ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติกำหนดวิธีการระงับการค้ากำไรเกินสมควรจากราชการพ.ศ. 2491
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติกำหนดวิธีการระงับการค้ากำไรเกินสมควรจากราชการพ.ศ. 2491

พระราชบัญญัติ
กำหนดวิธีการระงับการค้ากำไรเกินสมควรจากราชการ
พ.ศ. ๒๔๙๑
                  
 
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะอภิรัฐมนตรี ในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
อลงกฏ
ธานีนิวัต
มานวราชเสวี
อดุลเดชจรัส
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
โดยที่เป็นการสมควรจะมีกฎหมายกำหนดวิธีการระงับการค้ากำไรเกินสมควรจากราชการ
 
พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาจึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกำหนดวิธีการระงับการค้ากำไรเกินสมควรจากราชการ พ.ศ. ๒๔๙๑”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“คณะกรรมการ” หมายถึงคณะกรรมการพิจารณาระงับการค้ากำไรเกินสมควรจากราชการ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในพระราชบัญญัตินี้
“คู่สัญญาฝ่ายรัฐบาล” หมายถึงรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม หรือนิติบุคคลอื่นใดในราชการ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับบุคคลอื่นไม่ว่าจะได้กระทำโดยมีบุคคลใดหรือคณะบุคคลใดเป็นตัวแทนหรือไม่
“คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง” หมายถึงบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาล
“ราคาตลาด” หมายถึงราคาทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันโดยปกติในท้องตลาด ณ ที่ที่ส่งมอบทรัพย์สินในขณะทำสัญญา
“ต้นทุนและค่าใช้จ่าย” หมายถึงจำนวนเงินที่ได้ใช้ไปหรือจะต้องใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน รวมทั้งค่าก่อสร้าง ค่าซ่อมแซม และค่าบำรุงรักษาทรัพย์สินนั้น ตั้งแต่ขณะได้รับทรัพย์สินจนถึงขณะทำสัญญา แต่ให้หักมูลค่าของประโยชน์อันพึงได้รับจากการใช้ทรัพย์สินในระยะเวลาดังกล่าวนั้นออก
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่สัญญาซึ่งเข้าลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) สัญญาซึ่งได้ทำขึ้นเนื่องจากได้มีการประมูลเปิดเผยและมีกำหนดเวลาพอสมควรแก่การยื่นประมูล
(๒) สัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ซื้อ หรือจะซื้อ หรือเช่าซื้อทรัพย์สิน และทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าตามสัญญาต่ำกว่าห้าแสนบาท และสัญญาที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ซื้อ หรือจะซื้อ หรือเช่าซื้อทรัพย์สิน และทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าแท้จริงต่ำกว่าห้าแสนบาท
(๓) สัญญาจ้างทำของซึ่งคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลจะต้องชำระหนี้ต่ำกว่าห้าแสนบาท
(๔) สัญญาซึ่งได้มีการชำระหนี้อันเกิดจากสัญญาโดยสิ้นเชิงก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๕ ให้ถือว่าสัญญาซึ่งได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ถึงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ และเข้าลักษณะดังต่อไปนี้เป็นสัญญาที่ได้กระทำขึ้นเพื่อค้ากำไรเกินสมควรจากราชการ คือ
(๑) สัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ซื้อ และสัญญาเช่าซื้อโดยคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้เช่าซื้อ และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งคิดเอากำไรสำหรับสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเกินกว่าร้อยละสิบห้าของต้นทุนและค่าใช้จ่าย และสำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศหรืออสังหาริมทรัพย์เกินกว่าราคาตลาด
(๒) สัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ขาย และสัญญาเช่าซื้อโดยคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งซื้อในราคาซึ่งต่ำกว่าราคาตลาด
(๓) สัญญาจ้างทำของซึ่งคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้จ้าง และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งคิดเอากำไรเกินกว่าร้อยละสิบห้าของต้นทุนและค่าใช้จ่าย
 
มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาระงับการค้ากำไรเกินสมควรจากราชการ” ประกอบด้วยประธานหนึ่งนายและกรรมการอื่นอีกแปดนาย ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
 
