ประวัติในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทหารของฝ่ายกองทัพพันธมิตรได้รับบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก แพทย์ประจำกองทัพพันธมิตรจึงได้ร้องขอให้สภากาชาดของแต่ละประเทศจัดตั้งหน่วยบริการโลหิตขึ้น เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนบริจาคโลหิตช่วยชีวิตทหารที่บาดเจ็บในสนามรบ จนกระทั่งสงครามสงบลงหน่วยรับถ่ายโลหิตที่จัดตั้งขึ้นในขณะนั้นก็ยังดำเนินการต่อมา
สำหรับประเทศไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คนไทยไม่นิยมและยังไม่ยินยอมบริจาคโลหิตกัน เมื่อโรงพยาบาลจำเป็นต้องใช้โลหิตรักษาคนไข้ จะต้องเจาะจากญาติคนไข้ หรือไม่ก็มีการซื้อขาย
จวบจนในปีพุทธศักราช 2494 ได้มีการประชุมสันนิบาตกาชาด ครั้งที่ 17 ที่กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ได้มีมติให้สภากาชาดแต่ละประเทศพยายามจัดตั้ง
งานบริการโลหิตขึ้น โดยให้ยึดถือหลักที่ว่า บริจาคโลหิตด้วยจิตศรัทธา ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนหรือหวังผลตอบแทนใด ๆ
หลังจากการประชุมสันนิบาตกาชาดครั้งที่ 17 เสร็จสิ้นลง ศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม บูรณะนนท์ ผู้อำนวยการกองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดไทย ในขณะนั้นได้นำมติดังกล่าวเสนอต่อกรรมการสภากาชาดไทยขอจัดตั้งแผนกบริการโลหิตขึ้นในกองวิทยาศาสตร์ งานบริการโลหิตของสภากาชาดไทยจึงได้เริ่มกิจการขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2495เพื่อตอบสนองต่อข้อเสนอของสภากาชาดสากล
ต่อมา พ.ศ.2496 ราชสกุลรังสิต ได้บริจาคเงินสร้างตึกที่ทำการงานบริการโลหิต ขึ้นชื่อว่า ตึกรังสิตานุสรณ์ โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเสด็จพระราชดำเนินเปิดตึก เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2496
การบริจาคโลหิตในปีแรก ๆ นั้น จะกระทำเฉพาะภายในสถานที่เท่านั้น มีผู้บริจาควันละไม่ถึง 10 ราย โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต เป็นผู้บริจาคหมายเลข 1 ต่อมาในปี พ.ศ.2498 จึงได้เริ่มออกรับบริจาคโลหิตภายนอกสถานที่ โดยได้รับบริจาครถยนต์จากสมาคมเซ็นต์แอนดรูแห่งกรุงเทพฯ
ในปี พ.ศ.2506 รัฐบาลฝรั่งเศส ได้แสดงความสนใจ ที่จะช่วยเหลืองานบริการโลหิตในประเทศไทย และเสนอให้ความช่วยเหลือในด้านการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และเครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อจัดตั้งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และรัฐบาลไทย ได้มอบหมายให้สภากาชาดไทยรับไปดำเนินการ ที่ประชุมกรรมการสภากาชาดไทย มีมติอนุมัติให้แยกแผนกบริการโลหิตออกจากกองวิทยาศาสตร์ ตั้งเป็นศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และแต่งตั้งนายแพทย์เฉลิม บูรณะนนท์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ
คลิกถูกใจเพื่อรับข้อสอบสภากาชาดไทย[/img]
ปี พ.ศ.2511 รัฐบาลได้จัดตั้งงบประมาณเป็นค่าก่อสร้างอาคารศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ พร้อมเครื่องเรือน เมื่ออาคารแล้วเสร็จ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2512
ปี พ.ศ.2520 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างอาคารขึ้นอีกหลังหนึ่งเป็นอาคาร 4 ชั้น ใช้สำหรับการผลิตพลาสมาแห้งและแยกส่วนประกอบพลาสมา โดยสร้างแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ.2522
ปี พ.ศ.2535 คณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย ได้ริเริ่มจัดสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นเพื่อรองรับปริมาณงานที่ขยายมากขึ้น โดยถือเอาวโรกาส
พิเศษที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ5 รอบ ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ”เป็นอาคารสูง 11 ชั้น (รวมดาดฟ้าและลานเฮลิคอปเตอร์) ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมค่าตกแต่งและอุปกรณ์กว่า 500 ล้านบาท โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาล และเงินกลางสภากาชาดไทย รวมทั้งเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา และการจัดกิจกรรมหาทุนของคณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย โดยเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2538
ในวันที่ 12 สิงหาคม 2548 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้ย้ายมาเปิดรับบริจาคโลหิตและส่วนประกอบโลหิต ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ เป็นวันแรก และได้จัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิตเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้รับโลหิต จำนวน 2,002 ยูนิต จากนั้นได้ทยอยย้ายงานฝ่ายต่างๆเข้ามายังอาคารเฉลิมพระเกียรติฯจนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2550 โรงงานผลิตถุงบรรจุโลหิต ได้ย้ายมาเป็นลำดับสุดท้าย
27 มีนาคม 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถปัจจุบัน อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ เป็นอาคารที่ทำการของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆตลอดจนการพัฒนาทางวิชาการ เพื่อให้มีโลหิตเพียงพอและปลอดภัยสำหรับรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ
คลิกถูกใจเพื่อรับข้อสอบสภากาชาดไทย