ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518

size="2">พระราชบัญญัติ
จัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา
พ.ศ. ๒๕๑๘
                       
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘
เป็นปีที่ ๓๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ
โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๘”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
 
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“รัฐสภา” หมายความว่า วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสภานิติบัญญัติสภาเดียวให้หมายถึงสภานั้น
“วุฒิสภา” หมายความว่า วุฒิสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
“สภาผู้แทนราษฎร”หมายความว่า สภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
“ประธานรัฐสภา” หมายความว่า ประธานรัฐสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสภานิติบัญญัติสภาเดียว ให้หมายความถึงประธานแห่งสภานั้น
“รองประธานรัฐสภา” หมายความว่า รองประธานรัฐสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสภานิติบัญญัติสภาเดียว ให้หมายความถึงรองประธานแห่งสภานั้น
“ก.ร.” หมายความว่า คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา
 
มาตรา ๕ ให้ประธานรัฐสภารักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
หมวด ๑
การจัดระเบียบปฏิบัติราชการของรัฐสภา
                       
 
มาตรา ๖ ให้มีส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ดังนี้
(๑) สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
(๒) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
(๓) ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น
ส่วนราชการตาม (๑) (๒) และ (๓) มีฐานะเทียบกรมและเป็นนิติบุคคล
 
มาตรา ๖ ทวิ ในกรณีที่มีสภานิติบัญญัติสภาเดียว ให้ประธานของสภานิติบัญญัติดังกล่าวเป็นผู้กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาหรือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสำนักงานหนึ่งสำนักงานใดหรือทั้งสองสำนักงานร่วมกัน ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการของสภานิติบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
การกำหนดตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นประกาศของสภานิติบัญญัติดังกล่าวและให้ประธานของสภานิติบัญญัติเป็นผู้ลงนาม
 
มาตรา ๗ การจัดตั้งส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) หรือการยุบส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๑) (๒) หรือ (๓) ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ
การแบ่งส่วนราชการภายในของส่วนราชการตามมาตรา ๖ ให้ทำเป็นประกาศรัฐสภา ด้วยความเห็นชอบของ ก.ร.
ให้ ก.ร. เป็นผู้พิจารณาแบ่งส่วนราชการภายในตามวรรคสอง กำหนดอำนาจหน้าที่และจัดอัตรากำลังของส่วนราชการดังกล่าวด้วย
ประกาศรัฐสภาตามวรรคสอง ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๘ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภามีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของวุฒิสภา มีเลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อประธานวุฒิสภา และจะให้มีรองเลขาธิการวุฒิสภา หรือผู้ช่วยเลขาธิการวุฒิสภา หรือมีทั้งตำแหน่งรองเลขาธิการวุฒิสภา และผู้ช่วยเลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการรองจากเลขาธิการวุฒิสภา และช่วยเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติราชการก็ได้
รองเลขาธิการวุฒิสภา หรือผู้ช่วยเลขาธิการวุฒิสภา มีอำนาจหน้าที่ตามที่เลขาธิการวุฒิสภากำหนดหรือมอบหมาย
 
มาตรา ๘ ทวิ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของสภาผู้แทนราษฎร มีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และจะให้มีรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ช่วยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือมีทั้งตำแหน่งรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้ช่วยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการรองจากเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และช่วยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติราชการก็ได้
รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ช่วยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่ตามที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำหนดหรือมอบหมาย
 
มาตรา ๙ ส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) จะมีเลขาธิการ ผู้อำนวยการหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการนั้น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และจะให้มีรองเลขาธิการ รองผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งรองของตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น หรือผู้ช่วยเลขาธิการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งผู้ช่วยของตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น หรือมีทั้งรองเลขาธิการ และผู้ช่วยเลขาธิการหรือทั้งรองผู้อำนวยการ และผู้ช่วยผู้อำนวยการ หรือทั้งตำแหน่งรองและตำแหน่งผู้ช่วยของตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการรองจากเลขาธิการผู้อำนวยการหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น และช่วยเลขาธิการ ผู้อำนวยการหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นปฏิบัติราชการก็ได้
รองเลขาธิการ รองผู้อำนวยการ ตำแหน่งรองของตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้ช่วยเลขาธิการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งผู้ช่วยของตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีอำนาจหน้าที่ตามที่เลขาธิการ ผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น กำหนดหรือมอบหมาย
 
มาตรา ๙ ทวิ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) อาจแบ่งส่วนราชการภายในเป็นกองหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีฐานะเทียบกอง
ในกรณีที่มีความจำเป็น จะแบ่งส่วนราชการโดยให้มีส่วนราชการอื่นนอกจากที่กำหนดในวรรคหนึ่งก็ได้
ส่วนราชการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการนั้นๆ โดยมีผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ
 
