size="2">พระราชบัญญัติ
จดทะเบียนเครื่องจักร
พ.ศ. ๒๕๑๔
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๔
เป็นปีที่ ๒๖ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร เพื่อให้เครื่องจักรเป็นสังหาริมทรัพย์ที่สามารถจดทะเบียนจำนองและทำนิติกรรมอื่นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. ๒๕๑๔” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้“เครื่องจักร” หมายความว่า สิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้นสำหรับใช้ก่อกำเนิด พลังงาน เปลี่ยน หรือแปลงสภาพพลังงาน หรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ เชื้อเพลิง ลม ก๊าซ ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันและหมายความรวมถึงเครื่องอุปกรณ์ ไฟลวีล ปุลเล สายพาน เพลา เกียร์ หรือสิ่งอื่นที่ทำงานสนองกัน“เจ้าของ” หมายความว่า ผู้ถือกรรมสิทธิ์“จดทะเบียนเครื่องจักร” หมายความว่า การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรและหรือการจดทะเบียนนิติกรรมอื่นเกี่ยวกับเครื่องจักรในภายหลัง“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนเครื่องจักรกลาง หรือนายทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า นายทะเบียน และเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๔ เครื่องจักรใดที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ได้ตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๕ เครื่องจักรใดเมื่อได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ถือว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ตามมาตรา ๗๐๓ (๔) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๒๙๙ มาตรา ๑๓๐๐ และมาตรา ๑๓๐๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๖ เจ้าของเครื่องจักรใดประสงค์จะจดทะเบียนเครื่องจักรให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๗ ให้จัดตั้งสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลางขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนเครื่องจักรทุกจังหวัดและมีหน้าที่ควบคุม สำนักงานทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัดที่จะได้จัดตั้งขึ้นให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาจัดตั้งสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัดโดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนเครื่องจักรในจังหวัดนั้น หรือจะให้มีอำนาจหน้าที่ในจังหวัดอื่นใดด้วยก็ได้ให้มีนายทะเบียนเครื่องจักรกลางในสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลางและมีนายทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัดในสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัด และให้นายทะเบียนเครื่องจักรกลางมีหน้าที่ควบคุมสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัดด้วยให้นายทะเบียนเครื่องจักรกลางและนายทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนเครื่องจักร มาตรา ๘ หลักเกณฑ์ วิธีการและแบบในการจดทะเบียนเครื่องจักรรวมตลอดถึงการประทับหรือทำเครื่องหมายการจดทะเบียนไว้ที่เครื่องจักรและการออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักร ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๙ ในการดำเนินการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบถามข้อเท็จจริง และให้ผู้ขอจดทะเบียนส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องหรือนำบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำได้ตามความจำเป็น ถ้ามีกรณีเป็นที่ควรเชื่อได้ว่าการขอจดทะเบียนนั้นไม่ถูกต้อง นายทะเบียนอาจปฏิเสธการขอจดทะเบียนนั้นเสียได้ โดยแจ้งเหตุที่ไม่ถูกต้องเป็นหนังสือแก่ผู้ขอจดทะเบียนเมื่อการขอจดทะเบียนนั้นเป็นการถูกต้อง ให้นายทะเบียนออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรให้ มาตรา ๙ ทวิ ในกรณีที่นายทะเบียนปฏิเสธการขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรตามมาตรา ๙ เจ้าของเครื่องจักรมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการปฏิเสธการขอจดทะเบียนนั้น การยื่นอุทธรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๙ ตรี เมื่อปรากฏว่าการออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรได้กระทำไปโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญ หรือปรากฏในภายหลังว่าเอกสารที่นำมาประกอบการพิจารณาจดทะเบียนไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการจดทะเบียนได้เปลี่ยนแปลงไป ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรนั้นได้ก่อนมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรให้นายทะเบียนแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของเครื่องจักรและหรือผู้มีส่วนได้เสียทราบเพื่อให้โอกาสคัดค้าน ถ้าไม่มีการคัดค้านจากบุคคลดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียน ให้ถือว่าไม่มีการคัดค้านในกรณีที่มีการคัดค้านภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้นายทะเบียนพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำคัดค้าน ถ้านายทะเบียนไม่เห็นด้วยกับการคัดค้านให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรนั้นและแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้คัดค้านทราบในกรณีที่ผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนตามวรรคสาม ผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากนายทะเบียน การยื่นอุทธรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๙ จัตวา ในกรณีที่มีการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา ๙ ทวิ หรือมาตรา ๙ ตรี ให้รัฐมนตรีพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ได้อีกสามสิบวัน หากรัฐมนตรีไม่มีคำวินิจฉัยภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าอุทธรณ์ฟังขึ้นคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด มาตรา ๑๐ ในกรณีที่หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ถือหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรยื่นคำขอรับใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรต่อนายทะเบียนที่ได้ออกหนังสือสำคัญนั้นการขอรับและการออกใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงแบบใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรให้ใช้แบบหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักร แต่ให้ประทับตราสีแดงว่า “ใบแทน” ไว้บนด้านหน้าของหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรเมื่อได้ออกใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรแล้วให้หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรฉบับเดิมเป็นอันยกเลิก มาตรา ๑๑ เจ้าของเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ประสงค์จะย้ายเครื่องจักรออกไปนอกบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่ได้ระบุไว้ในหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักร เพื่อนำไปติดตั้ง ณ สถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมแห่งใหม่ หรือไปเก็บไว้ในสถานที่อื่น ให้แจ้งความประสงค์จะขอย้ายและวันที่จะย้ายเครื่องจักรเสร็จ โดยทำเป็นหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนก่อนวันที่จะย้ายเครื่องจักรนั้นไม่น้อยกว่าสิบห้าวันในการนี้ ให้นำหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรกับแผนผังรายการเครื่องจักรที่จะย้ายไปติดตั้งใหม่หรือไปเก็บไว้ให้นายทะเบียนตรวจสอบด้วย เมื่อนายทะเบียนเห็นชอบกับแผนผังรายการเครื่องจักรที่จะย้ายไปติดตั้งใหม่หรือไปเก็บไว้แล้ว เจ้าของเครื่องจักรจะต้องย้ายเครื่องจักรให้ตรงตามแผนผังรายการเครื่องจักรนั้นและเมื่อได้ย้ายเสร็จแล้ว ให้นายทะเบียนแก้ไขทะเบียนให้ถูกต้องในกรณีที่เป็นการย้ายเครื่องจักรไปติดตั้ง ณ สถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมแห่งใหม่หรือไปเก็บไว้ในสถานที่อื่นที่อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานทะเบียนต่างแห่งกัน ให้เจ้าของเครื่องจักรดำเนินการตามวรรคหนึ่ง และให้นายทะเบียนแห่งท้องที่ที่เครื่องจักรนั้นได้จดทะเบียนไว้ส่งเรื่องขอย้ายไปยังนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่เครื่องจักรนั้นจะไปติดตั้งใหม่หรือไปเก็บไว้ เมื่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ใหม่ดังกล่าวเห็นชอบกับแผนผังรายการเครื่องจักรที่จะย้ายไปติดตั้งใหม่หรือไปเก็บไว้แล้ว เจ้าของเครื่องจักรจะต้องย้ายเครื่องจักรให้ตรงตามแผนผังรายการเครื่องจักรนั้น และเมื่อได้ย้ายเสร็จแล้ว ให้นายทะเบียนแห่งท้องที่ใหม่ดังกล่าวออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรให้ใหม่สำหรับเครื่องจักรที่ย้ายไปในการย้ายเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนจำนองไว้แล้ว ให้เจ้าของเครื่องจักรแสดงหนังสือยินยอมของผู้รับจำนองต่อนายทะเบียนด้วย และให้ถือว่าเครื่องจักรที่ย้ายไปนั้นยังติดสิทธิจำนองสืบเนื่องกันไปด้วยในกรณีที่เจ้าของเครื่องจักรประสงค์จะย้ายเครื่องจักรออกไปนอกบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป็นการชั่วคราวไม่เกินสามสิบวัน ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนเพื่อทราบก่อนวันที่จะย้ายเครื่องจักรนั้นไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้แจ้งสถานที่จะย้ายเครื่องจักรนั้นไปติดตั้งหรือไปเก็บเป็นการชั่วคราวไว้ด้วย และถ้ามีความจำเป็นต้องย้ายเครื่องจักรออกไปนอกบริเวณเป็นการชั่วคราวเกินกำหนดสามสิบวัน ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนเพื่อขอขยายระยะเวลาก่อนครบกำหนดไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน นายทะเบียนมีอำนาจอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้ตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินคราวละสามสิบวันในกรณีที่เจ้าของเครื่องจักรได้ย้ายเครื่องจักรจากที่ตั้งเดิมไปติดตั้ง ณ ที่ตั้งใหม่ภายในบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรม ให้แจ้งเป็นหนังสือพร้อมกับส่งแผนผังรายการเครื่องจักรที่ย้ายให้นายทะเบียนทราบ ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการย้ายเครื่องจักรนั้นบทบัญญัติมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การย้ายเครื่องจักรซึ่งโดยปกติวิสัยในการทำงานต้องเคลื่อนย้ายไปมา มาตรา ๑๒ ในกรณีที่เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้แล้วได้มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญไปจากรายการที่ได้จดทะเบียนไว้ ให้ผู้ถือหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเกี่ยวกับเครื่องจักรนำหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนมาขอจดทะเบียนใหม่ต่อนายทะเบียนที่ได้ออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนนั้น ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในการเปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่งของเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนจำนองไว้แล้ว ให้เจ้าของเครื่องจักรนำหนังสือยินยอมของผู้รับจำนองมาแสดงต่อนายทะเบียน และให้ถือว่าทรัพย์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปนั้นเป็นทรัพย์จำนองแทนที่ทรัพย์เดิม มาตรา ๑๓ ในกรณีไถ่ถอนการจำนองหรือการขายฝากซึ่งเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้เจ้าของหรือผู้ขายฝากซึ่งเครื่องจักรนำหลักฐานแสดงการไถ่ถอนการจำนองหรือการขายฝากของผู้รับจำนองหรือผู้รับซื้อฝากพร้อมกับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรมาขอจดทะเบียนการไถ่ถอนต่อนายทะเบียนที่ได้ออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนนั้นเมื่อนายทะเบียนตรวจเป็นการถูกต้อง ก็ให้จดลงในหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้ปรากฏการไถ่ถอนนั้น มาตรา ๑๓ ทวิ เครื่องจักรใดที่ได้จดทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัตินี้สูญหาย