่งติดต่อกับเขตก่อสร้างของการชลประทานนั้น ห่างข้างละไม่เกิน ๕ เมตร
 
มาตรา ๒๐ เพื่อประโยชน์ในการขุด ทำ ซ่อมหรือแก้ไขการชลประทานส่วนราษฎร ให้นายอำเภอมีอำนาจสั่งตัด ฟัน ชัก ลาก ไม้กระยาเลยหวงห้ามชนิดที่ ๓ ในป่าได้ตามที่เห็นสมควร
 
มาตรา ๒๑ การแบ่งปันน้ำในเขตการชลประทานส่วนราษฎรให้เป็นหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าการชลประทานหรือผู้ช่วยเป็นผู้แบ่งปันตามส่วนของจำนวนเนื้อที่ที่ทำการเพาะปลูก เว้นแต่ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้จึงให้นายอำเภอหรือผู้แทน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหัวหน้าการชลประทานในส่วนที่เกี่ยวข้องนั้น ไม่น้อยกว่าสามนายเป็นผู้พิจารณาสั่งชี้ขาดตามเสียงข้างมาก
ในเวลาน้ำไม่พอแจกจ่ายให้เป็นประโยชน์แก่การเพาะปลูกได้ทั่วถึงกัน ให้นายอำเภอหรือผู้แทนประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและหัวหน้าการชลประทานในเขตการชลประทานนั้นพิจารณาสั่งชี้ขาดตามเสียงข้างมาก
ตามความในวรรค ๒ นี้ ถ้าเป็นกรณีในระหว่างอำเภอต่ออำเภอ ให้นำมาตรา ๒๒ (ข) และ (ค) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๒๒ ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม รวมกัน หรือเพิกถอนการชลประทานส่วนราษฎรภายในเนื้อที่ซึ่งได้รับอนุญาตไว้แล้ว ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(ก) กรณีที่เกิดขึ้นในอำเภอเดียวกัน ให้นายอำเภอสั่งชี้ขาดตามเสียงข้างมากของราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากการชลประทานนั้น การออกเสียงลงคะแนนให้ถือเกณฑ์ดังนี้ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่เกินสิบไร่ ให้ออกเสียงได้เสียงหนึ่ง ถ้าเกินสิบไร่ให้คำนวณทวีขึ้นโดยอัตราสิบไร่ต่อหนึ่งเสียง เศษของสิบไร่ ถ้าถึงครึ่ง ให้นับเป็นหนึ่ง
(ข) กรณีที่เกิดขึ้นระหว่างอำเภอต่ออำเภอในจังหวัดเดียวกัน ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณามีจำนวนอย่างน้อยห้าคน และให้ข้าหลวงประจำจังหวัดสั่งชี้ขาดตามเสียงข้างมาก
(ค) กรณีที่เกิดขึ้นระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดนั้น ๆ ตั้งกรรมการขึ้นจังหวัดละสามคน และให้อธิบดีกรมชลประทานตั้งกรรมการอีกคนหนึ่งรวมเป็นคณะกรรมการพิจารณา แล้วให้ข้าหลวงประจำจังหวัดนั้น ๆ สั่งชี้ขาดตามเสียงข้างมาก
 
มาตรา ๒๓ ถ้าจะต้องมีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลเพื่อการชลประทานส่วนราษฎร ให้นำกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับ
 
มาตรา ๒๔ ผู้ใดไม่สามารถไปทำงานตามคำสั่งเกณฑ์ของเจ้าพนักงาน ถ้าสามารถจัดผู้อื่นไปทำแทน ผู้นั้นต้องจัดให้ผู้อื่นที่สมควรไปทำแทน หรือจะให้เงินทดแทนค่าแรงงานตามปริมาณแห่งงานที่จะต้องทำก็ได้
 
มาตรา ๒๕ เมื่อคณะกรมการอำเภอพิจารณาเห็นสมควรว่า ผู้ใดไม่สามารถจะปฏิบัติตามคำสั่งเกณฑ์ของเจ้าพนักงานและไม่สามารถจัดหาคนอื่นทำแทน ทั้งไม่มีทรัพย์จะเสียค่าทดแทน จะงดเว้นการเกณฑ์ตามพระราชบัญญัตินี้เฉพาะคราวที่จำเป็นแก่ผู้นั้นเสียก็ได้
 
