size="2">พระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย
พ.ศ. ๒๕๔๒
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒
เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งศาลล้มละลายและให้มีวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้“ศาลล้มละลาย” หมายความว่า ศาลล้มละลายกลาง หรือศาลล้มละลายภาค“คดีล้มละลาย” หมายความว่า คดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและให้หมายความรวมถึงคดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีดังกล่าวด้วย มาตรา ๔ ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด ๑
ศาลล้มละลาย
มาตรา ๕ ให้จัดตั้งศาลล้มละลายกลางขึ้น และจะเปิดทำการเมื่อใดให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกาให้ศาลล้มละลายกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร แต่บรรดาคดีล้มละลายที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลล้มละลายกลางจะยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางก็ได้ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลล้มละลายกลางที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้ มาตรา ๖ การจัดตั้งศาลล้มละลายภาค ให้กระทำโดยพระราชบัญญัติซึ่งจะต้องระบุเขตศาลและกำหนดที่ตั้งศาลนั้นไว้ด้วย มาตรา ๗ ศาลล้มละลายมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีล้มละลายในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทและบทใดบทหนึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ให้ศาลล้มละลายรับพิจารณาพิพากษาความผิดบทอื่นไว้ด้วยในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ในความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน และบางกรรมไม่เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ศาลล้มละลายจะรับพิจารณาพิพากษาทุกกรรม หรือไม่รับพิจารณาพิพากษาเฉพาะกรรมใดกรรมหนึ่งหรือหลายกรรมที่ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย โดยให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ยังศาลที่มีอำนาจก็ได้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความสะดวกและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นสำคัญก่อนเริ่มต้นสืบพยาน หากจำเลยเห็นว่าการพิจารณาคดีอาญาตามวรรคสามต่อไปในศาลล้มละลายจะไม่สะดวกหรือไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเลยอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงเหตุผลหรือพยานหลักฐานต่อศาลล้มละลายขอให้แยกฟ้องไปยังศาลที่มีอำนาจ เมื่อศาลล้มละลายเห็นสมควรจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้นก็ได้ มาตรา ๘ เมื่อศาลล้มละลายเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลล้มละลายไว้พิจารณาพิพากษา มาตรา ๙ ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลล้มละลายหรือไม่ ไม่ว่าปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในศาลล้มละลายหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุดห้ามมิให้เสนอปัญหาเช่นว่านี้เมื่อศาลชั้นต้นไม่ว่าศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว มาตรา ๑๐ คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลล้มละลายภาค คู่ความทุกฝ่ายอาจตกลงกันร้องขอต่อศาลนั้น ให้โอนคดีมาพิจารณาพิพากษาในศาลล้มละลายกลางได้ แต่ห้ามมิให้อนุญาตตามคำขอเช่นว่านั้น เว้นแต่ศาลล้มละลายกลางจะได้ยินยอมก่อน มาตรา ๑๑ ให้ศาลล้มละลายเป็นศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาใช้บังคับแก่ศาลล้มละลายโดยอนุโลม
หมวด ๒
ผู้พิพากษาในศาลล้มละลาย
มาตรา ๑๒ ในศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายภาค ให้มีอธิบดีผู้พิพากษากับรองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลละหนึ่งคน และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกา จะกำหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษามากกว่าหนึ่งคนแต่ไม่เกินสามคนก็ได้ มาตรา ๑๓ ผู้พิพากษาในศาลล้มละลายจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
หมวด ๓
วิธีพิจารณาคดีล้มละลาย
ส่วนที่ ๑
วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น
มาตรา ๑๔ นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ กระบวนพิจารณาในศาลล้มละลายให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและข้อกำหนดตามมาตรา ๑๙ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงแล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๑๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๑๑ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ให้ศาลล้มละลายดำเนินการนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดีจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดีให้ศาลล้มละลายรีบทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็วในกรณีที่คู่ความไม่มาศาลในนัดใดไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ให้ถือว่าคู่ความนั้นได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในนัดนั้นแล้ว มาตรา ๑๖ ถ้าบุคคลใดเกรงว่าพยานหลักฐานที่ตนอาจต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือยากแก่การนำมาเมื่อมีคดีล้มละลายเกิดขึ้น หรือถ้าคู่ความฝ่ายใดในคดีเกรงว่าพยานหลักฐานที่ตนจำนงจะอ้างอิงจะสูญหายเสียก่อนที่จะนำมาสืบ หรือเป็นการยากที่จะนำมาสืบในภายหลัง บุคคลนั้นหรือคู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอต่อศาลล้มละลายโดยทำเป็นคำร้องขอหรือคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานนั้นไว้ทันทีเมื่อศาลได้รับคำขอเช่นว่านั้น ให้ศาลหมายเรียกผู้ขอและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องมาศาล และเมื่อได้ฟังบุคคลเหล่านั้นแล้ว ให้ศาลสั่งคำขอตามที่เห็นสมควร ถ้าศาลสั่งอนุญาตตามคำขอแล้วให้สืบพยานหลักฐานไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ส่วนรายงานและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนั้นให้ศาลเก็บรักษาไว้ มาตรา ๑๗ ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เมื่อมีการยื่นคำขอตามมาตรา ๑๖ ผู้ยื่นคำขอจะยื่นคำร้องรวมไปด้วยเพื่อให้ศาลล้มละลายมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอโดยไม่ชักช้า และถ้าจำเป็นจะขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดหรืออายัดเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานที่ขอสืบไว้ก่อน โดยมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ให้นำมาตรา ๒๖๑ ถึงมาตรา ๒๖๓ และมาตรา ๒๖๗ ถึงมาตรา ๒๖๙ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้แก่กรณีตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม มาตรา ๑๘ เมื่อศาลล้มละลายเห็นเป็นการสมควร จะให้ศาลอื่นหรือเจ้าพนักงานศาลทำการสืบพยานหลักฐานส่วนใดส่วนหนึ่งแทนก็ได้ การสืบพยานหลักฐานดังกล่าวจะกระทำในศาลหรือนอกศาลก็ได้ มาตรา ๑๙ เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรมอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลล้มละลายได้ แต่ข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีอาญาของจำเลยต้องลดน้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมายข้อกำหนดนั้นเมื่อได้รับความเห็นชอบจากประธานศาลฎีกาและประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ มาตรา ๒๐ ศาลล้มละลายอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ต้องให้คู่ความทุกฝ่ายทราบและไม่ตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว มาตรา ๒๑ ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลล้มละลายขอให้มาให้ความเห็นมีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พัก ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง มาตรา ๒๒ คู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีจะแต่งตั้งบุคคลใดซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตศาลล้มละลายเป็นผู้รับคำคู่ความหรือเอกสารแทนตนก็ได้โดยให้ยื่นคำขอต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น เมื่อศาลอนุญาตแล้ว จะส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นก็ได้ถ้าคู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีไม่มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานในเขตศาลล้มละลายที่พิจารณาคดี เพื่อความสะดวกในการส่งคำคู่ความหรือเอกสาร ศาลนั้นจะสั่งให้คู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตศาลนั้นเป็นผู้รับคำคู่ความหรือเอกสารแทนภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ถ้าคู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในวรรคสอง การส่งคำคู่ความหรือเอกสารจะกระทำโดยวิธีปิดประกาศไว้ ณ ศาลที่พิจารณาคดีแจ้งให้คู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีมารับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นแทนการส่งโดยวิธีอื่นก็ได้ การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยวิธีนี้ให้มีผลใช้ได้เมื่อพ้นสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศการส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้ง ให้กระทำได้เช่นเดียวกันกับการส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่คู่ความ หรือการส่งโดยวิธีอื่นแทนดังที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคนี้ ให้มีผลใช้ได้เมื่อพ้นเจ็ดวันนับแต่วันส่ง หรือสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้มีการส่งโดยวิธีอื่นแทน มาตรา ๒๓ เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดให้แก่คู่ความหรือบุคคลใดโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าคู่ความหรือบุคคลนั้นจะมีภูมิลำเนาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร กรณีเช่นนี้ให้ถือว่าคำคู่ความหรือเอกสารที่ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์มีผลเสมือนเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่ง
ส่วนที่ ๒
อุทธรณ์
มาตรา ๒๔ ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย เว้นแต่(๑) คำพิพากษายกฟ้อง หรือคำสั่งยกคำร้องหรือคำร้องขอให้ล้มละลาย(๒) คำสั่งยกคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ(๓) คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน(๔) คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด(๕) คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแพ่งที่เกี่ยวพันกับคดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย มาตรา ๒๔/๑ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายในส่วนที่เกี่ยวกับคดีอาญาให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นคดีล้มละลายในส่วนเกี่ยวกับคดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลล้มละลายในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้(๑) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก(๒) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้(๓) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่ศาลรอการกำหนดโทษไว้ มาตรา ๒๕ ให้ประธานศาลฎีกาจัดตั้งแผนกคดีล้มละลายขึ้นในศาลฎีกาเพื่อพิจารณาคดีล้มละลายที่อุทธรณ์ขึ้นมา และให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว มาตรา ๒๖ คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาไปพร้อมกับอุทธรณ์ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ เมื่อศาลล้มละลายตรวจอุทธรณ์แล้วเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามก็ให้ส่งอุทธรณ์และคำขอดังกล่าวไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณา แต่ถ้าศาลล้มละลายเห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ต้องห้ามก็ให้มีคำสั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้ดำเนินการต่อไปในกรณีที่ศาลล้มละลายสั่งไม่รับอุทธรณ์เพราะเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งก็ได้ ถ้าคู่ความยื่นคำขอดังกล่าวแล้ว จะอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไม่ได้การยื่นคำขอและการพิจารณาคำขอของศาลฎีกาตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาคดีที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งรับอุทธรณ์ส่งมาให้ศาลฎีกา หากศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่าอุทธรณ์นั้นต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ ให้ยกอุทธรณ์ แต่ถ้าศาลฎีกาพิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด จะรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวนั้นก็ได้คดีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่อุทธรณ์นั้นไม่สมควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาจะยกอุทธรณ์ดังกล่าวเสียก็ได้ระเบียบตามวรรคสามและวรรคห้า เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ มาตรา ๒๖/๑ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคหก มาใช้บังคับแก่คดีล้มละลายในส่วนที่เกี่ยวกับคดีอาญาที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔/๑ โดยอนุโลม มาตรา ๒๗ ในกรณีที่ประธานศาลฎีกาเห็นสมควร จะให้มีการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายใดในคดีล้มละลายใดโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาก็ได้ มาตรา ๒๘ ให้นำบทบัญญัติของส่วนที่ ๑ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ในหมวด ๓ วิธีพิจารณาคดีล้มละลาย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกามาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาและการชี้ขาดตัดสินคดีที่มีการอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ ในศาลฎีกาโดยอนุโลม มาตรา ๒๘/๑ ให้นำบทบัญญัติของส่วนที่ ๑ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้นในหมวด ๓ วิธีพิจารณาคดีล้มละลาย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกามาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาและการชี้ขาดตัดสินคดีล้มละลายในส่วนที่เกี่ยวกับคดีอาญาที่มีการอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔/๑ ในศาลฎีกาโดยอนุโลม
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๒๙ บรรดาคดีล้มละลายที่ยังไม่ถึงที่สุดในวันเปิดทำการของศาลล้มละลายกลางที่ได้จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๕ ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยล้มละลายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นมาใช้บังคับ เว้นแต่คดีนั้นจะได้มีการโอนมาพิจารณาพิพากษาในศาลล้มละลายกลางสำหรับคดีล้มละลายที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น ถ้าคู่ความทุกฝ่ายตกลงกันร้องขอให้โอนคดีนั้นมาพิจารณาพิพากษาในศาลล้มละลายกลางภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางเปิดทำการ ก็ให้ศาลล้มละลายกลางรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป มาตรา ๓๐ ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด ให้ศาลล้มละลายกลางมีเขตในท้องที่นั้นด้วย การยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอจะยื่นต่อศาลจังหวัดซึ่งลูกหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือประกอบธุรกิจอยู่ในเขต ไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอหรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้นก็ได้ ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลล้มละลายกลาง เมื่อศาลล้มละลายกลางรับคดีนั้นไว้แล้วจะออกไปทำการไต่สวน นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น หรือจะกำหนดให้ทำการไต่สวน นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลล้มละลายกลางก็ได้ตามที่ศาลล้มละลายกลางจะเห็นสมควรศาลล้มละลายกลางอาจขอให้ศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่มีการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอไว้หรือศาลจังหวัดอื่นใดดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีได้ตามความจำเป็น ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลจังหวัดนำวิธีพิจารณาคดีในหมวด ๓ มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากคดีล้มละลายเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งโดยทั่วไป ซึ่งโดยผลของคดีล้มละลายย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม และหากได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาที่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยล้มละลายโดยเฉพาะแล้ว ย่อมทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาสามารถดำเนินไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรมยิ่งขึ้น สมควรจัดตั้งศาลล้มละลายขึ้นเพื่อพิจารณาคดีล้มละลายโดยเฉพาะและให้มีวิธีพิจารณาคดีล้มละลายโดยเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๖ บรรดาคดีล้มละลายที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาต่อไปจนเสร็จและให้คู่ความมีสิทธิฎีกาต่อไปได้ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับในกรณีที่คู่ความยื่นอุทธรณ์แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่ศาลล้มละลายยังมิได้สั่งรับอุทธรณ์ ให้ถือว่าอุทธรณ์นั้นเป็นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีจำเป็นศาลล้มละลายจะสั่งให้คู่ความแก้ไขอุทธรณ์นั้นให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้ในกรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแต่คดียังอยู่ในระหว่างอายุอุทธรณ์หรือฎีกา และคู่ความยังมิได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา ให้คู่ความยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๗ ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติในส่วนที่กำหนดหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีความไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นไปด้วยความล่าช้าไม่คุ้มครองสิทธิของบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเพียงพอ ประกอบกับหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันใช้บังคับเฉพาะคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ สมควรแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น และเพื่อให้หลักเกณฑ์การอุทธรณ์ทั้งคดีล้มละลายและคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อยู่ในกฎหมายเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๑๒ บรรดาคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลล้มละลายที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์หรืออยู่ระหว่างอายุอุทธรณ์หรือฎีกาในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ดำเนินคดีดังกล่าวต่อไปโดยถือว่าคดีนั้นมิใช่คดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๓ ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันศาลล้มละลายมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายที่มิใช่คดีอาญา ทำให้คดีอาญาที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ซึ่งต้องอาศัยผู้พิพากษาที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยล้มละลายอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลธรรมดา ดังนั้น สมควรกำหนดให้ศาลล้มละลายซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษสามารถพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้ รวมทั้งมีวิธีพิจารณาพิเศษที่เหมาะสมกับลักษณะของคดีล้มละลาย อันจะเป็นผลให้การดำเนินคดีล้มละลายมีความถูกต้องและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้