ให้เจ้าของเครื่องจักรแจ้งเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบหรือควรจะได้ทราบถึงเหตุแห่งการนั้น และให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรสำหรับเครื่องจักรนั้นได้ แต่ถ้าเครื่องจักรนั้นได้จดทะเบียนจำนองไว้ให้นายทะเบียนแจ้งให้ผู้รับจำนองทราบถึงการสูญหายดังกล่าว และในกรณีเช่นนี้นายทะเบียนจะสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนสำหรับเครื่องจักรนั้นได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้รับจำนองเสียก่อนในกรณีที่เครื่องจักรตามวรรคหนึ่งถูกทำลาย หรือชำรุดจนไม่สามารถใช้เครื่องจักรนั้นต่อไปได้ ให้เจ้าของเครื่องจักรแจ้งเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบ หรือควรจะได้ทราบถึงเหตุแห่งการนั้น และให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนสำหรับเครื่องจักรนั้นได้ แต่ถ้าเครื่องจักรนั้นได้จดทะเบียนจำนองไว้ ให้นายทะเบียนจดแจ้งสภาพเครื่องจักรนั้นไว้และมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับจำนองทราบถึงการถูกทำลายหรือชำรุดดังกล่าว และในกรณีเช่นนี้นายทะเบียนจะสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนสำหรับเครื่องจักรนั้นได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้รับจำนองเสียก่อน มาตรา ๑๓ ตรี ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในอาคารสถานที่อันเป็นที่ตั้งของเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนเครื่องจักรตามพระราชบัญญัตินี้ ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกเพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อเจ้าของเครื่องจักร เจ้าของอาคารสถานที่หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องร้องขอบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา ๑๔ ผู้ใด เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมแล้ว ชอบที่จะตรวจเอกสารซึ่งนายทะเบียนเก็บรักษาไว้ได้ หรือจะขอให้คัดสำเนาเอกสารฉบับใดๆ พร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้องมอบให้ก็ได้ มาตรา ๑๕ เจ้าของเครื่องจักรผู้ใดย้ายเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วออกไปนอกบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเพื่อนำไปติดตั้ง ณ สถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมแห่งใหม่หรือไปเก็บไว้ในสถานที่อื่นโดยไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบ หรือมิได้ย้ายเครื่องจักรให้ตรงตามแผนผังรายการเครื่องจักรที่นายทะเบียนเห็นชอบตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือวันละห้าร้อยบาทนับแต่วันที่ไม่ปฏิบัติตาม สุดแต่จำนวนใดจะสูงกว่ากัน มาตรา ๑๕ ทวิ เจ้าของเครื่องจักรผู้ใดย้ายเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วออกไปนอกบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมชั่วคราวโดยไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบตามมาตรา ๑๑ วรรคสี่ หรือย้ายเครื่องจักรจากที่ตั้งเดิมไปติดตั้ง ณ ที่ตั้งใหม่ภายในบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมโดยไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบตามมาตรา ๑๑ วรรคห้า ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท มาตรา ๑๕ ตรี ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๕ จัตวา เจ้าของเครื่องจักรผู้ใดไม่แจ้งต่อนายทะเบียนตามมาตรา ๑๓ ทวิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท และให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรสำหรับเครื่องจักรนั้นได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำความในมาตรา ๙ ตรี และมาตรา ๑๓ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๑๕ เบญจ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท มาตรา ๑๖ การกระทำความผิดตามมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๕ ทวิ มาตรา ๑๕ ตรี หรือมาตรา ๑๕ จัตวา ถ้าเป็นเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนจำนองไว้แล้ว และการกระทำนั้นเป็นไปโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนอง ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจการเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี
บัญชีอัตราค่าธรรมเนียม
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการจำนองเครื่องจักรไม่อาจกระทำได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะเครื่องจักรมิใช่สังหาริมทรัพย์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วตามกฎหมาย จึงสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักรขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมนำเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนแล้วไปจำนองได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีเงินทุนสำหรับดำเนินกิจการเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาประเทศในด้านอุตสาหกรรม พระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๐ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักรในปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเจ้าของเครื่องจักรในการอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน อำนาจนายทะเบียนเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักร และอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎหมายนี้ สมควรกำหนดให้มีบทบัญญัติในกรณีดังกล่าวเพื่อให้การบังคับการตามกฎหมายนี้เป็นไปโดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนั้นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการออกใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรและเรื่องการย้ายเครื่องจักรออกไปนอกสถานที่ตั้งให้ชัดเจนและถูกต้องตรงกับทางปฏิบัติยิ่งขึ้นรวมทั้งสมควรปรับปรุงบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมแก่กาลสมัยด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้