มาตรา ๗ สัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ซื้อ หรือจะซื้อ หรือเช่าซื้อทรัพย์สิน และทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าตามสัญญาตั้งแต่ห้าแสนบาทขึ้นไป และสัญญาที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ซื้อ หรือจะซื้อ หรือเช่าซื้อทรัพย์สินและทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าแท้จริงตั้งแต่ห้าแสนบาทขึ้นไป และสัญญาจ้างทำของซึ่งคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลจะต้องชำระหนี้ตั้งแต่ห้าแสนบาทขึ้นไปนั้น คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องส่งเอกสารซึ่งเกี่ยวกับการทำสัญญา การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา การผ่อนผันการชำระหนี้ และการอื่น ๆ เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญานั้นต่อคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลภายในเวลาสามสิบวันนับตั้งแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ และจะเสนอหลักฐานอื่น และคำชี้แจง เพื่อแสดงว่าสัญญานั้นมิได้กระทำเพื่อค้ากำไรเกินสมควรจากราชการไปด้วยก็ได้ แต่ในกรณีที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งแสดงหลักฐานให้เป็นที่เชื่อได้ว่าไม่สามารถส่งเอกสารดังกล่าวได้ทันกำหนดเวลาสามสิบวัน ก็ให้รัฐมนตรีผ่อนเวลาออกไปได้ตามสมควร
ถ้ารัฐมนตรีเห็นว่าสัญญานั้นมิได้กระทำขึ้นเพื่อค้ากำไรเกินสมควรจากราชการก็ให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลแจ้งให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบว่าจะไม่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๘ ในกรณีที่รัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่าสัญญาใดได้ทำขึ้นเพื่อค้ากำไรเกินสมควร จากราชการตามความในมาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ส่งเอกสารอันควรแก่เรื่องภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจเลิกสัญญาได้เอง
(๒) ในกรณีที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งส่งเอกสารอันควรแก่เรื่องภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีเสนอเอกสารที่ได้รับมาจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต่อคณะกรรมการ พร้อมด้วยคำขออนุมัติให้บอกเลิกสัญญาภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลรับเอกสารจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
 
มาตรา ๙ เมื่อได้รับคำขออนุมัติให้เลิกสัญญาจากรัฐมนตรีแล้ว ให้คณะกรรมการแจ้งให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบเพื่อให้โอกาสที่จะชี้แจงเพิ่มเติมก่อน และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัย ถ้าเห็นว่าสัญญานั้นไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาที่ได้ทำขึ้นเพื่อค้ากำไรเกินสมควรจากราชการก็ให้คณะกรรมการแจ้งให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลและคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบคำวินิจฉัยนั้นโดยด่วน แต่ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าสัญญานั้นเข้าลักษณะเป็นสัญญาที่ได้ทำขึ้นเพื่อค้ากำไรเกินสมควรจากราชการตามความในมาตรา ๕ ก็ให้คณะกรรมการแจ้งคำวินิจฉัยให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลทราบคำอนุมัติให้เลิกสัญญานั้นได้
เพื่อประโยชน์แห่งการวินิจฉัยของคณะกรรมการตามความในวรรคก่อน คณะกรรมการจะตั้งอนุกรรมการชุดหนึ่งหรือหลายชุดให้พิจารณาและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการก่อนก็ได้ อนุกรรมการนี้อย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการในคณะกรรมการ หนึ่งนาย
 
มาตรา ๑๐ ให้คณะกรรมการและอนุกรรมการซึ่งตั้งขึ้นตามมาตรา ๙ มีอำนาจเรียกคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งและบุคคลใด ๆ มาชี้แจง และให้มีอำนาจเรียกพยานหลักฐานจากผู้ครอบครองตลอดจนบังคับให้พยานสาบานหรือปฏิญาณตัวได้ ในการนี้ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในการปฏิบัติการของคณะกรรมการและอนุกรรมการตามความในวรรคก่อน ให้ถือว่ากรรมการและอนุกรรมการเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายของกฎหมายลักษณะอาญา
 
มาตรา ๑๑ การเลิกสัญญาให้กระทำโดยคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลแสดงเจตนาไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่รัฐมนตรีมีอำนาจเลิกสัญญาได้เองตามความในมาตรา ๘ (๑) ภายในกำหนดเวลาหกสิบวันนับตั้งแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ แต่ในกรณีที่ไม่ปรากฏหลักฐานการทำสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐบาล ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ปรากฏหลักฐานขึ้นภายหลัง
(๒) ในกรณีที่คณะกรรมการอนุมัติให้เลิกสัญญา ภายในกำหนดเวลาสิบวันนับตั้งแต่วันทราบคำอนุมัติของคณะกรรมการ
ถ้าคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลไม่แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลสละสิทธิที่จะเลิกสัญญา
 