มาตรา ๒๖ กิจการในหน้าที่ซึ่งเจ้าพนักงานได้แบ่งปันให้ผู้ใดกระทำ ถ้าผู้นั้นละเลยไม่กระทำตามคำสั่งด้วยประการใด ๆ ก็ดี นอกจากที่จะต้องถูกลงโทษตามมาตรา ๓๘ (ก) แล้ว ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจัดบุคคลอื่นเข้ากระทำแทนโดยกำหนดค่าจ้างตามสมควรและให้ผู้ละเลยเป็นผู้รับผิดชอบออกค่าจ้างนั้น
 
มาตรา ๒๗ กิจการใดซึ่งเกี่ยวกับการชลประทานส่วนราษฎร เมื่อเจ้าพนักงานได้สั่งชี้ขาดไปตามความในมาตรา ๒๑, ๒๒ แล้ว ให้ถือว่าเป็นที่สุด
 
มาตรา ๒๘ บุคคลผู้มีหน้าที่ควบคุมทำการชลประทานส่วนราษฎรในเขตตำบลใด ให้ได้รับยกเว้นการเกณฑ์แรงและเครื่องอุปกรณ์การชลประทานในเขตตำบลนั้นดังนี้
(ก) กำนันและหัวหน้าการชลประทาน คนละสามสิบไร่
(ข) ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยหัวหน้าการชลประทาน คนละสิบห้าไร่
ถ้าในเขตนั้นมีเนื้อที่เพาะปลูกไม่ถึงห้าร้อยไร่ ให้บุคคลดังกล่าวแล้วได้รับการยกเว้นเพียงกึ่งอัตรา
แต่ถ้าราษฎรผู้ได้รับประโยชน์เห็นควรให้ได้รับการยกเว้นมากกว่าที่กล่าวไว้ในมาตรานี้ ก็ให้นายอำเภอยกเว้นตามเสียงข้างมากของราษฎร
 
มาตรา ๒๙ ผู้ใดได้รับสิทธิตามมาตรา ๒๘ แต่ไม่มีเนื้อที่ดินทำการเพาะปลูกของตนเองหรือมีไม่พอตามสิทธิที่ได้รับ ให้ผู้นั้นมีสิทธิคุ้มครองเนื้อที่ดินทำการเพาะปลูกของผู้อื่นเสมือนที่ดินของตนเองได้อีกไม่เกินสามราย แต่เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วเนื้อที่ดินต้องไม่เกินกำหนดอัตราดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘
 
การชลประทานส่วนการค้า
                       
 
มาตรา ๓๐ ผู้ใดจะทำการชลประทานส่วนการค้า ให้ยื่นคำขอสัมปทานต่อกระทรวงเกษตราธิการ และเมื่อได้รับสัมปทานแล้ว จึงจะทำได้ เว้นแต่จะเป็นการกระทำชั่วครั้งคราวซึ่งมิได้มีการก่อสร้างไว้เป็นประจำและไม่กีดขวางทางน้ำสาธารณะหรือทำให้เสียหายแก่บุคคลอื่น
 
มาตรา ๓๑ ผู้ขอสัมปทานทำการชลประทานส่วนการค้าต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ กับแสดงรายการต่อไปนี้อีกด้วย คือ
(ก) อัตราค่าตอบแทนที่จะเรียกเก็บจากผู้ที่ทำการเพาะปลูกซึ่งต้องอาศัยใช้น้ำจากการชลประทานนั้น
(ข) จำนวนเนื้อที่ที่ทำการเพาะปลูกอยู่แล้ว ซึ่งผู้ที่ทำการเพาะปลูกยินยอมจะให้ค่าตอบแทน
(ค) จำนวนเนื้อที่รกร้างว่างเปล่าที่การชลประทานนี้จะทำให้บุกเบิกเป็นที่เพาะปลูกได้
(ง) ระยะเวลาแห่งสัมปทานที่ขอ
 
มาตรา ๓๒ ผู้รับสัมปทานมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนจากผู้ที่ได้รับน้ำจากการชลประทานใหม่นั้นโดยเฉพาะ แต่ห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนจากผู้ที่ตามธรรมดาเคยได้รับน้ำพอเพียงแก่การใช้มาก่อนแล้ว เว้นแต่จะได้มีสัญญาตกลงกันใหม่เป็นพิเศษ
 
มาตรา ๓๓ ผู้รับสัมปทานจะต้องปฏิบัติการมิให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
 
มาตรา ๓๔ ผู้รับสัมปทานต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัมปทาน
 
มาตรา ๓๕ ผู้รับสัมปทานต้องทำรายงานแสดงผลของกิจการที่ได้ทำไปยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้ควบคุมการชลประทานปีละครั้ง เว้นแต่เจ้าพนักงานผู้ควบคุมการชลประทานจะสั่งโดยหนังสือเป็นอย่างอื่น
 