มาตรา ๑๐ อำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายรัฐสภาของข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานรัฐสภากำหนด ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา
 
หมวด ๒
การปฏิบัติราชการแทนและการรักษาราชการแทน
                       
 
มาตรา ๑๑ อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ประธานรัฐสภาอาจมอบอำนาจให้รองประธานรัฐสภา เลขาธิการวุฒิสภา หรือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓)
(๒) ประธานวุฒิสภาอาจมอบอำนาจให้รองประธานวุฒิสภา หรือเลขาธิการวุฒิสภา
(๓) ประธานสภาผู้แทนราษฎรอาจมอบอำนาจให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
(๔) เลขาธิการวุฒิสภาอาจมอบอำนาจให้รองเลขาธิการวุฒิสภา ผู้ช่วยเลขาธิการวุฒิสภา ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๙ ทวิ วรรคสอง หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า
(๕) เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอาจมอบอำนาจให้รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๙ ทวิ วรรคสอง หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า
(๖) หัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) อาจมอบอำนาจให้รองหัวหน้าส่วนราชการ ผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๙ ทวิ วรรคสอง หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า
(๗) ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๙ ทวิ วรรคสอง หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า อาจมอบอำนาจให้ข้าราชการในกอง หรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบกอง หรือส่วนราชการตามมาตรา ๙ ทวิ วรรคสอง ได้ตามระเบียบที่เลขาธิการวุฒิสภา เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) กำหนด
การมอบอำนาจตามมาตรานี้ให้ทำเป็นหนังสือ
 
มาตรา ๑๒ ในกรณีที่ประธานรัฐสภาไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้รองประธานรัฐสภาเป็นผู้รักษาราชการแทน
ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ารองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ให้รองประธานวุฒิสภาคนต่อไปเป็นผู้รักษาราชการแทน
ในกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ารองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ ให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนต่อไปเป็นผู้รักษาราชการแทน
ผู้รักษาราชการแทนตามมาตรานี้ มีอำนาจเช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน
 
มาตรา ๑๓ ในกรณีที่รัฐสภาสิ้นอายุหรือถูกยุบ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาอยู่ในขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาใหม่แล้ว จึงให้พ้นจากตำแหน่ง
 
มาตรา ๑๔ (ยกเลิก)
 
มาตรา ๑๕ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการวุฒิสภา หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองเลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองเลขาธิการวุฒิสภาหลายคน ให้ประธานวุฒิสภาแต่งตั้งรองเลขาธิการวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการวุฒิสภา หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ประธานวุฒิสภา แต่งตั้งผู้ช่วยเลขาธิการวุฒิสภาหรือข้าราชการรัฐสภาสามัญในส่วนราชการนั้นซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหลายคน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งผู้ช่วยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือข้าราชการรัฐสภาสามัญในส่วนราชการนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) เป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) หลายคน ให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งรองหัวหน้าส่วนราชการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) หรือข้าราชการรัฐสภาสามัญในส่วนราชการนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนก็ได้
 
มาตรา ๑๖ ในกรณีที่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการวุฒิสภา เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) แต่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการวุฒิสภา รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือรองหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ เลขาธิการวุฒิสภา เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) แล้วแต่กรณี จะแต่งตั้งผู้ช่วยเลขาธิการวุฒิสภา ผู้ช่วยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) หรือข้าราชการรัฐสภาสามัญในส่วนราชการนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนก็ได้
 
มาตรา ๑๗ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๙ ทวิ วรรคสอง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ เลขาธิการวุฒิสภา เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๖ (๓) แล้วแต่กรณี จะแต่งตั้งข้าราชการรัฐสภาสามัญในส่วนราชการนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนก็ได้
 
มาตรา ๑๘ ให้ผู้รักษาราชการแทนตามมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดหรือผู้รักษาราชการแทนผู้ดำรงตำแหน่งนั้น มอบหมายหรือมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทน ให้ผู้ปฏิบัติราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งมอบหมายหรือมอบอำนาจ
ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใด ให้ผู้ปฏิบัติราชการแทนหรือผู้รักษาราชการแทน ทำหน้าที่กรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในระหว่างที่ปฏิบัติราชการแทน หรือรักษาราชการแทนด้วย แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๑๙ ให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญตำแหน่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณของรัฐสภา
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภายในบริเวณของรัฐสภา
 
บทเฉพาะกาล
                       
 
มาตรา ๒๐ บรรดากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใดที่ใช้บังคับแก่ข้าราชการพลเรือนหรือลูกจ้าง ให้นำมาใช้บังคับแก่ข้าราชการฝ่ายรัฐสภาหรือลูกจ้างด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่จะมีกฎหมายหรือระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภาบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
 