มาตรา ๑๒ นอกจากจะได้รับคำแจ้งจากคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลว่าจะไม่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ตามความในมาตรา ๗ หรือได้รับคำแจ้งจากคณะกรรมการว่าสัญญานั้นไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาที่ได้ทำขึ้นเพื่อค้ากำไรเกินสมควรจากราชการตามความในมาตรา ๙ ห้ามมิให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งนำคดีมาฟ้องร้องคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลขอให้ปฏิบัติการตามสัญญาก่อนพ้นกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑ และกรณีที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลปฏิบัติการตามสัญญาได้ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้
(๑) สิทธิเรียกร้องที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งพึงมีอยู่ตามสัญญา ถ้าหากได้มีการชำระหนี้ตามกำหนดเวลา และ
(๒) ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการล่าช้าเพราะการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ห้ามมิให้เรียกค่าเสียหายเพราะเหตุนี้เกินกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของมูลค่าทรัพย์สินหรือจำนวนเงินอันคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งพึงเรียกร้องได้ตาม (๑)
 
มาตรา ๑๓  เมื่อคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลได้แสดงเจตนาไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาภายในกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑ ให้ถือว่าได้มีการเลิกสัญญากันนับตั้งแต่เวลาที่การแสดงเจตนาของคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลถึงคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
 
มาตรา ๑๔ เมื่อได้มีการบอกเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนไปสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และจะเรียกค่าเสียหายจากกันเพราะการเลิกการสัญญานี้ไม่ได้
ในกรณีที่ไม่สามารถจัดให้ได้กลับคืนไปสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ ให้ชดใช้ราคาทรัพย์สินนั้นโดยคิดราคาตลาดในขณะวันทำสัญญาและดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินอันเป็นราคาตลาดนั้น คิดตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันส่งมอบ
ถ้าจะต้องส่งคืนเงิน ให้บวกดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเข้าด้วย โดยคิดตั้งแต่วันที่ได้รับจนถึงวันส่งมอบ
 
มาตรา ๑๕ ภายในกำหนดสิบวันนับแต่วันที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้รับการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจากคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาล คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะแจ้งความจำนงไปยังคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลเลือกปฏิบัติตามสัญญานั้นตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้ได้ คือ
(๑) ในกรณีสัญญาซื้อขาย หรือสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ซื้อ หรือสัญญาเช่าซื้อโดยคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้เช่าซื้อ และทรัพย์สินที่ขายเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยอมขายตามราคาตลาดหรือต่ำกว่า
(๒) ในกรณีสัญญาซื้อขาย หรือสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ซื้อ หรือสัญญาเช่าซื้อโดยคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้เช่าซื้อ และทรัพย์สินที่ขายเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยอมคิดเอากำไรเพียงร้อยละสิบห้าของต้นทุนและค่าใช้จ่ายหรือต่ำกว่า
(๓) ในกรณีสัญญาซื้อขาย หรือสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ขาย หรือสัญญาเช่าซื้อโดยคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยอมซื้อตามราคาตลาดหรือสูงกว่า
(๔) ในกรณีสัญญาจ้างทำของ ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้จ้าง คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยอมคิดเอากำไรร้อยละสิบห้าของต้นทุนและค่าใช้จ่ายหรือต่ำกว่า
เมื่อการแสดงความจำนงตามความในวรรคก่อนมาถึงคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาล ให้ถือว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีความผูกพันในอันที่จะปฏิบัติการตามสัญญาตามข้อกำหนดดังกล่าวแล้ว
 
มาตรา ๑๖ ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐบาลและคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามข้อกำหนดตามความในมาตรา ๑๕ ให้เสนอข้อพิพาทนี้ต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาด
คำชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด จะอุทธรณ์หรือนำข้อพิพาทไปฟ้องร้องต่อไปไม่ได้
ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตามมาตรานี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐
 
มาตรา ๑๗ ในกรณีที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสัญญาที่บอกเลิกนั้นไม่ได้อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ตามความในมาตรา ๔ ก็ดี หรือเห็นว่าไม่เป็นสัญญาที่กระทำขึ้นเพื่อค้ากำไรเกินสมควรจากราชการตามความในมาตรา ๕ ก็ดี ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องร้องขอให้ศาลแสดงว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการไม่ถูกต้อง ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าวเลิกสัญญา
 
มาตรา ๑๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ควง อภัยวงศ์


จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   0934903924
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้