มาตรา ๓๖ ผู้รับสัมปทานจะต้องยอมให้เจ้าพนักงานผู้ควบคุมการชลประทานเข้าตรวจตราการงานที่ทำอยู่นั้นในเวลาสมควร และต้องชี้แจงตอบข้อความตามที่เจ้าพนักงานผู้ควบคุมการชลประทานต้องการทราบเกี่ยวกับการนั้น
 
มาตรา ๓๗ ผู้ใดทำการชลประทานส่วนการค้าอยู่แล้วก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ให้ยื่นคำขอสัมปทานต่อกระทรวงเกษตราธิการ และปฏิบัติตามความในมาตรา ๓๑ ภายในกำหนดสิบสองเดือนนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้
 
บทกำหนดโทษ
                       
 
มาตรา ๓๘ ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(ก) ขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๙ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๑
(ข) ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗ วรรคแรกและวรรคสุดท้าย และมาตรา ๑๐ มาตรา ๒๔ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖
(ค) ไม่ยอมให้ขุดหรือทิ้งมูลดินในที่ดินของตนตามมาตรา ๑๙
(ง) ทำลาย แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำไว้เพื่อแบ่งปันน้ำที่เจ้าพนักงานได้แบ่งปันเด็ดขาดแล้วตามมาตรา ๒๑
(จ) ขยายเขตการชลประทานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๗
ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๓๘ ทวิ เมื่อมีการชำระเงินค่าทดแทนหรือเมื่อมีการวางเงินค่าทดแทนต่อศาลแล้ว เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกในการทำทางน้ำตามมาตรา ๑๐ ทวิ หรือการรักษาและใช้ทางน้ำนั้นตามมาตรา ๑๐ ตรี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
มาตรา ๓๘ ตรี ผู้ใดปิดกั้นทางน้ำตามมาตรา ๑๐ ทวิ หรือกระทำโดยประการอื่นใดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินผู้ได้รับน้ำจากทางน้ำนั้นได้รับประโยชน์ลดลงหรือไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
มาตรา ๓๙ ผู้ใดทำการชลประทานส่วนการค้าโดยมิได้รับสัมปทาน ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
มาตรา ๔๐ ผู้ใดไม่ขอรับสัมปทานภายในกำหนดเวลาดังกล่าวไว้ในมาตรา ๓๗ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
มาตรา ๔๑ ผู้ได้รับสัมปทานทำการชลประทานส่วนการค้า ไม่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามความในมาตรา ๓๔ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
มาตรา ๔๒ ผู้ใดกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ นอกจากจะได้รับโทษตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตราอื่นแล้ว ศาลมีอำนาจสั่งบังคับให้รื้อถอน ทำลาย หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ได้กระทำไปนั้นได้อีกโสดหนึ่ง
 
การรักษาพระราชบัญญัติ
                       
 
มาตรา ๔๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ กับให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ควบคุมการชลประทาน เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


พระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากที่ดินสำหรับใช้เพื่อเกษตรกรรมเป็นจำนวนมากอยู่ห่างทางน้ำหรือแหล่งน้ำ ไม่สามารถชักน้ำจากทางน้ำหรือแหล่งน้ำมาใช้เพื่อการประกอบเกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง สมควรให้สิทธิแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่อยู่ห่างทางน้ำหรือแหล่งน้ำเหล่านั้น ทำทางน้ำผ่านที่ดินของผู้อื่นได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
 
พระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๖
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการใช้น้ำในการเพาะปลูกของเกษตรกรในบางท้องที่มีปัญหามาก กล่าวคือ เกษตรกรที่อยู่ทางต้นน้ำมักจะกักตุนน้ำไว้มากเกินความจำเป็น ทำให้เกษตรกรที่อยู่ห่างจากทางน้ำหรือปลายทางน้ำไม่มีน้ำใช้เพาะปลูกได้เพียงพอ จึงมีการทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ แม้จะได้มีกฎหมายลงโทษแก่บุคคลผู้กักเก็บน้ำไว้แล้วก็ตามแต่โทษที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นเบาบางมาก คือ ปรับไม่เกินห้าสิบบาทหรือจำคุกไม่เกินห้าสิบวัน หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้กระทำผิดจึงไม่กลัวเกรงอาญาแผ่นดินยังคงกักตุนน้ำไว้ใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน และในทางปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดในการนี้นั้น เจ้าหน้าที่มีการลงโทษโดยวิธีปรับเพียงสถานเดียว สมควรเพิ่มโทษและลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดในการนี้ให้สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น
 
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   0934903924
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้