มาตรา ๒๑ บรรดาอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด กำหนดว่าเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภาเฉพาะที่เกี่ยวกับราชการของส่วนราชการฝ่ายรัฐสภา
 
มาตรา ๒๒ บรรดาอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด กำหนดว่าเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีให้เป็นอำนาจของประธานรัฐสภา อำนาจของรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ให้เป็นอำนาจของประธานวุฒิสภาสำหรับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หรือของประธานสภาผู้แทนราษฎรสำหรับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และอำนาจของปลัดกระทรวง ให้เป็นอำนาจของเลขาธิการวุฒิสภา หรือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการของส่วนราชการในสังกัด
 
มาตรา ๒๓ ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและบรรดาอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ตามข้อ ๓๔ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๖ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พุทธศักราช๒๕๑๕ มาเป็นของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา หรือของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๒๔ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ ข้าราชการ ลูกจ้างและเงินงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๖ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๕ มาเป็นของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๒๕ พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับเป็นการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาได้ต่อไปจนกว่าจะได้มีกฎหมายแบ่งส่วนราชการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
สัญญา ธรรมศักดิ์
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ตามกฎหมายปัจจุบัน ฝ่ายบริหารเป็นผู้จัดแบ่งส่วนราชการ และจัดงานธุรการให้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่โดยสภาพของการปฏิบัติราชการสมควรจะให้ฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการดังกล่าวเองเพราะจะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถปรับปรุงส่วนราชการและระเบียบปฏิบัติราชการของฝ่ายนิติบัญญัติให้เหมาะสมและอำนวยความสะดวกให้แก่ราชการของฝ่ายนิติบัญญัติได้มากยิ่งขึ้น จึงสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการฝ่ายนิติบัญญัติโดยเฉพาะ และเพื่อการนี้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
 
 
 
พระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
 
มาตรา ๓ เมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ มติหรือคำสั่งใดอ้างถึงสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา หรือเลขาธิการรัฐสภา ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ มติหรือคำสั่งนั้น อ้างถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หรือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือเลขาธิการวุฒิสภา หรือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๑๒ ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและบรรดาอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๘ มาเป็นของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามที่ ก.ร. กำหนด แล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๑๓ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๘ มาเป็นของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามที่ ก.ร. กำหนดแล้วแต่กรณี
 
มาตรา ๑๔ ให้เลขาธิการรัฐสภาและรองเลขาธิการรัฐสภาร่วมกันดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ ดังต่อไปนี้
(๑) แบ่งส่วนราชการภายในและกำหนดสถานที่ทำงานของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
(๒) จัดอัตรากำลังของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
(๓) จัดแบ่งบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ให้แก่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ให้เสนอผลการดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อ ก.ร. ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๑๕ การจัดแบ่งข้าราชการและลูกจ้างตามมาตรา ๑๔ (๓) ให้ใช้วิธีสอบถามความสมัครใจของข้าราชการและลูกจ้างก่อน ถ้าจำนวนผู้แสดงความจำนงเกินอัตรากำลังที่กำหนดไว้สำหรับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หรือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ผู้บังคับบัญชาตามมาตรา ๑๔ ร่วมกันวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ใดสมควรโอนไปรับราชการในสำนักงานใด
ส่วนการจัดแบ่งเงินงบประมาณและการกำหนดสถานที่ทำงานให้คำนึงถึงจำนวนข้าราชการ ลูกจ้าง และปริมาณงานของแต่ละสำนักงาน
 
มาตรา ๑๖ เมื่อ ก.ร. ให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๔ แล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามที่ ก.ร. เห็นชอบ โดยทำเป็นประกาศรัฐสภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
มาตรา ๑๗ เมื่อประกาศรัฐสภาตามมาตรา ๑๖ ใช้บังคับแล้ว ให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการแต่งตั้งเลขาธิการวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการแต่งตั้งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของ ก.ร.
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติต่างๆ ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา การกำหนดวันหยุดราชการ การกำหนดตำแหน่ง การบรรจุแต่งตั้ง การรับเงินเดือน การรับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการ รัฐสภาสามัญ การให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญไปรับราชการทหาร การให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญไปปฏิบัติงานใดๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี การออกจากราชการ และการสั่งให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญออกจากราชการ วินัย การกลับเข้ารับราชการใหม่ การร้องทุกข์ของข้าราชการรัฐสภาสามัญ ตำแหน่ง การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่งและเงินเดือนของข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   0934903924
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

สามารถอัพโหลดไฟล์แนบ สำหรับโพสได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้